กกต. มีมติยื่นศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคไทยรักษาชาติ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2019.02.13
กรุงเทพฯ
190213-TH-political-party-1000.jpg นายปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ ยกมือไหว้ทักทายผู้สื่อข่าว ที่มาพบที่สำนักงานใหญ่ของพรรคฯ ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562
เอเอฟพี

ในวันพุธนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งตัวแทนยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ตีความการเสนอชื่อ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีรายชื่อของพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช) ว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งถ้าขัด อาจส่งผลให้มีการยุบพรรคไทยรักษาชาติด้วย โดยศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า จะพิจารณารับคำร้องของ กกต. หรือไม่ในวันพฤหัสบดีนี้

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้ออกเอกสารข่าว ระบุว่า ที่ประชุม กกต. มีมติ ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณากรณีที่พรรคไทยรักษาชาติเสนอชื่อบุคคลเป็นตัวแทนนายกรัฐมนตรีของพรรค ซึ่ง พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต.ได้นำคำร้องดังกล่าว ไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้ว

“เมื่อวันอังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 คณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้พิจารณากรณีพรรคไทยรักษาชาติ มีหนังสือแจ้งรายชื่อบุคคลเพื่อเสนอแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี 1 รายชื่อ และเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงมีมติให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย มีคำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92” ตอนหนึ่งของเอกสารข่าว ระบุ

“ในวันพุธที่ 13 กุมภาพันธ์ 2562 นายทะเบียนพรรคการเมืองในฐานะผู้ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการการเลือกตั้งให้เป็นผู้ยื่นคำร้อง และดำเนินคดี ตลอดจนมีอำนาจในการดำเนินกระบวนการพิจารณาในศาลรัฐธรรมนูญแทนคณะกรรมการการเลือกตั้งเดินทางไปยื่นคำร้องดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไป” เอกสารข่าว กกต. ระบุ

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้รับทราบคำร้องของ กกต.แล้ว โดยระบุว่า จะดำเนินการพิจารณาในวันพฤหัสบดีนี้ว่า จะรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาหรือไม่

“สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องไว้ในทางธุรการ และอยู่ระหว่างการตรวจคำร้อง โดยศาลรัฐธรรมนูญจะเสนอคำร้องดังกล่าวต่อไปที่ประชุมคณะกรรมการศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาว่า จะรับคำร้องไว้วินิจฉัยพิจารณาหรือไม่ ในวันพฤหัสบดีที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 13.30 นาฬิกา ต่อไป” เอกสารข่าวของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ระบุ

ขณะเดียวกัน ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ ได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า พรรคจะได้ให้ฝ่ายกฎหมายยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อชี้แจงเพิ่มเติมกรณีดังกล่าว

“เราทราบแล้วว่า ทาง กกต. มีมติ ยื่นยุบพรรคไทยรักษาชาติ ไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ขณะนี้ก็อยู่ในการพิจารณาของศาล อยากจะขอใช้สิทธิของพวกเรา(ชี้แจง)” ร.ท.ปรีชาพล กล่าว

“พรรคไทยรักษาชาติ ถือเป็นคู่กรณีกับ กกต. เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมว่า ขอศาลรัฐธรรมนูญได้โปรดเมตตา โดยยึดหลักนิติธรรม ที่สำคัญ ขอให้พรรคไทยรักษาชาติได้มีโอกาสแก้ข้อกล่าวหา อ้างพยานหลักฐาน” นายสุรชัย ชินชัย คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคไทยรักษาชาติ ชี้แจงเกี่ยวกับแนวทางดำเนินการของพรรค

กรณีดังกล่าว สืบเนื่องจากช่วงเช้าวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 พรรคไทยรักษาชาติ ได้ยื่นต่อ กกต. เสนอชื่อ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีรายชื่อของพรรค กระทั่งในช่วงดึกวันเดียวกัน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัววชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ทรงมีพระราชโองการ ใจความระบุว่า ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ ทรงสถานะและดำรงพระองค์ในฐานะสมาชิกแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ การนำสมาชิกชั้นสูงในพระบรมราชวงศ์มาเกี่ยวข้องกับระบบการเมือง ไม่ว่าจะโดยทางใดก็ตาม จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อโบราณราชประเพณี ขนบธรรมเนียม และวัฒนธรรมของชาติถือเป็นการกระทำที่มิบังควรไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง

ต่อมา กกต. ได้ประกาศรับรองรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมือง 45 พรรค แต่ไม่ปรากฎชื่อทูลกระหม่อมฯ และนำไปสู่กระประชุมของ กกต. เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับการกระทำของพรรคไทยรักษาชาติว่าขัดต่อกฎหมายหรือไม่ ซึ่งก่อนหน้านี้ ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ ได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า พรรคไทยรักษาชาติน้อมรับพระราชโองการ และไม่มีข้อโต้แย้ง เมื่อ กกต.ไม่ประกาศรายชื่อนายกรัฐมนตรีที่พรรคเสนอ ถือเป็นข้อยุติ

“พวกเรากรรมการบริหารพรรค รวมถึงสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ ขอน้อมรับพระราชโองการไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อมด้วยความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และราชวงศ์ทุกพระองค์ หลังจากที่ กกต. มีมติ ที่ไม่ประกาศรายชื่อแคนดิเดตนายกฯของพรรคไทยรักษาชาติ พวกเราถือว่า เมื่อมีมติออกมาแล้วก็ถือว่าเป็นที่ยุติ ซึ่งเราไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ เพราะเราได้แถลงน้อมรับพระราชโองการไปเรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้ไปจะต้องเดินหน้าสู่สนามเลือกตั้ง หาเสียง” ร.ท.ปรีชาพล กล่าว

โดยในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 ขณะที่มีข่าวว่า กกต. เตรียมที่จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความการยุบพรรคไทยรักษาชาติ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ได้เขียนข้อความลงในบัญชีอินสตาแกรมส่วนพระองค์ ระบุว่า

“ดิฉันเสียใจที่ความตั้งใจอย่างจริงใจที่จะมาช่วยทำงานให้ประเทศและพวกเราคนไทย ก่อให้เกิดปัญหาที่ไม่น่าจะเกิดในยุคสมัยนี้ #howcomeitsthewayitis”  ข้อความซึ่งถูกเขียนในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 ระบุ

ความวุ่นวายทางการเมืองเพิ่มขึ้น

เหตุการณ์น่าตะลึง ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ทำให้เกิดความตึงเครียดทางการเมือง นักวิเคราะห์กล่าวว่า เนื่องจากคนไทยจำนวนมากคาดหวังว่า พรรคการเมืองที่ยึดโยงกับ นายทักษิณ ชินวัตร สร้างความท้าทายในสนามการเมืองมาก แม้ว่าพลเอกประยุทธ์ จะมีร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ให้อำนาจรัฐบาลทหารแต่งตั้งวุฒิสมาชิกขึ้นมาถึง 250 คน

โดยทั้งสมาชิกสภาผู้แทน ส.ส. และ สมาชิกรัฐสภา ก็จะทำการโหวตนายกรัฐมนตรีได้ และการยุบพรรคของพรรคไทยรักษาชาตินี้ จะทำให้กลุ่มผู้สนับสนุนตระกูลชินวัตร ประสบความลำบากมากขึ้นในการเลือกตั้ง

“หากพรรคถูกยุบ พรรคที่สนับสนุนทักษิณอีกพรรค คือพรรคเพื่อไทย จะเกิดความสั่นคลอนทางการเมือง เพราะพรรคเพื่อไทยเอง ก็อาจจะไม่ได้ที่นั่งส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎร ทั้งพรรคก็อาจจะโยกย้ายสมาชิกจากวงการการเมือง หรือแม้แต่อาจจะต้องยุบพรรค หลังจากการเลือกตั้งเดือนมีนาคม” บทความของ รองศาสตราจารย์ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธุ์ ศูนย์การศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยเกียวโต เขียนลงเมื่อวันพุธ ในเว็บไซต์ของสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ต่อกรณีที่เกิดขึ้นนี้ นายอนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า การวินิจฉัยของ กกต. ครั้งนี้ ค่อนข้างเป็นการดำเนินการที่ไม่เที่ยงธรรม หากเปรียบเทียบกับกรณีของพรรคพลังประชารัฐ และอาจเป็นจุดเริ่มต้นของความขุ่นเคืองใจฝ่ายที่สนับสนุนพรรคไทยรักษาชาติได้

“เห็นว่า กกต. วินิจฉัย ไม่เที่ยงธรรมเสมอกัน ก่อนหน้านี้ พรรคพลังประชารัฐมีเรื่องโต๊ะจีน เรื่องยังไม่ถึงไหน แต่เรื่องนี้ถูกยกขึ้นมาเมื่อวันศุกร์ วันทำการ 2 วันก็เรียบร้อย มีการพิจารณา ยื่นเรื่อง เป็นอีกครั้งที่ชี้ให้เห็นว่า กกต. ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างอิสระเที่ยงธรรม มีแนวโน้มที่จะเอียงไปในทิศทางของคนที่อยู่ในอำนาจรัฐตอนนี้ พลังประชารัฐ ส่วนนึงเคยเป็นคนของรัฐบาล และคนที่ถูกเสนอชื่อของพรรค ก็ยังเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ มันก็มีความยึดโยงกันอยู่” นายอนุสรณ์ กล่าว

“นอกจากจะเห็นว่า ความเป็นอิสระและเป็นกลาง มีมลทินแล้ว อาจจะเป็นตัวที่จุดกระแสความไม่พึงพอใจลุกลามบานปลายขึ้นไปอีก ก่อนหน้านี้มีความสงบโดยเปรียบเทียบ เพราะคนอาจจะเชื่อว่า การเลือกตั้งจะเป็นกลไกคลี่คลายปัญหา แต่ถ้าเกิดว่า ผลวินิจฉัย ออกมาในลักษณะที่คนมองว่า ไปไกลเกินกว่าความผิด อาจทำให้การเมืองโกลาหล ในแง่กฎหมายปกติ มันไม่ผิด จะเห็นได้ว่า ในวันนั้น หรือก่อนหน้านั้นที่มีข่าวลือไม่มีใครยกประเด็นหยิบยกประเด็นกฎหมายขึ้นมาเลย” นายอนุสรณ์ กล่าวเพิ่มเติม

สำหรับ กรณีที่ นายอนุสรณ์ระบุถึงพรรคพลังประชารัฐนั้น เป็นกรณีที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคม องค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นเรื่องถึง กกต. ให้ตรวจสอบ การจัดเลี้ยงระดมทุนของพรรคพลังประชารัฐ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2561 แบบโต๊ะจีน 200 โต๊ะ โต๊ะละ 30 ล้านบาท รวมยอดบริจาค 650 ล้านบาทว่า ขัดต่อกฎหมายหรือไม่ เนื่องจากมีข้อมูลว่า หน่วยงานของรัฐบาลบางหน่วยงานร่วมบริจาคด้วย โดยหลังจากการยื่นเรื่องถึงปัจจุบัน เป็นเวลาเกือบ 2 เดือนแล้ว แต่ยังไม่มีคำชี้แจงการวินิจฉัยจาก กกต.

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง