ชวน นัดประชุมรัฐสภา เลือกนายกรัฐมนตรี 5 มิ.ย. นี้
2019.05.31
กรุงเทพฯ
ในวันศุกร์นี้ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า ได้นัดประชุมรัฐสภา เพื่อให้เลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 5 มิถุนายน 2562 นี้ ด้าน พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่ตัดสินใจร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐ เนื่องจาก ยังไม่สามารถสรุปข้อตกลงได้ ขณะที่ชาติไทยพัฒนา ยืนยันร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐ
นายชวน หลีกภัย เปิดเผยเรื่องดังกล่าว เมื่อเวลาประมาณ 16.15 น. ที่ห้องประชุมริมน้ำ ชั้น 4 อาคารรัฐสภาใหม่ เกียกกาย หลังพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ว่า ได้ให้เลขาธิการรัฐสภาทำหนังสือนัดประชุมแล้ว
“วันพรุ่งนี้ ฝ่ายเลขาธิการรัฐสภาจะได้ส่งหนังสือเวียนไปยังสมาชิกเพื่อนัดประชุม 5 มิถุนายน จะมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในช่วงเช้า 9 โมงเพื่อให้สมาชิก 4 ท่านได้ปฏิญาณตน ในวันเดียวกัน จะมีการนัดประชุมรัฐสภา ในวาระสำคัญ คือ การเลือกนายกรัฐมนตรี 11.00 น.”
นายชวน ระบุว่า สำนักงานเลขาธิการสภาฯจะส่งหนังสือเชิญประชุมสภา และประชุมร่วมรัฐสภา ในวันที่ 1 มิถุนายน 2562 เพื่อเรียกประชุมในวันที่ 5 มิถุนายน โดยมีวาระสำคัญ คือ เวลา 09.00 น. ให้ 4 ส.ส.ที่ยังไม่ได้กล่าวปฏิญาณตน กล่าวปฏิญาณตนต่อที่ประชุมสภา ก่อนปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ
จากนั้นเวลา 11.00 น. จะมีการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาวาระสำคัญ คือ เลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยสถานที่ ซึ่งจะใช้สำหรับจัดประชุม คือ หอประชุมใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ถนนแจ้งวัฒนะ และหลังจากนั้นจะนัดประชุมอีกครั้งใน วันที่ 6 มิถุนายน 2562 เพื่อตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณายกร่างข้อบังคับการประชุมสภาฉบับใหม่ และกำหนดวันประชุมสภาในสมัยประชุม
ด้านความคืบหน้าเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า หากพรรคประชาธิปัตย์จะร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐนั้น พลังประชารัฐจำเป็นจะต้องรับเงื่อนไขให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
“การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประชาธิปัตย์มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ถ้าหากว่าจะตัดสินใจร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐ อย่างน้อยที่สุดก็ควรจะได้พาประเทศเดินหน้าไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้นได้ ถ้าเราไม่พูดเรื่องนี้ โอกาสที่ประเทศจะเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตยยิ่งขึ้นมันริบหรี่ เพราะรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้กำหนดเรื่องการแก้ไขไว้ ยากมาก” นายจุรินทร์ กล่าว
“มีทางเดียวถ้าจะเปลี่ยนแปลง ก็อาจจะทำให้เกิดวิกฤตทางการเมืองขึ้นอีก นั่นคือต้องแก้รัฐธรรมนูญด้วยวิธีไม่ปกติ ซึ่งเราไม่ประสงค์จะให้เกิดขึ้น ตรงนี้จึงเป็นที่มาที่ทำไมประชาธิปัตย์ต้องยื่นเงื่อนไขเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญว่า ถ้าเราไปร่วมรัฐบาล รัฐบาลต้องเสนอเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ” นายจุรินทร์ กล่าวเพิ่มเติม
ในวันเดียวกัน นายยุทธพล อังกินันท์ โฆษกพรรคชาติไทยพัฒนา แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า พรรคชาติไทยพัฒนา จะเลือกพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรคพลังประชารัฐ เป็นนายกรัฐมนตรี
“เรามีมติว่า เราจะโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีตามที่พรรคพลังประชารัฐเป็นผู้เสนอ เพราะมันเป็นมารยาททางการเมืองอยู่แล้ว ถ้าเราร่วมรัฐบาลกับพรรคไหน แกนนำจัดตั้งรัฐบาลเราก็ควรที่จะรักษามารยาทตรงนี้” นายยุทธพล กล่าว
การเปิดเผยครั้งนี้ นายยุทธพล อ้างว่าเป็นมติของกรรมการบริหารพรรค โดยมติดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้เดินทางไปยังที่ทำการพรรคชาติไทยพัฒนา เพื่อเชิญร่วมรัฐบาลอย่างเป็นทางการในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา
ถึงปัจจุบัน สถานการณ์การจัดตั้งรัฐบาล จะแบ่งดังนี้ โดยฝ่ายพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมี ส.ส. 116 ที่นั่ง เมื่อรวมกับ พรรคพันธมิตรคือ ภูมิใจไทย 51 ที่นั่ง ชาติไทยพัฒนา 10 ที่นั่ง รวมพลังประชาชาติไทย 5 ที่นั่ง รักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 ที่นั่ง พลังท้องถิ่นไทย 3 ที่นั่ง ประชาชนปฏิรูป, พลังชาติไทย, ประชาภิวัฒน์, ไทยศรีวิไลย์, พลังไทยรักไทย, ครูไทยเพื่อประชาชน, ประชานิยม, ประชาธรรมไทย, พลเมืองไทย, ประชาธิปไตยใหม่ และพลังธรรมใหม่ พรรคละ 1 ที่นั่ง จะมีเสียงทั้งหมด 198 ที่นั่ง
ขณะที่ พรรคเพื่อไทย ซึ่งมี ส.ส. 136 ที่นั่ง อนาคตใหม่ 81 ที่นั่ง เสรีรวมไทย 10 ที่นั่ง ประชาชาติ 7 ที่นั่ง เศรษฐกิจใหม่ 6 ที่นั่ง เพื่อชาติ 5 ที่นั่ง และ พลังปวงชนไทย 1 ที่นั่ง ที่ประกาศรวมตัวกันต่อต้านการสืบทอดอำนาจ คสช. ก่อนหน้านั้น จะมีเสียงรวมกันทั้งหมด 246 ที่นั่ง
ด้าน พรรคประชาธิปัตย์ 53 ที่นั่ง และ ชาติพัฒนา 3 ที่นั่ง ยังไม่แสดงจุดยืนชัดเจนว่าจะร่วมกับฝ่ายใด มีคะแนนเสียงรวมกัน 56 ที่นั่ง