ไทยเปิดสนามเลือกตั้ง 24 มีนาคม ใครจะเข้าเส้นชัย

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และวิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2019.02.22
กรุงเทพฯ
190222-TH-election-advancer-1000.jpg หญิงอุ้มเด็กทารก ขณะยืนดูแผ่นป้ายรณรงค์เลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ ในจังหวัดนราธิวาส วันที่ 16 กุมภาพันธุ์ 2562
เอเอฟพี

ผู้สมัครเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในแบบแบ่งเขต 11,181 คน และในแบบบัญชีรายชื่อ 2,810 คน จากพรรคการเมืองน้อยใหญ่ 81 พรรค กำลังขับเคี่ยวหาเสียงเพื่อให้ได้ชัยชนะในการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 นี้ เป็นการเลือกตั้งแรกในรอบเกือบห้าปี หลังจากที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจจากรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งจะเป็นการตัดสินว่าประเทศไทยจะกลับสู่ประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ หรือยังคงอยู่ภายใต้พรรคการเมืองที่สนับสนุนทหาร

นายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้ ได้ประมาณการจำนวนมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งไว้ที่ 51,427,628 คน จากจำนวนประชากร 66.18 ล้านคน โดยจัดหน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศรวม 92,837 หน่วย

ทั้งนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้กำหนดให้มีเขตเลือกตั้งไว้ 350 เขต มี ส.ส.แบบแบ่งเขต 350 คน และ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่ออีก 150 คน รวมเป็น 500 ที่นั่ง ในสภาล่าง ส่วนในวุฒิสภา รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ได้กำหนดให้มีวุฒิสมาชิก 250 ที่นั่ง เป็นบุคคลที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน จะเชิญมา 194 คน อีก 6 คน เป็นผู้นำเหล่าทัพโดยตำแหน่ง ส่วนอีก 50 คน ที่เหลือ คัดเลือกมาจากกลุ่มอาชีพต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ในการเสนอชื่อผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น รัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด ที่ผ่านการลงประชามติ เมื่อปี 2559 กำหนดไว้ว่า ให้วุฒิสมาชิกมีส่วนร่วมในการยกมือรับรองด้วย นับเป็นจุดที่ทำให้กลุ่มนิยมประชาธิปไตยวิจารณ์ว่า นายกรัฐมนตรีคนใหม่ มีแนวโน้มที่จะเป็นพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เจ้าเดิม เพราะพรรคการเมืองคู่แข่งต้องได้ ส.ส. อย่างน้อย 376 คน จึงจะมีสิทธิยกมือให้แคนดิเดตนายกของตนมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งได้สำเร็จ

ทั้งนี้ พรรคการเมือง 46 พรรค ได้เสนอรายชื่อผู้ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวม 71 รายชื่อ โดยมีบุคคลที่คาดว่าจะมีโอกาสชิงชัยมากที่สุด คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จากพรรคพลังประชารัฐ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จากพรรคเพื่อไทย  ตามมาด้วย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่

นักวิชาการเชื่อสามพรรคใหญ่ได้คะแนนใกล้เคียงกัน

นายฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย น่าจะได้เสียงใกล้เคียงกัน  ขณะนักสังเกตการณ์ทางการเมืองกล่าวว่า พรรคอนาคตใหม่จะได้รับคะแนนเสียงมากเช่นกัน จากการที่เด็กยุคใหม่มีความชื่นชมในตัวนายธนาธร หัวหน้าพรรค

“พลังประชารัฐจะได้คะแนนเสียงมากน้อยเพียงใดและได้เป็นรัฐบาลหรือไม่ ผมมองว่าเสียงคงไม่ได้ชนะมาก แต่แนวโน้มที่จะได้เป็นรัฐบาลก็มีอยู่ เพราะกระแสการยอมรับของพลเอกประยุทธ์ก็ดีอยู่ในระดับนึงทีเดียว โครงสร้างรัฐธรรมนูญก็เอื้ออำนวย” นายฐิติพล กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“และผมคิดว่า พปชร มีศักยภาพในการหาพรรคที่จะมาร่วมรัฐบาลได้ คิดว่า ทหาร คสช หรือ พปชร อาจจะมีการเจรจาเพื่อหาพรรคร่วมรัฐบาล” นายฐิติพล กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ กล่าวว่า ในการเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น ต้องมีเสียงสนับสนุนจากสองสภา รวมกันอย่างน้อย 376 เสียง

สองพรรคคู่แข่งพลังประชารัฐ เจอมรสุม

พรรคคู่แข่งของพรรคพลังประชารัฐ ได้แก่ พรรคไทยรักษาชาติ พรรคที่เกี่ยวโยงกับนาย ทักษิณ ชินวัตร กำลังถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินชะตากรรมว่าจะถูกยุบพรรคหรือใม่ ตามกฎหมายพรรคการเมือง ด้วยเหตุที่ได้ยื่นเสนอชื่อ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีรายชื่อของพรรค ต่อ กกต.  โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัววชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ทรงมีพระราชโองการ ใจความระบุส่วนหนึ่งว่า ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ ทรงสถานะและดำรงพระองค์ในฐานะสมาชิกแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ การนำสมาชิกชั้นสูงในพระบรมราชวงศ์มาเกี่ยวข้องกับระบบการเมือง ไม่ว่าจะโดยทางใดก็ตาม จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อโบราณราชประเพณี ขนบธรรมเนียม และวัฒนธรรมของชาติถือเป็นการกระทำที่มิบังควรไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง

ส่วนหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่นั้น อาจจะหลุดจากวงโคจร เพราะขณะนี้ อัยการกำลังพิจารณาว่าจะส่งตัวฟ้องศาลในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2) ในข้อหานำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จฯ สร้างความตื่นตระหนก ยุยง และเป็นภัยต่อความมั่นคง หรือไม่ ซึ่งมีโทษสูงสุดจำคุกห้าปี ทั้งนี้ นายธนาธรและพวกรวมสามคน ได้จัดรายการถ่ายทอดสดทางเฟสบุ๊ค เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ซึ่งมีเนื้อหาตอนหนึ่งกล่าวพาดพิงถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ว่ามีการดูด ส.ส. จากพรรคอื่น

นโยบายของพรรคสำคัญ

พรรคพลังประชารัฐ (พปชร) ถูกมองว่าใช้ความได้เปรียบในการที่แกนนำเคยเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลปัจจุบัน และได้ใช้นโยบายประชารัฐในการแจกเงินสวัสดิการให้แก่บางกลุ่มไปก่อนแล้ว ซึ่ง พปชร ได้เน้นย้ำนโยบายในการดำเนินโครงการสวัสดิการประชารัฐ ในด้านการศึกษา จะแก้ปัญหาค้างชำระหนี้ กยศ. ให้ชุมชนดูแลการศึกษาแทนกระทรวง “บ้าน วัด โรงเรียน” ดึงมหาวิทยาลัยมาเป็นพี่เลี้ยงให้โรงเรียน ด้านเศรษฐกิจ จะตั้งธนาคารประชาชน แก้หนี้นอกระบบ แปลงที่ดิน สปก. เป็นโฉนด พัฒนาโครงการ EEC ในย่านภาคตะวันออก มูลค่า 1.5 ล้านล้านบาท และทุเลาภาระหนี้ SME

ด้านพรรคประชาธิปัตย์ เน้นนโยบายสวัสดิการของเยาวชน เช่น โครงการเกิดปั๊บรับแสน โดยจะจ่ายเงินอุดหนุนเด็กแรกคลอดไปจนถึงอายุแปดขวบขวบ โดยจ่ายเดือนแรกห้าพันบาท ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชีวะ หัวหน้าพรรค ชี้แจงว่าเป็นสวัสดิการ ไม่ใช่ประชานิยม นอกจากนั้น จะสนับสนุนการศึกษา เด็กต้องพูดภาษาอังกฤษได้ ระดับ ปวช. เรียนฟรีจนมีงานทำ ส่วนด้านเศรษฐกิจ จะประกันรายได้แรงงาน 1.2 แสนบาทต่อปี ประกันรายได้เกษตรกร ข้าวไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นบาทต่อเกวียน ยางพาราไม่ต่ำกว่า 60 บาทต่อกิโลกรัม ปาล์ม 10 บาทต่อกิโลกรัม ด้านความมั่นคง จะยกเลิกเกณฑ์ทหาร ใช้ความสมัครใจ ลดงบกลาโหม แต่ดูตามความเหมาะสม

ทางด้านคุณหญิงสุดารัตน์ พรรคเพื่อไทย มีนโยบายด้านการศึกษา ดังนี้ คือ ให้เงินเลี้ยงดูเด็กเล็ก เรียนฟรี 15 ปี หนึ่งตำบล 2 ภาษา ส่งเสริมภาษาอังกฤษ และภาษาจีน นอกจากนั้น จะเน้นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยการเพิ่มกำลังซื้อ ยกระดับราคาพืชผลให้เกษตรกร โดยกล่าวว่า ทางพรรคเห็นว่า ต้องเพิ่มศักยภาพของคุนทุกระดับในการทำมาหากิน มีโอกาสในการทำธุรกิจ จะเลิกวีซ่านักท่องเที่ยวจีน เพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยว 50 ล้านคนต่อปี เพิ่มการส่งออกสินค้าไทย ได้รายได้จากท่องเที่ยว 3 ล้านล้านต่อปี ตั้งสถาบันรายได้ SME ช่วยแผงลอย โอท็อป เข้าถึงแหล่งทุน ส่วนด้านความมั่นคง จะยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ใช้การสมัครใจแทน ลดขนาดกองทัพ ตัดงบกลาโหม 10 เปอร์เซ็นต์

ส่วนนายธนาธร หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ มีนโยบายด้านการศึกษา คือ เรียนฟรี แจกเงินเลี้ยงดูบุตร อุดหนุนเยาวชน ด้านเศรษฐกิจ จะออกเอกสารสิทธิสำหรับที่ดินที่หมดสภาพป่า แก้กฎหมายที่เอื้อทุนผูกขาด พัฒนาอุตสาหกรรมรถไฟ ตั้งวงเงิน 1.04 แสนล้านบาทเพื่อปลดหนี้เกษตรกร ในด้านความมั่นคง จะยกเลิกเกณฑ์ทหาร ใช้ความสมัครใจ ลดกำลังพลจาก 3.3 แสนนาย เหลือ 1.7 แสนนาย ตัดงบกลาโหม 5 หมื่นล้านบาท ให้ทหารถอนตัวจากการนั่งเป็นบอร์ดต่างๆ ห้ามพูดเรื่องการเมืองจนกว่าจะเกษียณ ครบ 5 ปี

ผู้มีสิทธิ์ยังไม่แน่ใจ

จากการสอบถามผู้มีสิทธิ์เลือกจำนวนหนึ่ง ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า จะไปลงคะแนนเพื่อรักษาสิทธิ์ แต่ไม่เห็นว่าพรรคมีนโยบายที่ทำได้อย่างเป็นรูปธรรม

“ผมจะไปเลือกตั้งครับ เพราะต้องรักษาสิทธิ์ของตัวเอง แต่คิดว่าจะไม่ลงคะแนนให้ใครเลย เท่าที่เห็นนโยบายแต่ละพรรค ไม่ชอบนโยบายไหนเลยเพราะนโยบายเดิมๆ คิดว่า บางนโยบายไม่สามารถทำได้จริง ส่วนคิดว่ารัฐบาลใหม่จะแก้ปัญหาได้ไหม ผมยังแววตาว่างเปล่าครับ” นายอภิวัฒน์ ชอบทำดี อายุ 35 ปี อาชีพประกอบธุรกิจส่วนตัว ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ด้านนายอภินันท์ ธรรมวงศา ข้าราชการครู จ.สกลนคร อายุ 37 ปี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ตนจะไปลงคะแนนเลือกตั้งเช่นกัน

“จะเลือกตั้ง เพราะแสดงออกถึงการมีส่วนร่วมครับ จะเลือกพรรคจากนโยบายที่เน้นการกระจายรายได้และการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น หวังว่าจะมีรัฐบาลที่ทำงานได้ แต่ก็กังวลว่าจะบริหารงานได้มากน้อยแค่ไหน สิ่งที่อยากให้รัฐบาลใหม่ทำที่สุดคือ อยากให้แก้ปัญหาปากท้อง และทำให้กระจายงบประมาณไปพัฒนาให้ทั่วถึง” นายอภินันท์กล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง