ประชาชนรวมตัวข้ามคืน ค้านร่าง พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมที่ทำเนียบฯ
2017.12.06
กรุงเทพฯ
ในวันพุธ (6 ธันวาคม 2560) นี้ เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เดินทางเข้ายื่นหนังสือที่สำนักงานนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้ชะลอกระบวนการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อม ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพราะเห็นว่าการร่างกฎหมายฉบับนี้ ไม่มีการรับฟังความคิดเห็นประชาชน และไม่ได้แก้ไขกระบวนการทำอีไอเอ และอีเอชไอเอที่เป็นปัญหา โดยจะปักหลักจนค้างแรมข้างทำเนียบฯ จนกว่าข้อเรียกร้องจะได้รับการตอบสนอง
นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า ประชาชนต้องการให้ชะลอ กระบวนการร่าง พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ ประชาชนที่มารวมตัวกันในวันนี้ จะปักหลักอยู่ข้างทำเนียบรัฐบาล จนกว่าข้อเรียกร้องที่ต้องการจะได้รับการตอบรับอันเป็นที่น่าพอใจ
“ที่เลวร้ายคือ หลังจากที่ร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่ชั้นกฤษฎีกา ก็ไปเพิ่มกิจการบางประเภท เช่น กิจการด้านพลังงาน โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา โรงไฟฟ้าอะไรต่างๆ ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตในประเทศไทยเข้าไปประมูล รวมไปทั้งพวกสัมปทานขุดเจาะต่างๆ จะถูกยกเว้น โดยไม่จำเป็นต้องผ่านความเห็นชอบ โดยประมูลก่อนได้เลย ซึ่งเราคิดว่าอันนี้เป็นการทำลายหลักการการมีส่วนร่วมของประชาชน” นายเลิศศักดิ์กล่าว
“หนึ่งต้องการขอให้หยุดการพิจารณาร่างฉบับนี้ก่อน ถึงแม้ ครม.จะส่งร่างนี้ไป สนช. แล้วก็ตาม แต่เราคิดว่า ครม.มีอำนาจเต็ม ยังไงก็ขอให้ชะลอไว้ก่อน สองคือ เราเห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายสิ่งแวดล้อม แต่ขอให้แก้ไขทั้งฉบับ ไม่ใช่แค่แก้หมวดใดหมวดหนึ่ง เพื่อจะเอื้อกับการลงทุนโดยไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากเกินไป สาม คือ ขอให้ตั้งคณะทำงานร่วม ภาครัฐกับภาคประชาชน เพื่อดูรายมาตราว่า กฎหมายควรแก้อะไรบ้าง” นายเลิศศักดิ์กล่าวเพิ่มเติม
เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเดินทางมาที่ทำเนียบรัฐบาลกว่า 40 คน ในวันพุธนี้ ประกอบด้วยประชาชนจากหลายภูมิภาค ซึ่งคัดค้านโครงการของรัฐที่เชื่อว่าจะสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่น เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา โรงไฟฟ้าถ่านหิน และท่าเทียบเรือถ่านหินคลองรั้ว จ.กระบี่ เหมืองแร่โปรแตซ จ.ชัยภูมิ โรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล จ.สกลนคร เป็นต้น
ในระหว่างการรวมตัวกันบริเวณหน้าสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ริมถนนพิษณุโลก ข้างทำเนียบรัฐบาล มีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบรักษาความปลอดภัยรอบบริเวณกว่า 150 นาย โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาเจรจากับเครือข่ายฯ เพื่อให้ชุมนุมโดยสงบ และไม่กีดขวางการจราจรบนถนน
กลุ่มชมรมนักวิชาการหนุนสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน
ในวันเดียวกัน กลุ่มชมรมนักวิชาการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เนื่องจากเชื่อว่าจะเป็นแนวทางรองรับความต้องการไฟฟ้าของภาคใต้ในอนาคต
นายภิญโญ มีชำนะ อดีตหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะตัวแทนกลุ่มชมรมนักวิชาการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า ตนเองและนักวิชาการรวม 43 คน ได้ศึกษาดูงานในหลายประเทศทำให้เห็นว่า การสร้างโรงไฟฟ้าจะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามที่ประชาชนเข้าใจ
“ไปดูงานมาแล้วทั่วโลก ไม่เคยได้รับข้อมูลถึงกรณีการเจ็บป่วยร้ายแรง หรือการสูญเสียชีวิตอันเนื่องมาจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาดอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด ในประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน... ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ริมทะเลเช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าเทพา ผลิตไฟฟ้าต่อเนื่องมานานกว่า 10 ปี และไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใดๆเลยว่า ได้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพต่อประชาชน” นายภิญโญกล่าว
เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 ที่ประชุม สนช. ได้รับร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อม จากคณะรัฐมนตรี(ครม.) มาเพื่อพิจารณา โดย ร่าง พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ ฉบับนี้ เป็นการแก้ไขเนื้อหาบางส่วนจาก พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ พ.ศ. 2535 ซึ่งมีบางมาตราไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560
อย่างไรก็ตาม เนื้อหาบางส่วนของ ร่าง พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ ฉบับใหม่นี้ ถูกวิพากษ์-วิจารณ์จากภาคประชาชน และนักวิชาการว่า มีเนื้อหาเอื้อกลุ่มทุนโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม และไม่เอื้อให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมตัดสินใจ และไม่มีการแก้ไขกระบวนการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(EHIA) ซึ่งมีสร้างปัญหาให้กับหลายโครงการในอดีตที่ผ่านมา