ทักษิณ ชินวัตร วิจารณ์การเลือกตั้ง "ยอดแย่"
2019.03.25
กรุงเทพฯ
ในวันจันทร์นี้ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่พำนักอยู่ต่างแดน ได้ประณามการเลือกตั้งของไทย เนื่องจากพรรคพลังประชารัฐกล่าวว่า กำลังรวบรวมพรรคร่วมเพื่อจัดตั้งรัฐบาล แม้จะได้ที่นั่ง ส.ส.เขตน้อยกว่าพรรคเพื่อไทย ในการรายงานผลคะแนน ส.ส.อย่างไม่เป็นทางการ
ความเห็นของนายทักษิณ ผ่านสื่อต่างประเทศเกิดขึ้น ในขณะที่ผลการเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ผ่านมายังไม่ชัดเจน มีการรายงานผลเพียงบางส่วนเท่านั้น และทั้งพรรคพลังประชารัฐและพรรคเพื่อไทย ได้ประกาศเริ่มรวมตัวเป็นผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาล
“นี่เป็นช่วงเวลาที่แย่มากและน่าเศร้าสำหรับประเทศของผม” ทักษิณเขียนในบทความคิดเห็น ในนิวยอร์กไทมส์ “คนที่เข้ามาทำงาน ควรที่จะมาและไป ตามระบบที่เป็นอยู่ รัฐบาลทหารชุดนี้พร้อมที่จะทำลายระบบ เพื่อเอื้อให้คนของตนอยู่ในอำนาจต่อไป”
ในวันเดียวกันนี้ พรรคเพื่อไทยแถลงข่าวว่า จะดำเนินการจัดตั้งรัฐบาล หลังผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการระบุว่า เพื่อไทยได้ ส.ส. แบบแบ่งเขต 137 ที่นั่งมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง ด้าน พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งได้ ส.ส. แบบแบ่งเขตอันดับสอง 97 ที่นั่ง ประกาศรวบรวมเสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาลเช่นกัน ด้านพรรคอนาคตใหม่ยืนยัน ไม่เสนอชื่อนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะยึดหลักการว่า พรรคอันดับหนึ่งเท่านั้นที่มีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ
คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เปิดเผยรายชื่อผู้ที่มีคะแนนสูงสุดในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบแบ่งเขต 350 เขต อย่างไม่เป็นทางการ แล้วเมื่อเวลา 16.00 น. ที่ผ่านมา โดยระบุว่า แต่ละพรรคได้ที่นั่งดังนี้ พรรคเพื่อไทย 137 ที่นั่ง พลังประชารัฐ 97 ที่นั่ง ภูมิใจไทย 39 ที่นั่ง ประชาธิปัตย์ 33 ที่นั่ง อนาคตใหม่ 30 ที่นั่ง ประชาชาติ 7 ที่นั่ง ชาติไทยพัฒนา 6 ที่นั่ง และ ชาติพัฒนา 1 ที่นั่ง
หารือรวบรวมพรรคร่วม
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีโดยพรรคเพื่อไทย แถลงข่าวระบุว่า พรรคเพื่อไทยพร้อมที่จะจัดตั้งรัฐบาล โดยจะร่วมกับพรรคที่ไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
“เพื่อไทยได้ ส.ส. พื้นที่มากที่สุด แม้เราจะส่งเพียง 250 เขต แต่ก็สามารถจะได้รับการยอมรับ แล้วก็ให้ความไว้วางใจให้เป็นผู้แทนลำดับหนึ่ง” คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว
“เราก็จะเดินหน้ารวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาล พรรคที่มาลำดับหนึ่ง ก็จะถือว่าเป็นผู้ที่ได้รับฉันทานุมัติจากพี่น้องประชาชนในการจัดตั้งรัฐบาล ก็จะมีการเดินหน้าประสานรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลต่อไป”
“แน่นอนคนที่เราจะร่วมด้วย หลักการไม่เปลี่ยน เป็นหลักการเดิม ร่วมกับพรรคที่ไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ ก็มีพรรคที่ประกาศตัวชัดเจน” คุณหญิงสุดารัตน์ ระบุ
ขณะที่ นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งได้ที่นั่ง ส.ส. เป็นอันดับสอง ได้แถลงข่าวเช่นเดียวกันว่า พรรคพลังประชารัฐ จะเดินหน้ารวบรวมพรรคการเมืองเพื่อจัดตั้งรัฐบาลด้วย แม้ไม่ได้ที่นั่งเป็นอันดับหนึ่ง แต่ไม่มีกฎหมายห้ามการจัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคที่ได้ที่นั่ง ส.ส. อันดับสอง
“แนวทางการดำเนินการจากนี้ต่อไปของพรรคพลังประชารัฐ โดยเฉพาะการดำเนินการจัดตั้งรัฐบาล ยืนยันว่า พรรคใดรวบรวมเสียงข้างมากได้ ก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ดูเสียงทั้งหมดแล้ว พลังประชารัฐได้เสียงมากที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนี้ จากนี้ไป เราก็จะดำเนินการหารือพูดคุย พรรคที่มีแนวทางที่สอดรับกับพรรคพลังประชารัฐ เรื่องอุดมการณ์ นโยบาย เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลต่อไป เป็นไปตามกฎกติกาของรัฐธรรมนูญที่มีอยู่” นายอุตตม กล่าว
ด้านพรรคอนาคตใหม่ ได้แถลงจุดยืนเช่นกันว่า จะไม่เสนอชื่อนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะตามหลักการจำเป็นต้องให้พรรคที่ได้ที่นั่งอันดับหนึ่ง เป็นผู้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งรัฐบาล
“พรรคอันดับที่ 1 คือ เพื่อไทยต้องเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล การร่วมรัฐบาลของเรามีเงื่อนไข คือ แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้มีสภาร่างรัฐธรรมูญ มาทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ยกเลิกมาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และปฏิรูปกองทัพให้เป็นประชาธิปไตย” นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ระบุ
“การให้พรรคอันดับสองไปตั้งรัฐบาล แล้วอ้างว่าไม่มีกฎหมายข้อไหนกำหนด คือสิ่งที่ไม่ชอบธรรมอย่างยิ่ง หลักการนี้ต้องยึดให้มั่น ทำให้เราไม่เสนอให้ธนาธรเป็นนายกรัฐมนตรี พรรคพลังประชารัฐ เขาอาจจะชนะที่หนึ่ง(คะแนนดิบ) แต่ปัญหาอยู่ตรงนี้ ประเทศไทยปกครองในระบบประชาธิปไตยรัฐสภา นายกฯมาจากเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฏร ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง” นายปิยบุตร กล่าว
สำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 24 มีนาคม 2562 กกต. สรุปว่า มี ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 50,798,961 คน ผู้มาใช้สิทธิ 33,929,729 คน เป็นบัตรดี 31,511,130 ใบ บัตรเสีย 1,914,540 ใบ และบัตรที่ไม่เลือกผู้สมัครคนใด 504,050 ใบ (เป็นการสรุปตัวเลข 92 เปอร์เซ็นต์)
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงข่าวในวันเดียวกันระบุว่า ผลการเลือกตั้งทั้งหมดในแต่ละเขตทั่วประเทศ จะถูกส่งมายัง สำนักงาน กกต. โดยหลังจากได้รับจะมีการรายงานผลอย่างไม่เป็นทางการอีกครั้ง และจะมีการประกาศผลอย่างเป็นทางการภายในวันที่ 9 พฤษภาคม 2562
“กกต. ตั้งไว้ว่าจะประกาศผลภายในวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 เพราะเป็นวันที่ครบ 150 วัน นับแต่วันที่ พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.ฯ มีผลบังคับใช้ กกต.จะต้องเคลียร์ การสอบสวน สำนวนไต่สวน ซึ่งมีเรื่องร้องเรียนเข้ามา เมื่อถึงวันที่ 9 แล้ว ถ้ากกต. เห็นว่า การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม ประกาศผล 95% คือประกาศผลอย่างเป็นทางการ” พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าว
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ชี้แจงว่า เหตุผลที่ยังไม่สามารถให้ข้อมูลอย่างเป็นทางการได้ว่า แต่ละพรรคจะได้ผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อกี่ที่นั่ง เนื่องจากจำเป็นต้องคำนวณที่นั่ง ส.ส. บัญชีรายชื่อ หลังการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการแล้ว เพราะตัวเลขต่างๆอาจมีการเปลี่ยนแปลงภายหลัง อีกทั้ง กกต.ปฏิเสธที่จะชี้แจง ข้อเรียกร้องเรื่องต่างๆ เช่น บัตรเลือกตั้งเกินในบางเขต ความล่าช้าและคลาดเคลื่อนในการนับคะแนน เป็นต้น โดยระบุว่า จะต้องตรวจสอบรายละเอียดก่อน เนื่องจากยังไม่เห็นรายละเอียดเรื่องการร้องเรียน
ประยุทธ์ จะเป็นนายกฯต่อ และพรรคพลังประชารัฐจะเป็นรัฐบาล
นายฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า พรรคพลังประชารัฐน่าจะได้จัดตั้งรัฐบาล เนื่องจากรัฐธรรมนูญเอื้อให้พรรคพลังประชารัฐสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ง่ายกว่าพรรคเพื่อไทย แม้จะได้ที่นั่ง ส.ส. น้อยกว่าก็ตาม
“หลักการการปกครองแบบประชาธิปไตยรัฐสภา คือ พรรคที่มีเสียงข้างมาก ส.ส. มากสุดจะได้รับสิทธิ์ก่อนในการจัดตั้งรัฐบาล ตามหลักการ เพื่อไทย ส.ส. มากสุดก็ควรมีสิทธิ์ในการจัดตั้งรัฐบาล แต่รัฐธรรมนูญ เขียนมาเอื้อให้ทหารมีอำนาจ คือ มี ส.ว. ที่ตั้งโดย คสช. ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ ผมว่าเอนไปทางพลังประชารัฐอยู่แล้ว” นายฐิติพล กล่าว
“ในความเป็นจริง ส.ว. น่าจะให้คะแนนเพื่อไทยยาก โดยมารยาททางการเมืองแล้ว ส.ว. ก็ควรจะตามเสียงประชาชนเป็นหลัก ไม่ใช่ตามเสียงคนที่แต่งตั้ง ส.ว. แต่พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็บอกแล้ว แต่งตั้ง ส.ว. มาเองก็ต้องคุมได้ อันนี้สะท้อนเจตนาว่า ต้องการให้อยู่ภายใต้การควบคุม” นายฐิติพล กล่าวเพิ่มเติม
นายฐิติพล ประเมินว่า การเมืองหลังจัดตั้งรัฐบาลจะไม่มีความรุนแรง หากพรรคพลังประชารัฐได้เป็นแกนนำเนื่องจากรัฐบาลทหารในช่วงที่ผ่านมาได้รับการยอมรับมากกว่าในอดีต แต่หากพรรคฝ่ายประชาธิปไตยที่ต้องการจะปฏิรูปกองทัพเป็นรัฐบาล อาจมีการเคลื่อนไหวจากทหาร
“ถ้าพลังประชารัฐตั้งรัฐบาล เราเห็นการยอมรับทหารก็มีพอสมควร ไม่เหมือนปีพฤษภาทมิฬ คนต่อต้านเยอะ ชนชั้นกลางจำนวนนึงยอมรับบทบาททหารแล้วในปัจจุบัน ความรุนแรงไม่น่าจะเกิด เพราะจะมีการใช้อำนาจทหาร แต่อำนาจแบบนี้จะกระทบกับการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทย แต่ถ้าเพื่อไทยตั้งรัฐบาลได้จริง แล้วทุกคนยอมรับกฎเกณฑ์กติกา ก็ไม่น่าจะมีปัญหา แต่จุดยืนการปฏิรูปกองทัพ อาจจะนำมาสู่รัฐประหาร” นายฐิติพล ระบุ
คำถามในผลเลือกตั้ง
นายทักษิณ ชินวัตรได้เขียนบทความคิดเห็น ในนิวยอร์กไทมส์ ท้าทายความพยายามของพลเอกประยุทธ์ที่จะยังคงอำนาจไว้
“รัฐบาลทหารแต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง และแทรกแซงการทำงานที่ควรจะเป็นหน่วยงานและสถาบันอิสระ เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ มีเลศนัย และเอื้อประโยชน์ตนเอง” นายทักษิณเขียนในบทความ
“ประเทศไทยควรมีรัฐบาลที่สะท้อนความต้องการของประชาชนมากกว่าสิ่งใด ไม่ใช่ความต้องการของรัฐบาลทหาร”
ส่วน นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาประจำประเทศไทย ฮิวแมนไรท์วอทช์ ก็ตั้งคำถามเกี่ยวกับความถูกต้องของการเลือกตั้งครั้งนี้
"เราตระหนักถึงสนามการเมืองที่ไม่เสมอภาค ที่เอื้อพรรคพลังประชารัฐ และพลเอกประยุทธ์ เราตระหนักว่ารัฐบาลควบคุมองค์ประกอบต่างๆ การเข้าถึงสื่อของรัฐ และดำเนินการผ่านหน่วยงานความมั่นคง ที่จะนำพรรคพลังประชารัฐไปสู่การเลือกตั้ง"
“ตั้งแต่เริ่ม การเลือกตั้งครั้งนี้ก็ให้ความหวังริบหรี่มาก ที่จะพิจารณาว่ามีความน่าเชื่อถือ เป็นอิสระ และยุติธรรม เพราะเสรีภาพขั้นพื้นฐานสำหรับการลงคะแนนเสียงอย่างเสรีและเป็นธรรมนั้นไม่มี" นายสุณัยกล่าว “รัฐบาลทหารตั้งกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆอย่างเข้มงวด บนเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพของสื่อ”
“น่าเศร้าใจที่ในเวลานี้ สาธารณชนในประเทศไทยยังไม่มีความเชื่อมั่นในคณะกรรมการการเลือกตั้ง พวกเขาได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐบาลทหาร ดังนั้น สถานะของความเป็นกลาง ก็เป็นคำถามตั้งแต่ต้นแล้ว”
นายพุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู ชาวประจวบคีรีขันธ์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ไม่รู้สึกผิดหวังกับผลการเลือกตั้ง เนื่องจากคิดไว้อยู่แล้วว่า พลเอกประยุทธ์ จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ และผลการเลือกตั้งไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย
“ส่วนตัวไม่ผิดหวัง เพราะแม้จะไม่ชอบประยุทธ์.. แต่ก็รู้สึกว่า อำนาจประยุทธ์เริ่มสั่นคลอน ตอนที่ประยุทธ์ยึดอำนาจ ยังเห็นคนชื่นชมประยุทธ์มากกว่าตอนนี้ ที่กำลังจะได้อำนาจจากการเลือกตั้ง ซึ่งคิดว่าเป็นสัญญาณที่ดี” นายพุทธพงษ์ กล่าว
“เลือกตั้งคราวนี้ คนมีเงินหน่อยก็เลือกเชิงยุทธศาสตร์ คือ ทำไงก็ได้ให้ล้มฝ่ายตรงข้าม ส่วนคนจนเลือกเชิงนโยบาย ทำไงก็ได้ให้ปากท้องดีขึ้น ทีนี้ พปชร.เสนอนโยบายประชานิยม และโปรโมตเรื่องโค่นล้มทักษิณ เลยกินรวบ ส่วนตัว ผู้ใหญ่รอบข้างพูดตรงกันว่า ใจรักประชาธิปัตย์ แต่คราวนี้จำเป็นต้องเลือกพลังประชารัฐ เพราะไม่คิดว่าประชาธิปัตย์จะสู้ทักษิณได้” นายพุทธพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม
ด้านนายภาคภูมิ ธรรมศรี ชาวกรุงเทพ ระบุว่า ผลการเลือกตั้งเหนือความคาดหมาย โดยเฉพาะคะแนนของพรรคพลังประชารัฐ อย่างไรก็ตาม ยังมองการจัดตั้งรัฐบาลไม่ออก
“คะแนนที่ออกมาทำให้เกิดความสูสี เดาทิศทางการจับมือของพรรคต่างๆได้ยาก ส่วนการนับผลคะแนนมีความไม่ชัดเจน และล่าช้า จึงไม่แน่ใจถึงความสุจริต โปร่งใสของคะแนนที่จะประกาศ ผลการเลือกตั้งไม่ได้เป็นอย่างที่คิด เพราะไม่คิดว่า พลังประชารัฐจะได้เยอะจนน่าตกใจแบบนี้ เหมือนพื้นที่สื่อที่เรารับรู้อยู่คนละโลกกับลุงตู่” นายภาคภูมิ กล่าว