วันช้างไทย: การเลี้ยงช้างต้องใส่ใจสุขภาพช้าง

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2017.03.13
กรุงเทพฯ
TH-elephant-1000 สามเณรในพื้นที่บ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ หยอกล้อกับช้าง วันที่ 30 ตุลาคม 2559
เอื้อเฟื้อภาพโดย อาทิตย์ เทอดสุวรรณ

ช้าง ซึ่งเป็นสัตว์สัญลักษณ์ประจำชาติไทย และเป็นสัตว์พาหนะในการยาตราทัพทำสงครามในอดีต ได้ลดจำนวนลงเหลือประมาณ 7,500-8,200 เชือก ในปัจจุบัน โดยนับรวมทั้งที่เป็นช้างป่าและช้างเลี้ยง แต่สัตว์ประจำชาตินี้ ยังคงประสบกับชะตากรรมที่ต้องได้รับการแก้ไข

ในวันจันทร์ (13 มีนาคม 2560) ครบรอบวันช้างไทย เบนาร์นิวส์ ได้สนทนาเรื่องช้างไทยกับ นายสัตวแพทย์ปรีชา พวงคำ หัวหน้าสัตวแพทย์ มูลนิธิเพื่อนช้าง และนายสวัสดิ์ ตวงรัตน์หรดี ผู้อำนวยการสถาบันคชบาลแห่งชาติ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ถึงภาพรวมของความเป็นอยู่ของช้างไทยในปัจจุบัน

ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 2 ท่าน ชี้ให้เห็นว่าปัญหา ว่า คนเลี้ยงช้างจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับสุขภาพของช้าง ไม่ใช้งานช้างหนักเกินไป เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาช้างป่วย ช้างล้ม และปัญหาภาพลักษณ์การทารุณสัตว์

“การนำช้างไปใช้ในการลากไม้ บางรายก็ยังขาดการดูแลเอาใจใส่สุขภาพเขา บางคนก็ดี แต่บางรายยังขาดการเอาใจใส่สุขภาพช้าง ที่เราพบมา ที่ทีมสัตวแพทย์เราไปตรวจรักษา ก็เกิดจากการใช้งานแบบไม่ถูกวิธี ทำให้เป็นแผลบ้าง เป็นอะไรบ้าง ซึ่งน่าเป็นห่วง ต้องสร้างความตระหนักเรื่องสุขภาพช้างให้ผู้ประกอบการมากกว่านี้” นายสวัสดิ์ กล่าวต่อเบนาร์นิวส์

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชประเมินว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีจำนวนช้างป่า 3,500-4,000 ตัวกระจายในป่าอนุรักษ์ 68 แห่งที่พบช้างป่าอาศัยใน 7 กลุ่มป่า ได้แก่ กลุ่มป่าตะวันตก เช่น แก่งกระจาน สลักพระ ห้วยขาแข้ง จำนวน 400-600 ตัว กลุ่มป่ารอยต่อตะวันออก 5 จังหวัด จำนวน 300-400 ตัว กลุ่มป่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เช่น ภูเขียว น้ำหนาว เขาใหญ่ ตาพระยา 500-600 ตัว จำนวนกลุ่มป่าภาคใต้คลองแสง-เขาสก จ.สุราษฎร์ธานี จำนวน 100-150 ตัว และกลุ่มป่าภาคเหนือ จำนวน 110-300 ตัว โดยประชากรช้างป่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 โดยเฉพาะกลุ่มป่าตะวันออก

ขณะเดียวกัน จำนวนช้างเลี้ยง นายสวัสดิ์ระบุว่า มีจำนวนประมาณ 4,000-4,200 เชือก เป็นปริมาณที่ค่อนข้างคงที่ตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา ส่วนมากช้างเลี้ยงจะถูกใช้เพื่อการลากไม้ และการท่องเที่ยว โดยช้างในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะเป็นช้างที่มีลักษณะควบคุมง่าย และไม่ดุร้าย ขณะที่ช้างที่มีความก้าวร้าวกว่าจะถูกใช้ในงานลากไม้ ซึ่งยังพบว่า ผู้ประกอบการบางรายใช้งานช้างเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 10 ชั่วโมง ซึ่งถือว่าหนักกว่าที่ควร และมักส่งผลต่อสุขภาพของช้าง

“ช้างเร่ร่อน หรือช้างที่ถูกนำมาหากินตามถนนน้อยลง เพราะหน่วยงานต่างๆ ช่วยกัน อีกส่วนหนึ่งประชาชนที่พบเห็นก็ช่วยแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อผลักดันช้างออกไป แต่ที่น่าเป็นห่วงคือช้างเลี้ยง ซึ่งเชื่อว่าหากมีเจ้าหน้าที่รัฐสอดส่องดูแล จะทำให้สวัสดิภาพหรือสภาพความเป็นอยู่ของช้างไทยดีขึ้น” นายสวัสดิ์กล่าวเพิ่มเติม

นายสวัสดิ์ กล่าวต่อไปอีกว่า เกณฑ์การตรวจสุขภาพช้าง ยังไม่ถูกบรรจุ หรือบัญญัติให้เป็นข้อบังคับหรือข้อกฎหมาย จึงทำให้การควบคุมให้เจ้าของช้างนำช้างไปตรวจสุขภาพเป็นประจำทำได้ยาก แม้สถาบันคชบาลแห่งชาติ จะส่งเจ้าหน้าที่ลงตรวจสุขภาพแต่ก็ยังไม่ทั่วถึงเพียงพอ ดังนั้น สุขภาพช้างเลี้ยงจึงขึ้นอยู่กับความใส่ใจของเจ้าของช้างเป็นหลัก

ชาวนานำช้างไปช่วยในการเก็บเกี่ยวข้าว ที่บ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ วันที่ 30 ตุลาคม 2559 (เอื้อเฟื้อภาพโดย อาทิตย์ เทอดสุวรรณ)

ทางด้าน น.สพ.ปรีชา พวงคำ หัวหน้าสัตวแพทย์ มูลนิธิเพื่อนช้าง ระบุว่า การกำหนดระยะเวลาการทำงานของช้างให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้ช้างทำงานหนักเกินไปเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเชื่อว่าผู้ประกอบการและภาครัฐจำเป็นต้องประชุมร่วมกัน เพื่อจุดที่ลงตัว ไม่กระทบทั้งภาคธุรกิจ และกระทบสุขภาพของช้าง

“เรื่องการใช้งานช้างควรจะเป็นระเบียบเลยว่าไม่ควรเกิน 5-6 ชั่วโมง เช้า 3 ชั่วโมง บ่าย 2-3 ชั่วโมง หน้านี้ก็ทัวร์เยอะ แล้วก็ร้อน ช้างก็ไม่ไหว ปางช้างในภาคเหนือ โดยเฉพาะเชียงใหม่มีปางช้าง 300 กว่าปาง มีช้างเกือบพัน ก็คุมกันไม่ได้ เราต้องหาทางแก้ไขต้องประชุม” น.สพ.ปรีชากล่าว

น.สพ.ปรีชา กล่าวอีกว่า ในปัจจุบันมีกลุ่มนักอนุรักษ์สัตว์รณรงค์ว่า การใช้ช้างในอุตสาหกรรมไม้ และการท่องเที่ยว รวมทั้งการใช้โซ่ และขอเป็นการทารุณช้าง ทำให้การใช้ช้างในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยได้รับผลกระทบด้านภาพลักษณ์ แต่ตนเองเชื่อว่า การใช้งานช้าง และการใช้โซ่ ใช้ขอสามารถทำได้ และมีความจำเป็น เพียงแต่จำเป็นต้องไม่ใช้งานหนักเกินไป ซึ่งภาครัฐควรควรเข้ามาช่วยรณรงค์ให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องกับประชาชน และนักท่องเที่ยว ในประเด็นนี้ด้วย

เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2541 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้วันที่ 13 มีนาคมของทุกปีเป็น “วันช้างไทย” และระบุในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 18 มิถุนายน 2541 โดยความคิดริเริ่มสถาปนาวันช้างไทย มาจากคณะอนุกรรมการประสานงานการอนุรักษ์ช้างไทย ซึ่งเชื่อว่าการสถาปนาวันช้างไทยขึ้น จะช่วยให้ประชาชนคนไทยหันมาสนใจช้าง รักช้าง หวงแหนช้าง และให้ความสำคัญกับการให้ความช่วยเหลืออนุรักษ์ช้างมากขึ้น โดยเลือกใช้วันที่ 13 มีนาคม ซึ่งเป็นวันที่คณะกรรมการคัดเลือกสัตว์ประจำชาติมีมติให้ “ช้างเผือก” เป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง