กกต. สรุปไม่เสนอยุบพรรคพลังประชารัฐ

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2019.03.12
กรุงเทพฯ
190312-TH-palangpracharat-party-1000.jpg ผู้ลงสมัครเลือกตั้งของพรรคพลังประชารัฐหาเสียงบนเวที ที่จังหวัดนครราชสีมา วันที่ 10 มีนาคม 2562
เอเอฟพี

ในวันนี้ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยถึง ผลการสอบสวนคดีที่พรรคพลังประชารัฐจัดการระดมทุนด้วยการจัดโต๊ะจีนโต๊ะละสามล้านบาท ว่า ไม่เข้าข่ายต้องถูกยุบพรรคเนื่องจากผู้บริจาคเป็นคนไทยทั้งหมด ด้านผู้ยื่นคำร้องขอสอบสวนต่อไป เพราะว่า กกต. ยังไม่ได้ตรวจสอบว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจในตำแหน่ง ให้ข้าราชการหรือหน่วยงานของรัฐร่วมบริจาคหรือไม่ อันอาจผิดกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง

กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2561 พรรคพลังประชารัฐจัดงานเลี้ยงระดมทุน “ประเทศไทยหนึ่งเดียว” ในลักษณะงานเลี้ยงแบบโต๊ะจีนจำนวน 200 โต๊ะ มูลค่าโต๊ะละ 3 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 600 ล้านบาท และได้เงินจากการระดมทุนในครั้งนี้กว่า 650 ล้านบาท ทำให้มีผู้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้ตรวจสอบเนื่องจากการกระทำดังกล่าว เข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้งถึงขั้นยุบพรรค ด้านนักวิชาการ นักการเมือง ทนายความ ขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีการจัดงานระดมทุนในครั้งนี้ว่า มีเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรี ข้าราชการ ใช้ตำแหน่งหน้าที่การงานเพื่อให้หน่วยงานราชการสนับสนุนงบประมาณ หรือ ขอให้เอกชนสนับสนุนงบประมาณ การจัดงานดังกล่าวหรือไม่

“ได้ตรวจสอบผู้บริจาคแล้ว ซึ่งมีนิติบุคคล 40 แห่ง และบุคคล 84 คน ไม่พบบุคคลต่างชาติร่วมบริจาคเงิน จึงถือไม่มีความผิดและไม่เข้าข่ายถึงขั้นยุบพรรค หลังจากนี้เสนอเข้าสู่ที่ประชุม กกต.ต่อไป” พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา กล่าวกับผู้สื่อข่าว

โดยนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า พรรคขอน้อมรับผลการพิจารณาของ กกต. และยังระบุว่า ทุกขั้นตอนเป็นเรื่องของกลไกการตรวจสอบ และเป็นอำนาจของผู้รับผิดชอบในการตัดสินใจเรื่องดังกล่าว

ด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย หนึ่งในผู้ร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้งสอบสวนเรื่องการระดมทุนดังกล่าว ระบุว่า รู้สึกผิดหวังที่ผลการตรวจสอบที่เลขา กกต. ได้สรุปออกมานั้น ไม่ตรงกับคำร้องของตน เพราะตนไม่ได้ขอให้ กกต. ตรวจสอบว่ามีเงินทุนจากต่างชาติหรือไม่ แต่ขอให้ กกต. ตรวจสอบว่ามีข้าราชการหรือหน่วยงานของรัฐร่วมบริจาคทั้งทางตรงหรือทางอ้อมหรือไม่ และมีพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น กทม. ททท. ร่วมบริจาคเงินสนับสนุนการระดมทุนดังที่มีรายชื่อปรากฎในแผนผังด้วยหรือไม่ พร้อมให้ตรวจสอบนิติบุคคลบางแห่ง ที่มีชื่อในการบริจาคเนื่องจากแสดงผลประกอบการขาดทุนมาตลอด ทำไมจึงมีศักยภาพในการบริจาคได้

“หากพิจารณาคำร้องทั้งสามประเด็นแล้ว ก็สามารถใช้เป็นเหตุตามมาตรา 72 ประกอบมาตรา 92(3) ที่ระบุว่าห้ามพรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่า ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งนายทะเบียนพรรคการเมืองสามารถเสนอเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง เสนอศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคพลังประชารัฐได้ต่อไป” ตอนหนึ่งของแถลงการณ์ ระบุ

ทั้งนี้ นายศรีสุวรรณ ตั้งคำถามกลับ เลขา กกต. ด้วยว่า การสรุปเอาง่ายๆ ว่า ไม่มีเหตุแห่งการยุบพรรค พปชร. นั้น จะเรียกว่าเป็นการใช้อำนาจไปในทางสุจริตและเที่ยงธรรมได้อย่างไร

ขณะที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนา อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ และหนึ่งในผู้ร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้งตรวจสอบ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง กรณีการตรวจสอบการระดมทุนโต๊ะจีนของพรรคพลังประชารัฐว่า เท่าที่ตรวจสอบเอกสาร พบว่าการจัดทำบัญชียังไม่เรียบร้อย อยากให้คณะกรรมการการเลือกตั้งตรวจสอบให้ละเอียด และอย่าลืมว่าตนเคยรับราชการในสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินมาก่อน

“การพิจารณาครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงมาตรฐานการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในประเด็นความล่าช้า และการทำงานตามความต้องการของ คสช. มากกว่าการที่จะมีความเป็นกลาง มีความเป็นธรรมขององค์กรอิสระ เพราะคดีของพรรคไทยรักษาชาติ ถ้าเรียงตามลำดับเป็นคดีที่มาทีหลัง แต่กลับวินิจฉัยก่อน” นายฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง