ผู้ตรวจการแผ่นดินชี้ บิ๊กตู่เป็นแคนดิเดตนายกฯ ได้
2019.03.14
กรุงเทพฯ
ในวันนี้ ที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติเอกฉันท์ว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ และสามารถเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งรั้งนี้ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย และให้ยุติข้อเรื่องร้องเรียนกรณีตรวจสอบคุณสมบัติ
นายรักษเกชา แฉ่ฉ่าย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงผลการวินิจฉัยคำร้องกรณีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ขอให้ตรวจสอบพร้อมเสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่ ซึ่งอาจส่งผลให้การที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ผู้เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี อาจเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 88 มาตรา 89 และมาตรา 160 (6) ประกอบมาตรา 98 (15) ซึ่งที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ในตำแหน่งหัวหน้า คสช. ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ อ้างถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2543 เกี่ยวกับความหมายของคำว่า “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ซึ่งเคยบัญญัติไว้ในมาตรา 109 (11) ของรัฐธรรมนูญ 40 ระบุว่า หัวหน้า คสช. เป็นตำแหน่งที่ใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ซึ่งเป็นความจำเป็นในช่วงต้องเปลี่ยนผ่านจากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในประเทศไปสู่สถานการณ์ปกติ อันเป็นการเข้าควบคุมประเทศระยะหนึ่ง
“ดังนั้น การที่ กกต. ประกาศรายชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี ตามที่พรรคพลังประชารัฐเสนอ จึงเป็นการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 13 และมาตรา 14 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กรณีนี้ จึงไม่มีเหตุที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครอง เพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา 23 พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560” นายรักษเกชา ระบุ
ด้านนายฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ไม่แปลกใจกับผลการพิจารณา พร้อมทั้งตั้งข้อสงสัยพลเอกประยุทธ์ ในการใช้อำนาจสั่งการหน่วยงานราชการ หรือกระทั่งการปฏิบัติภารกิจทั้งในและต่างประเทศ การพบปะผู้นำประเทศอื่นๆ ได้อย่างไร ถ้าไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ อีกทั้งยังได้รับค่าตอบแทนในตำแหน่งหัวหน้า คสช. อีกด้วย
“คำวินิจฉัยนี้ยิ่งเป็นการทำลายความเชื่อมั่นระบบกฎหมายไทย เพราะเป็นการใช้กลไกทางกฎหมายโดยมิชอบในการตีความคำว่า เจ้าหน้าของรัฐ เพื่อเข้าข้าง คสช.” นายฐิติพล ให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์ทางโทรศัพท์
ประเด็นปัญหาดังกล่าว เกิดขึ้นภายหลังที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ยอมให้พรรคพลังประชารัฐ เสนอชื่อเป็นผู้เข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ออกมาระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เป็นข้าราชการฝ่ายการเมือง จึงสามารถลงรับสมัครเป็นแคนดิเดตนายกฯ ได้ แต่ต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง ไม่พูดปราศรัยให้คุณหรือโทษต่อพรรคการเมืองหรือต่อผู้สมัครรายอื่นๆ อันสอดคล้องกับมติคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ระบุว่า ให้พล.อ.ประยุทธ์ ไปช่วยพรรคพลังประชารัฐรณรงค์หาเสียงได้ ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อผู้สื่อข่าวเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า วางตัวลำบากมาก เพราะมีคนจ้องจะฟ้องตลอดเวลา อย่างไรก็ดี ได้พยายามทำตามกฎหมายอนุญาตทุกอย่าง