รอยใจ คนร้อยปี หวังพื้นที่สงบ ชี้ลูกหลานห่างไกลยาเสพติด และความมั่นคง

โดย นาซือเราะ
2015.04.23
TH-elder-620 นายต่วนบือซา แวบือซา เล่าย้อนถึงอดีตอันยาวนาน ในจังหวัดชายแดนใต้ เมษายน 2558
โดย นาซือเราะ

ผู้สูงอายุกว่า 100 ปี ที่ตั้งหลักปักฐาน ผสานสามเชื้อชาติ ศรัทธาทางศาสนา วิถีชีวิต และประสบการณ์สร้างสมอันยาวนานของพวกเขา ในถิ่นชายแดนใต้ พร้อมใจกันระลึกวันวาน และตักเตือนให้เยาวชนที่อยู่ในสามจังหวัดชายแดนใต้  อยู่ห่างไกลยาเสพติด และ อาชญากรรมการเมือง เพื่อที่พวกเขาจะมีชีวิตอยู่ยืนยาวเช่นกัน

ท่ามกลางประชากร 1.7 ล้านคน ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากข้อมูลของสาธารณสุข พบผู้สูงอายุที่มีอายุ 100 ปีขึ้นไป ที่ จ.นราธิวาส 51 คน จ.ปัตตานี 97 คน จ.ยะลา 23 คน มีผู้สูงอายุ 100 ปีขึ้นไปรวม 171 คน

สามจังหวัดแดนใต้ ที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม  มีความหลากหลายของวัฒนธรรม ซึ่งสืบเชื้อสายมาจาก ชาวมุสลิมมลายูปัตตานี ชาวไทยพุทธ และลูกหลานชาวจีน จากจีนแผ่นดินใหญ่ ที่อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสงบ และสามัคคีมานานหลายศตวรรษ

แต่อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ ปี 2547 ได้เกิดขบวนการแบ่งแยกดินแดนปัตตานี หรือในอีกความหมายของพวกเขา คือพวกต่อสู้เพื่อปลดปล่อยปาตานี  ทำให้ในห้วงหลายปีที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุการก่อความไม่สงบอย่างต่อเนื่อง มานานนับทศวรรษ

นายต่วนบือซา แวบือซา อายุ 104 ปี ชาวอิสลาม จ.ยะลา กล่าวว่า เขาผ่านอะไรมาก็เยอะ สงครามโลกก็เคยผ่าน ลำบากยังไงหลายคนต่างรู้กันดี วันนี้มีความรุนแรงในพื้นที่ ก็ยังไม่เข้าใจว่าเกิดอะไร

“ขออย่างเดียว ลูกหลาน อย่าเข้าใกล้ ภัยที่ร้ายแรงในบ้านเราวันนี้ ยาเสพติดกับความมั่นคง ใครที่ห่างไกลสิ่งเหล่านี้ถือว่าโชคดี ชีวิตจะมีแต่ความเจริญ แต่ถ้าใครเข้าไปยุ่งเกี่ยว ครอบครัวจะไม่เป็นสุข”

ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ล้วนมีเหตุมีผล ทุกคนจะรู้ดี หากมองไกล สิ่งที่เกิดขึ้น ในบ้านเราทุกวันนี้ สาเหตุมาจากอะไร ทั้งผลประโยชน์ ยาเสพติด อิทธิพลสินค้าหนีภาษี และเรื่องของขบวนการก่อความไม่สงบ หลายครั้ง หลายประเด็นมีความคาบเกี่ยวกัน มันยากที่จะเข้าใจหากแยกมอง  บางครั้งสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้มีที่มาจากสาเหตุเดียว

“ต้องไม่ลืมว่าพื้นที่นี้ เป็นพื้นที่มีปัญหา เมื่อปัญหาอยู่ ผลประโยชน์ผลกำไรก็จะมีมาก ยิ่งมีปัญหามาก ประโยชน์จะยิ่งมาก เราต้องทำความเข้าใจในบริบทตรงนี้มากกว่าที่จะค้นหาว่า ที่สามจังหวัดเกิดอะไรขึ้น”

ในปัจจุบัน พื้นที่ที่เป็น จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวมถึง สี่อำเภอในจังหวัดสงขลา นั้น ตามประวัติอ้างอิงจากหนังสือ "เมืองโบราณเหนือแผ่นดินสยาม" ซึ่งเป็นชื่อเดิมของ ประเทศไทย ดินแดนนี้เคยเป็น อาณาจักรปาตานี หรือ ปตานีดารุสซาลาม ซึ่งแปลว่า นครแห่งสันติภาพ ก่อตั้งขึ้นในศตวรรษที่ 15 โดยสุลต่านอิสมาเอล ซา ที่เปลี่ยนจากนับถือศาสนาพุทธไปเป็นมุสลิม

เมื่ออาณาจักรปัตตานีเริ่มเสื่อมลง จึงถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของสยามโดยสมบูรณ์ ในสมัยของกษัตริย์รัชกาล ที่ 5  ประชาชนมลายูปัตตานีลุกฮือขึ้นครั้งเดียว แต่ก็ยังคงมีประวัติการณ์อย่างต่อเนื่อง ถึงความพยายามในการแยกตัวออกมา ในช่วงปลายปี 2493

นางชู้บุ้ง แซ่อัง อายุ 103 ปี ชาวจีน จ.ยะลา กล่าวว่า เธอมาจากประเทศจีนมาอยู่ที่สามจังหวัด สมัยสาวๆไปทำงานมาหลายที่ มีพี่น้องอิสลาม ไทยพุทธ เป็นทั้งเพื่อนและญาติพี่น้อง ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาจนถึงปัจจุบัน แม้ในพื้นที่จะมีปัญหาความวุ่นวายเกิดขึ้น เชื่อว่าความรัก ความสามัคคีของคนที่นี่ยังมีอยู่

“เราเคยยากลำบากมา เข้าใจดีว่ามันลำบากยังไง ไม่อยากให้ลูกหลานลำบาก ทุกคนต้องมีความรัก มีความสามัคคี แล้วเราจะอยู่กันอย่างมีความสุข รุ่นปู่ย่าเรารักกันยังไง รุ่นลูกรุ่นหลานต้องรักษาความเหนียวแน่นนั้นให้ได้”

“ทุกวันนี้คนไม่ดีมีเยอะ คนมาสร้างความแตกแยกก็เยอะ ลูกหลานต้องหนักแน่นต่อสิ่งที่ถูกต้องที่สุด”

นางแดง สีแดง อายุ 103 ปี ชาวพุทธ จ.ปัตตานี กล่าวว่า ความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่สมัยอดีต ไม่แบ่งพวกไม่แบ่งฝ่าย ทุกคนอยู่กันอย่างมีความรัก

“จึงทำให้คนในพื้นที่ เป็นพี่น้องกัน ศาสนาไม่ใช่อุปสรรค ความเป็นพี่น้องร่วมสายเลือด มีความเหนียวแน่นมาก ปัจจุบันเกิดความไม่สงบ ในพื้นที่ มีความวุ่นวาย เพราะยาเสพติดบ้าง เพราะผลประโยชน์บ้าง เพราะเรื่องขบวนการบ้าง ต่างคนต่างพูดกัน เชื่อว่าถ้าเรารักกัน มีความสามัคคีกัน ปัญหาจะไม่เกิด”

สิ่งที่อยากฝากไปถึงลูกหลาน เพื่อให้ชีวิตเขาอยู่ดี มีความสงบสุขในอนาคต และอย่างยั่งยืน คือ เขาต้องห่าง จากสิ่งที่ไม่ดี ห่างจากคนไม่ดี รู้จักพอเพียง ไม่โลภ และสิ่งสำคัญ รู้จักแบ่งปัน มีน้ำใจ สังคมในอนาคต จะต้องเกิดความสงบสุขกว่านี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง