ประชาธิปัตย์-เพื่อไทย ไม่ร่วมวงคุย คสช. 7 ธ.ค. นี้

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2018.12.05
กรุงเทพฯ
181205-TH-politics-800.jpg นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมลงทะเบียนเพื่อเข้าประชุมกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง วันที่ 28 ก.ย. 2561
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวยืนยันต่อสื่อมวลชนในวันพุธนี้ ว่า พรรคประชาธิปัตย์ จะไม่ร่วมการประชุมหารือระหว่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และพรรคการเมือง ในวันศุกร์ (7 ธ.ค.) นี้ เพราะพรรคประชารัฐที่ประกาศหนุน คสช. มีแนวทางไม่ตรงกับประชาธิปัตย์ ขณะที่พรรคตรงข้ามกับทหารได้ประกาศไม่ร่วมประชุมแล้วเช่นกัน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อสื่อมวลชนในงานเปิดศูนย์ประสานงานสาขาพรรคประชาธิปัตย์ เขตห้วยขวาง ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะไม่ร่วมหารือกับ คสช. หรือพรรคพลังประชารัฐ ในวันศุกร์ที่จะถึงนี้ เช่นเดียวกับพรรคต้านทหาร เช่น พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ และพรรคไทยรักษาชาติ เพราะแนวทางของพรรคประชารัฐที่มีแนวคิดรวมศูนย์อำนาจ

“พลังประชารัฐ ได้แสดงออกในหลายๆ เรื่องที่มันไม่ตรงกับแนวทางประชาธิปัตย์ การบริหารเศรษฐกิจแบบนี้ การทำการเมือง ซึ่งที่ผ่านมา ช่วงที่โยกย้ายพรรคการเมือง แนวคิดในการบริหารประเทศที่รวมศูนย์อำนาจ ไม่ใช่แนวทางที่ประชาธิปัตย์สนับสนุน” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ทางการเมือง ได้มองว่าพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์ จะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะมีผลต่อการได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกครั้งหรือไม่

“ผมเห็นที่เขาให้สัมภาษณ์จะได้ 350 เสียงบ้าง บอกว่าพรรคการเมืองตอนนี้พูดอะไรก็ได้ หลังเลือกตั้งอีกเรื่องนึง ผมคิดว่าอันนี้ไม่ใช่เป็นการเมืองที่สร้างสรรค์หรือการปฏิรูปทางการเมือง เพราะฉะนั้นก็เลยบอกว่า ผมยังมองไม่ออกว่ามีเหตุผลอะไรที่จะต้องคุยกัน” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ในวันเดียวกันนี้ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย เปิดเผยต่อสื่อมวลชนที่บ้านเด็กรามอินทรา-เด็กตาบอดผู้พิการซ้ำซ้อนว่า จะไม่ร่วมหารือกับ คสช. เพราะการที่ คสช. ได้ตั้งพรรคการเมืองชื่อ พลังประชารัฐ ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับนโยบายรัฐบาล โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) และเป็นผู้จัดการเลือกตั้งเอง ถือว่าไม่ถูกต้องตามหลักการ ดังนั้น การเข้าร่วมหารือย่อมไม่เกิดประโยชน์

ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กล่าวว่า การหารือระหว่าง คสช. และพรรคการเมืองในวันศุกร์ที่ 7 ธันวาคม 2561 นี้ จะเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองต่างๆ เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และการบริหารบ้านเมือง เพื่อให้ประเทศเดินไปข้างหน้า หลังจากการเผชิญปัญหาในอดีต

“ธงของผมก็คือ สนับสนุนพรรคการเมืองที่เดินหน้าประเทศอย่างมียุทธศาสตร์ พรรคอื่นว่ามาสิ ยุทธศาสตร์เขาว่ายังไง อาจจะดีกว่าพรรคพลังประชารัฐก็ได้ ลองเสนอยุทธศาสตร์มามากกว่าที่จะมาติฉินกันอยู่เรื่อยๆ แต่ไม่เคยพูดว่าจะแก้ปัญหาได้อย่างไร” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเมื่อวานนี้

“ถ้าเขาไม่มาก็ช่างเขา ซึ่งถ้าไม่มาแปลว่าจะอยากเลือกตั้งหรืออย่างไร แสดงว่าไม่อยากเลือกตั้งนี่นา ถ้าอย่างนี้มันก็ไม่เคารพกติกา มันจะอยู่กันได้ไหมเล่า จะมาเป็นรัฐบาลได้ยังไง” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว เมื่อวันจันทร์นี้ ที่จังหวัดชัยภูมิ

ส.ส. ย้ายพรรคการเมืองครั้งใหญ่

อย่างไรก็ตาม ในสายตานักวิชาการเชื่อว่า แม้พรรคประชาธิปัตย์จะประกาศไม่ร่วมหารือกับ คสช. หรือไม่ร่วมกับพลังประชารัฐ แต่จากการที่พรรคประชาธิปัตย์เคยประกาศว่า จะไม่ยอมร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยแน่นอน ซึ่งทำให้เชื่อได้ว่า พรรคที่สนับสนุน คสช. จะต้องจับมือตั้งรัฐบาล ทั้งนี้ พลเอกประยุทธ์ต้องการเสียงเพียง 126 เสียง จาก ส.ส. 500 ที่นั่ง เพราะมีเสียงวุฒิสมาชิกตุนไว้แล้ว 250 เสียง

"เขาต้องการอีกแค่ 126 เสียง มีโอกาสค่อนข้างสูง เพราะ ไม่ใช่แค่พลังประชารัฐอย่างเดียว เพราะประชาธิปัตย์ ก็มีแนวโน้มจะไปสูง ผมว่า ไม่เกินกำลังทหารหลังการเลือกตั้ง เพราะตอนนี้ เขาใช้กลไกกฎหมาย ดึง ส.ส. มาค่อนข้างที่เยอะ" นายฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

"การย้ายพรรค ที่เราเห็นอาจจะสะท้อนว่า กลุ่มธุรกิจก็อาจจะสนับสนุนกลุ่มที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ หรือสนับสนุนทหาร" นายฐิติพลกล่าว หลังจากที่ทางการปิดรับการโยกย้ายพรรคของนักการเมืองแต่ละพรรค เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยผู้นำพรรคเพื่อไทยร่วม 40 คน ได้ผันตัว ย้ายไปเข้าพรรคประชารัฐเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ด้าน นายอุเชนทร์ เชียงเสน สำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ยังได้ให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์ว่า พรรคประชาธิปัตย์จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ชี้ขาดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยหรือไม่

“ประชาธิปัตย์ เขาประกาศชัดเจนแล้วว่าเขาไม่รวมกับเพื่อไทย เขาจะอยู่ตรงไหนได้ เขาก็รวมกับอีกฝั่งนึง พล.อ.ประยุทธ์ได้ประชาธิปัตย์ก็เป็นรัฐบาลได้ ตอนนี้ ไม่ต้องแข่งกันเลย ยังไงก็ประยุทธ์ ก็แค่รวมกับ ส.ว. รวมกับพรรคประชาธิปัตย์ รวมพรรคพวกอีกนิดหน่อย ก็ได้แล้ว”

“ถ้าคุณอยากโดดเดี่ยว พล.อ.ประยุทธ์ ทุกพรรคการเมืองต้องรวมตัวกันไม่รวมกับพล.อ.ประยุทธ์ ให้พล.อ.ประยุทธ์อยู่กับพรรคคุณสุเทพ กับพรรคเล็กพรรคน้อย ที่เหลือพรรคการเมืองปกติที่ไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจ ต้องรวมตัวกันไม่ร่วมกับพล.อ.ประยุทธ์ คุณถึงจะสู้ได้ แต่ช้อยส์นี้ไม่เกิดขึ้นหรอก เพราะประชาธิปัตย์บอกไม่อยู่กับเพื่อไทยก็จบแล้ว” นายอุเชนทร์ กล่าวผ่านโทรศัพท์

ตามปฏิทินการเมืองที่ รัฐบาลเปิดเผยล่าสุด พรรคการเมืองจะเริ่มหาเสียงได้ในกลางเดือนธันวาคม 2561 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 จะมีการเลือกนายกรัฐมนตรีในเดือนพฤษภาคม 2562 และจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ภายในเดือนมิถุนายน 2562

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง