รัฐเริ่มจ่ายเงินช่วยเหลือชาวสวนยางทั่วประเทศรอบแรก 1.9 หมื่นรายแล้ว

มารียัม อัฮหมัด
2018.12.28
ปัตตานี
181228-TH-rubber-farmer-800.jpg นางสายทอง การะเกตุ ชาวสวนยางในตำบลตาชี อำเภอยะหา จังหวัดยะลา ออกกรีดยาง วันแรกหลังจากฝนตกมาต่อเนื่องหนึ่งเดือนกว่า วันที่ 22 ธันวาคม 2561
มารียัม อัฮหมัด/เบนาร์นิวส์

รัฐบาลได้เริ่มจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับเจ้าของสวนยางและคนกรีดยาง รวม 1.9 หมื่นราย ทั่วประเทศแล้วในวันศุกร์นี้ โดยมีชาวสวนยางในห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มียะลา นราธิวาส ปัตตานี สงขลา และสตูล รวมอยู่ด้วย ซึ่งการช่วยเหลือรอบแรกนี้ใช้งบประมาณราว 161 ล้านบาท

สืบเนื่องจากเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการมาตรการช่วยเหลือชาวสวนยาง ในวงเงิน 18,604.95 ล้านบาท จ่ายเป็นเงิน 1,800 บาทต่อไร่ แต่ไม่เกินรายละ 15 ไร่ แบ่งจ่ายให้เจ้าของสวนยาง 1,100 บาท และคนกรีด 700 บาท ซึ่งต้นเดือนธันวาคม 2561 การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้ทำการตรวจสอบเอกสารสิทธิ์เจ้าของสวนยาง และคนกรีดยาง ก่อนจะได้ดำเนินการให้มีการจ่ายเงินรอบแรกระหว่างวันที่ 27-29 ธันวาคม 2561 นี้แก่ชาวสวนยาง 10 เปอร์เซ็นต์แรกของผู้ยื่นคำร้องเข้าร่วมโครงการทั้งหมดกว่า 1.9 แสนราย

นายสุนันท์ นวลพรหมสกุล รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวต่อสื่อมวลชนว่า การนำร่องจ่ายเงินรอบแรก เป็นการจ่ายเงินให้เกษตรกรชาวสวนยาง ทั้งที่เป็นเจ้าของสวนยาง ผู้เช่าสวนยาง ผู้ทำสวนยาง และคนกรีดยาง ผ่านบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พร้อมกันทั่วประเทศ รวม 17 จังหวัด มียอดเงินรวมทั้งสิ้นกว่า 161.5 ล้านบาท โดยจ่ายให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางรอบแรกนี้กว่า 19,000 ราย

“รอบแรก เจ้าของสวนยาง 1,100 บาทต่อไร่ 9,740 ราย เจ้าของสวนยางกรีดเอง 700 บาทต่อไร่ 7,965 ราย และคนกรีดยาง 700 บาทต่อไร่ 1,313 ราย จังหวัดสงขลาถือเป็นพื้นที่ซึ่งมีเกษตรกรได้รับเงินสนับสนุนจากโครงการฯ สูงที่สุดในรอบแรก เป็นเงินกว่า 62 ล้านบาท” นายสุนันท์ กล่าว

“การจ่ายเงินสนับสนุนให้ในวันนี้เป็นเพียงการเริ่มนำร่องเท่านั้น เกษตรกรชาวสวนยางรายอื่นๆ สามารถตรวจสอบรายชื่อ และแจ้งสิทธิ์ขอเข้าร่วมโครงการฯ ได้ ณ ที่ทำการหมู่บ้าน และจุดที่แต่ละชุมชนกำหนดทั่วประเทศ ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562” นายสุนันท์ กล่าวเพิ่มเติม

ด้านนายสุรชัย บุญวรรโณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขต ด้านควบคุมและติดตาม รักษาการแทนผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย เขตภาคใต้ตอนล่าง ระบุว่า รอบแรกจะจ่ายเงินให้กับชาวสวนยางในจังหวัดสงขลาราว 7 พันราย และยะลา 1.2 พันราย

“การยางแห่งประเทศไทย จังหวัดสงขลา สามารถจ่ายเงินเข้าบัญชีเกษตรกรชาวสวนยางได้ 3,609 ราย และคนกรีดยาง 3,583 ราย เป็นเงินทั้งสิ้น 62,802,456 บาท จังหวัดยะลา มีเกษตรกรชาวสวนยางที่มีสิทธิ์แจ้งเข้าร่วมโครงการจำนวน 32,762 ราย เกษตรกรกลุ่มแรก ที่ได้รับโอนเงินเข้าบัญชีแล้ว 1,194 ราย เป็นเงินรวม 22,350,000 บาท เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่” นายสุรชัย กล่าว

โดยนายสุรชัย ระบุว่า ปัญหาที่พบในการดำเนินโครงการ คือ มีการร้องเรียนจากเกษตรกรบางรายว่า ไม่มีชื่ออยู่ในโครงการ หรือมีข้อมูลคลาดเคลื่อน ซึ่งปัญหาดังกล่าว เกษตรกรสามารถยื่นเรื่องร้องเรียนเพื่อให้ กยท. ตรวจสอบได้ที่สำนักงาน กยท. ในพื้นที่ซึ่งเกษตรกรอยู่อาศัย

ด้าน นายประสาท ตรีรัตน์ หัวหน้ากองส่งเสริมและพัฒนายาง ปฏิบัติหน้าที่แทน ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย จังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า การยางแห่งประเทศไทย จังหวัดนราธิวาส มีเป้าหมายว่าจะจ่ายเงินให้กับ เจ้าของสวน และคนกรีดยาง 49,185 ราย หรือ 65,460 แปลง แต่แบ่งจ่ายในรอบแรก 1.1 พันรายก่อน

“พื้นที่จังหวัดนราธิวาส ชุดแรก แยกเป็นเจ้าของสวน 558 ราย เป็นเงิน 4,630,934 บาท คนกรีดยาง 581 ราย เป็นเงิน 2,942,985บาท  ส่วนเกษตรกรที่ได้ยื่นเข้าร่วมโครงการฯไว้แล้ว หลังปีใหม่ทาง กยท.นราธิวาส จะมีการเร่งรัดจ่ายเงินให้กับเกษตรกรอย่างต่อเนื่องต่อไป” นายประสาท กล่าว

ขณะที่ นายพงศ์เทพ ไข่มุกด์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า จังหวัดปัตตานี มีเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนเข้าร่วมโครงการ 22,123 ราย ยืนยันการขอรับสิทธิ์แล้ว 8,419 ราย ส่งข้อมูลให้กับ ธกส. แล้ว 439 ราย คิดเป็นเนื้อที่ 2,730.67 ไร่

ต่อโครงการนี้ นางสายทอง การะเกตุ ชาวสวนยางจากอำเภอยะหา จังหวัดยะลา เปิดเผยว่า รู้สึกพอใจกับการช่วยเหลือของรัฐบาลในครั้งนี้ เนื่องจาก ปัจจุบัน ชาวสวนยางพาราต้องเผชิญกับปัญหาราคายางตกต่ำมาเป็นเวลานาน

“ทุกวันนี้ราคายางตกต่ำมาก รัฐบาลช่วยเหลือชาวสวนยางโดยการจ่าย 1,800 บาท ก็ถือว่าดี แต่จะยิ่งดีถ้าช่วยดันราคายางให้ดีกว่านี้ เพราะถ้าราคายางดี ทุกคนจะได้รับประโยชน์เท่าๆกัน” นางสายทอง กล่าว

ในปัจจุบัน ประเทศไทย มีเจ้าของสวนยางเปิดกรีดที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับการยางแห่งประเทศไทย ทั้งหมด 999,065 ราย คนกรีดยางจำนวน 304,266 ราย เป็นพื้นที่เปิดกรีดรวมประมาณ 10,039,672.29 ไร่ มาตรการช่วยเหลือครั้งนี้ ใช้งบประมาณ 18,604.95 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณที่จ่ายให้ชาวสวนยาง และคนกรีด 18,071.41 ล้านบาท งบประมาณชดเชยต้นทุนเงินให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 393.05 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ และค่าธรรมเนียมโอนเงิน ธ.ก.ส. ให้เจ้าของ และคนกรีดยาง 13.98 ล้านบาท และงบบริหารโครงการ 126.50 ล้านบาท โดยงบบริหารจัดการนี้จะใช้จากกองทุนพัฒนายางพารา ตามนัยมาตรา 49(3) แห่ง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง