กกต. จัดเวทีชี้แจงกว่า 70 พรรคการเมือง ถึงกระบวนการประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2016.05.19
กรุงเทพฯ
TH-charter-1000 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ร่วมชี้แจงกระบวนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญต่อพรรคการเมือง ที่สโมสรทหารบกวันที่ 19 พ.ค. 2559
เบนาร์นิวส์

ในวันพฤหัสบดี (19 พฤษภาคม 2559) นี้ ที่สโมสรทหารบก คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้จัดเวที “การประชุมชี้แจงพรรคการเมือง เรื่อง ร่างรัฐธรรมนูญ ประชามติ และประชาชน” โดยมีตัวแทนจากคณะรัฐมนตรี สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เข้าร่วมชี้แจงรวม 10 คน ด้านฝ่ายการเมืองส่งตัวแทนเข้าร่วมกว่า 70 พรรค หลายฝ่ายเสนอแนะให้รัฐบาล ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ถกเถียง ก่อนตัดสินใจลงความเห็นประชามติจริงในวันที่ 7 สิงหาคม 2559

โดยนายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้กล่าวเปิดงาน ซึ่งคำกล่าวมีใจความว่า การออกเสียงประชามติเป็นขั้นตอนที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมตัดสินใจ และถือเป็นหัวใจหลักของกระบวนการประชาธิปไตย ดังนั้น การให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชน จึงมีความสำคัญกับกระบวนการตัดสินใจครั้งนี้

“ในฐานะนายทะเบียนนักการเมือง ผมจึงเห็นด้วยอย่างยิ่ง ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้ดำเนินโครงการประชุมชี้แจงสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญแก่พรรคการเมืองในวันนี้ เพราะการปฎิรูปการเมืองจะสมบูรณ์ไม่ได้หากขาดการมีส่วนร่วมจากพรรคการเมือง” นายศุภชัยกล่าว

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของรัฐบาล ก่อนที่จะถึงวันออกเสียงประชามติจริง โดยชี้แจงว่า รัฐบาลจะร่วมมือกับ กกต. รักษาความสงบ และดำเนินนโยบายตามเป้าหมายที่ คสช. วางเอาไว้

“ในส่วนของรัฐบาลจะต้องทำอะไรบ้างนั้น มีอยู่ 3 ข้อ เป็น ร.เรือ 3 ตัว เรียกว่า 3 ร. ร.ตัวแรกก็คือการ “รักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศระหว่างนี้” เพื่อให้เดินไปสู่การออกเสียงประชามติอย่างเรียบร้อยได้ ร.ที่สองก็คือการ “ร่วมมือกับ กกต.ในการออกเสียงประชามติ” แล้วก็ ร.ที่สามคือ ดำเนินการให้เป็นไปตาม “โรดแมป” ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

ความคิดและข้อเรียกร้องเห็นฝ่ายการเมือง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ขอคำชี้แจงจาก กกต. ในรายละเอียดของ พระราชบัญญัติการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ (พ.ร.บ. ประชามติฯ) ที่เกี่ยวกับข้อห้ามในการกล่าวถึงกระบวนการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งคล้ายกับปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชน จะสามารถตีความได้อย่างไร และเสนอแนะให้ยกเลิกคำสั่ง คสช.เลขที่ 57/2557 ซึ่งห้ามพรรคการเมืองประชุม หรือดำเนินกิจกรรมทางการเมือง

“ถ้าต้องการให้พรรคการเมืองขยายผล(นำเสนอข้อมูลร่างรัฐธรรมนูญ) ต้องขอให้ คสช. แก้ไขยกเลิก คำสั่ง 57 ให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมพรรคได้ ผมยืนยันนะครับว่า ผมไม่สนับสนุนให้พรรคการเมืองไหน ปลุกระดม สร้างความวุ่นวาย กระทบต่อความมั่นคง” อดีตนายกรัฐมนตรีกล่าว

“แต่ผมคิดว่ามันถึงเวลาแล้ว ในกระบวนการประชามติ ที่จะติดสินอนาคตของประเทศ สำคัญที่ประชาชนและพรรคการเมือง พึงเคลื่อนไหวทางการเมืองได้โดยสุจริต”

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ชี้แจงต่อคำถามของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ว่า การรณรงค์หรือแสดงความคิดเห็นรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ใช่การปลุกระดม สามารถทำได้โดยไม่เข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.ประชามติฯ

“เสรีภาพส่วนบุคคลทำได้หมด ท่านจะพูดอะไร ท่านจะแสดงออกอย่างไร ท่านจะแถลงข่าว แถลงไป ไม่มีปัญหา การออกรายการอภิปราย ไม่เป็นปัญหา แต่ห้าม 3 อย่าง 1.อย่าเป็นเท็จ 2.อย่าหยาบคาย 3.อย่าปลุกระดม ติดป้ายหน้าบ้าน ได้ ติดสติกเกอร์หน้ารถได้ไหม ได้ ใส่เสื้อได้ไหม ได้” นายสมชัยตอบ

ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ ตัวแทนพรรคเพื่อไทย แสดงความคิดเห็นว่า กระบวนให้ความรู้เรื่องร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นอยู่ค่อนข้างเป็นการชี้นำให้ประชาชนเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญมากกว่าจะเป็นเพียงการให้ข้อมูลปกติ จึงอยากจะให้เจ้าหน้าที่ซึ่งมีส่วนในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญมีความเป็นกลาง หรือเปิดโอกาสให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับร่างฯได้รณรงค์

“ท่านพยายามอธิบายว่าท่านไม่ชี้นำ ท่านอธิบายว่าท่านเป็นกลาง แต่ไปพูดข้อดีอย่างเดียว มันเป็นไปได้หรือ ถึงขนาดเคาะประตูบ้านว่ารัฐธรรมนูญดีอย่างไร? แต่อีกพวกหนึ่งไปเคาะประตูบ้านว่า รัฐธรรมนูญไม่ดีอย่างไร? ไม่ได้ แล้วก็ใช้งบประมาณเงินแผ่นดินกันขนาดนี้ เพราะฉะนั้นคำถามของผมก็คือว่า ท่านจะให้บรรยากาศการทำประชามติเป็นแบบนี้หรือ?” นายจตุพร กล่าว

ต่อประเด็นที่ประธาน นปช. ยกขึ้นมานั้น นายศุภชัย สมเจริญ ชี้แจงว่าผู้ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการลงประชามติ จะถูกดำเนินคดีเช่นกัน หากพบว่ามีการกระทำผิด พ.ร.บ.ประชามติฯ

“ขอยืนยันในที่ประชุมแห่งนี้ว่า ถ้า กกต.วางตนไม่เป็นกลาง หรือไปกระทำผิดกฎหมายใดๆ ท่านแจ้งความดำเนินคดีได้เลย”

ข้อสงสัยและความคิดเห็นพรรคการเมืองเล็ก

นายสมศักดิ์ โกศัยสุข แสดงความคิดเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่อ้างว่าเป็นร่างรัฐธรรมนูญปราบโกงนั้นไม่มีรายละเอียดที่จะแก้ปัญหาเรื่องการโกงอย่างมีรูปธรรม

“รัฐธรรมนูญได้วางบัญญัติโครงสร้างอย่างไรที่จะขจัดคนโกง ผมอ่านด้วยสติปัญญาแล้ว ดูแล้วรัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้ตอบ อันนี้ประชาชนเขาสนใจมาก ถ้าบรรลุวัตถุประสงค์อันนี้ได้ ผมว่า คนเขารับรองรัฐธรรมนูญ” นายนายสมศักดิ์กล่าว

ด้านตัวแทนพรรคอนาคตไทยตั้งคำถามต่อ กกต.ว่า หากเกิดการปิดหน่วยออกเสียงหน่วยใดหน่วยหนึ่งจะถือว่าการออกเสียงทั้งหมดเป็นโมฆะหรือไม่?

ซึ่งในคำถามนี้นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ชี้แจงว่า “ถ้ามีการปิดหน่วยในพื้นที่ใด ถ้าหากว่าไม่มีการออกเสียงในพื้นที่นั้นได้ ก็จะมีการจัดการออกเสียงใหม่ภายหลังเฉพาะพื้นที่นั้น ไม่มีผลทั่วทั้งประเทศแต่อย่างใด” นายสมชัยชี้แจง

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง