นายกฯ วอนทุกฝ่ายร่วมหาทางออก “บ้านพักตุลาการเชิงดอยสุเทพ”

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2018.04.30
กรุงเทพฯ
180430-TH-protesters-1000.jpg ชาวเชียงใหม่กว่า 1,000 คน เดินขบวนเรียกร้องจากท่าแพ มาพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ ให้รัฐบาลแก้ปัญหาปมบ้านพักตุลาการเชิงดอยสุเทพ ที่ ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ วันที่ 30 เมษายน 2561
ภาพจากเฟสบุ๊ค วาทณัฐ ชัยรัต

ในวันจันทร์นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ วอนทุกฝ่ายช่วยหาทางออกปัญหาบ้านพักตุลาการเชิงดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ หลังจากเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ชาวเชียงใหม่นับพันคนเดินขบวนต่อต้านและเรียกร้องให้รัฐบาลทุบทิ้งเพียงสถานเดียว ในขณะที่องค์กรตุลาการกล่าวย้ำว่า โครงการดังกล่าวเป็นสมบัติราชการ ไม่สามารถทุบทิ้งได้ แต่สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กล่าวในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ว่าแม้ว่าโครงการดังกล่าว จะดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ขัดแย้งกับความรู้สึกของประชาชน

“กรณีปัญหาบ้านพักตุลาการที่จังหวัดเชียงใหม่ แม้ยอมรับว่าไม่ผิดกฎหมาย แต่เป็นความรู้สึกของคนในพื้นที่ เป็นเรื่องของป่าในมุมมองของประชาชน แล้วรัฐบาลจะทำอย่างไร อยากให้ทุกฝ่ายช่วยกันคิดด้วย” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวก่อนเริ่มการประชุม

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน ชาวเชียงใหม่กว่าพันคนร่วมกันทำกิจกรรม “ขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ” เรียกร้องให้มีการรื้อถอนบ้านพักของผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 และข้าราชการสำนักงานศาลยุติธรรม บริเวณเชิงดอยสุเทพ หลังจากปรากฎภาพในสังคมออนไลน์ เป็นการก่อสร้างบ้านพักหรูและอาคารชุด ตั้งเรียงรายอยู่ในพื้นที่ป่าเชิงดอยสุเทพ ระบุว่าเป็นบ้านพักของตุลาการศาลอุทธรณ์ ข้าราชการศาล และสำนักงานศาลอุทธรณ์ภาค 5 บนพื้นที่ 147 ไร่ ในพื้นที่ป่าเชิงดอยสุเทพ

นายธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนผืนป่าดอยสุเทพ ได้อ่านแถลงการต่อหน้าผู้ชุมนุมนับพัน ระบุว่า โครงการบ้านพักข้าราชการตุลาการ หรือ ที่รู้จักในชื่อ “หมู่บ้านป่าแหว่ง” แม้จะอ้างว่าก่อสร้างในพื้นที่ราชพัสดุ แต่จริงแล้วเป็นพื้นที่ป่าของดอยสุเทพที่ต่อเนื่องเป็นผืนเดียว ขณะนี้ มีการถางทำลาย เปิดหน้าดิน ก่อให้เกิดความอัปมงคลอย่างใหญ่หลวง อีกทั้งยังล่วงละเมิดระบบนิเวศวัฒนธรรมอันเป็นสมบัติล้ำค่า

“เจตจำนงเราต้องการสิ่งเดียวเท่านั้น คือ ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างอุจาด อัปมงคล และคืนพื้นที่ป่าให้กลับมาเป็นป่า ดอยยังเป็นดอย” นายธีระศักดิ์ ประกาศต่อผู้ชุมนุมนับพัน ก่อนทุกคนจะส่งเสียงตะโกนเป็นเสียงเดียวกันว่า “ไม่เอาป่าแหว่ง ไม่เอาป่าแหว่ง (รื้อไหม) รื้อ (รื้อไหม) รื้อ” ต่อต้านโครงการบ้านพักตุลาการบริเวณเชิงดอยสุเทพ

ประชาชนที่มาร่วมชุมนุมได้สวมใส่เสื้อรณรงค์ขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ โบกธงสีเขียว ผูกริบบิ้นสีเขียวที่ข้อมือ เป็นสัญลักษณ์การปกป้องผืนป่าดอยสุเทพ ขณะที่ประชาชนผูกริบบิ้นสีเขียวไว้ตามอาคารบ้านเรือนเพื่อร่วมแสดงพลังปกป้องผืนป่าด้วยเช่นกัน

“ถ้าเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับบ้านพักศาลยังยื้อต่อไป ประชาชนก็ต้องยื้อต่อ มันก็จะเป็นการเผชิญหน้า มันก็จะไม่จบ” นิคม พุทธา ประธานกลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำปิง ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน

ขณะเดียวกัน เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ ออกแถลงการณ์ขอบิณฑบาตคืนพื้นที่ป่าเชิงดอยสุเทพเช่นกัน โดยขอให้ระงับโครงการในส่วนบ้านพักตุลาการ เนื่องจากโครงการดังกล่าวสร้างปัญหาความขัดแย้งในวงกว้างเป็นอย่างมาก และส่งผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ทางสังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ จนทำให้หลายภาคส่วนออกมาคัดค้านดังที่ปรากฏเป็นข่าว

คำชี้แจงจากสำนักงานศาลยุติธรรม

ด้านนายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้ออกมาชี้แจงกับสื่อมวลชนเมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า โครงการดังกล่าว ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่อย่างถูกต้องตามกฎหมายจากกรมธนารักษ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ราชพัสดุ เป็นที่ของทางราชการไม่ได้เป็นการรุกที่ป่าสาธารณะอย่างที่สังคมกำลังวิพากษ์วิจารณ์

“พื้นที่ทั้งหมด 147 ไร่ เราดำเนินการไปเพียง 89 ไร่ และเหลือด้านบนเหนือบ้านพักไว้เป็นพื้นที่ป่า ขณะที่สัญญาการก่อสร้างกับเอกชนมีลักษณะผูกพันไม่สามารถยกเลิกได้ ไม่เช่นนั้นอาจจะมีการทำผิดกฎหมาย อย่างไรก็ดี อาคารสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดถือเป็นทรัพย์สินของราชการที่สร้างจากเงินภาษีของประชาชน จะให้ยุติหรือดำเนินการอย่างไรต้องรอฟังจากรัฐบาล” นายสราวุธ ตอบคำถามผู้สื่อข่าว

ทั้งนี้ โครงการสร้างอาคารสำนักงาน บ้านพักผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 และข้าราชการตุลาการมีกำหนดจะแล้วเสร็จส่งมอบภายในเดือน มิถุนายน 2561

สัญญาแรก เป็นการก่อสร้างอาคารศาลอุทธรณ์ภาค 5 และสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาศาล มูลค่ารวม 352 ล้านบาท

สัญญาที่สอง เป็นบ้านพักผู้พิพากษา 38 หลัง พร้อมด้วยอาคารชุดสำหรับข้าราชการตุลาการ และ อาคารชุดสำหรับข้าราชการสำนักงานศาลยุติธรรม งบประมาณ 321 ล้านบาท

สัญญาที่สาม เป็นการสร้างบ้านพักระดับประธานศาล จำนวน 9 หลัง และอาคารชุดสำหรับข้าราชการตุลาการ งบประมาณ 342 ล้านบาท

สำหรับกรณีนี้ สำนักงานศาลยุติธรรม ยืนยันตามมติของคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม ที่มีมติให้เสนอต่อนายกรัฐมนตรีและฝ่ายบริหารในการตัดสินใจ พร้อมย้ำว่าสำนักงานศาลยุติธรรมไม่ใช่คู่ขัดแย้งของประชาชน แม้ว่าที่ผ่านมา จะมีบุคคลบางกลุ่มออกมายั่วยุใช้คำหยาบคายก็ตาม และขอให้การดำเนินการทุกอย่างอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง