นักการเมือง: รัฐธรรมนูญ 60 จำกัดสิทธิประชาธิปไตย
2017.06.16
กรุงเทพฯ

นายจาตุรนต์ ฉายแสง และนายกษิต ภิรมย์ เห็นพ้องว่ารัฐธรรมนูญที่เขียนในสมัยของรัฐบาลทหารนั้น อาจมีเนื้อหาบางส่วนที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะสิทธิในการตรวจสอบและการวิพากษ์ ทั้งนี้ ยังมองว่าการทำรัฐประหารไม่ใช่ทางออกในการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด และยังทำให้การป้องกันปัญหาทุจริตเป็นไปได้ยากขึ้น
การเสวนาครั้งนี้จัดขึ้นในวันศุกร์ (16 มิถุนายน 2560) ที่สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในชื่อ “A Dream Thailand Public Forum Series – Thailand’s Constitutional Update: Organic Laws and Roadmap Dynamics” ซึ่งมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วยนักการเมือง กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) พร้อมด้วยนักสิทธิฯ และมีประชาชนเข้าร่วมฟังการเสวนากว่า 200 คน
นายจาตุรนต์ ฉายแสง สมาชิกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นหรือไม่นั้น ไม่สำคัญเท่ากับสิ่งที่จะเกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้ง โดยเน้นย้ำว่ารัฐธรรมนูญต้องมีความโปร่งใสและตรวจสอบได้จริงตามมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 และเชื่อว่าการรัฐประหารนั้นไม่ใช่ข้ออ้างที่จะนำมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาการคอรัปชั่น แต่เป็นสิ่งที่ทำให้การป้องกันการคอรัปชั่นนั้นเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น
“ในความเห็นของผม ผมไม่เห็นด้วยที่จะอ้างว่าเมื่อมีการคอรัปชั่นมากๆ ก็เป็นการชอบธรรมที่จะรัฐประหาร จริงๆ แล้วมันไม่ได้แก้ปัญหา และยังทำให้เกิดระบบที่สามารถป้องกันการคอรัปชั่นได้น้อยลง เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น มันไม่ควรเป็นข้ออ้างในการรัฐประหาร แต่ก็แน่นอน ต้องทำให้เห็นว่าระบอบประชาธิปไตย มันดีกว่าการปกครองภายใต้รัฐประหาร” นายจาตุรนต์กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
ด้านนายกษิต ภิรมย์ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวว่า ประเทศไทยภายใต้การปกครองแบบทหารนั้น อาจทำให้ประชาชนถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพมากขึ้น ซึ่งนายกษิตได้เผยถึงความกลัวที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศไทยในอนาคตอีกด้วย
“ประเด็นของการมีประชาธิปไตยและการมีพรรคการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยแบบตัวแทนคืออะไร ในเมื่อคุณไม่สามารถเป็นตัวแทนของประชาชนได้ ซึ่งผมเห็นด้วยกับคุณจาตุรนต์ว่า เราไม่ได้รับอนุญาตให้ทำอะไรมากนัก เพราะทุกอย่างได้ถูกบัญญัติเอาไว้ในรัฐธรรมนูญหมดแล้ว ผมไม่เห็นว่าประชาธิปไตยจะสามารถขับเคลื่อนไปได้ ผมจึงรู้สึกกลัวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นแก่ประเทศไทยในอนาคต ถ้าผมเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง ผมจะบอยคอตการเลือกตั้ง” นายกษิตกล่าว
เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รัฐประหารรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เนื่องจากว่าได้นำประเทศมาสู่ทางตันด้วยการประท้วงของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) จนมีการสูญเสียชีวิต จากนั้นได้ ประกาศโรดแมป กาคืนอำนาจให้ประชาชน
โรดแมป
นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า นับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน ที่ผ่านมา กรธ. จัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดระยะเวลาให้แล้วเสร็จภายใน 8 เดือน ปัจจุบันได้เดินทางมาใกล้ครึ่งทางแล้ว โดยร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภานั้น ได้ถูกเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งหาก กรธ. ส่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองให้แก่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็จะมีการเลือกตั้งภายใน 5 เดือน ซึ่งคาดว่าจะสามารถจัดเลือกตั้งได้เร็วที่สุดภายในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมในปี 2561
อย่างไรก็ตาม นายนรชิต กล่าวว่า อาจจะมีความล่าช้าในกระบวนการออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หากว่ามีฝ่ายที่เกี่ยวข้องคัดค้าน และขอแก้ไขเนื้อหาของร่างพ.ร.บ.ฉบับใดๆ เช่น อาจจะมีแนวโน้มที่คณะกรรมการการเลือกตั้งที่ถูกยุบจะคัดค้าน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งฉบับใหม่