ศปมผ.ตั้งคณะทำงานรื้อถอนเครื่องมือทำการประมงผิดกฎหมายในเขตจังหวัดชายทะเล

นาซือเราะ
2015.08.31
TH-Fisheries-620 กลุ่มผู้ประกอบการเรือประมงและชาวประมง จ.ปัตตานี กว่า 300 คน ร่วมกันประชุมวิสามัญ กับหน่วยราชการ ห้องประชุมสมาคมประมงปัตตานี ท่าเทียบเรือ ต.บานา อ.เมือง จ.ปัตตานี เมื่อ 31 สิงหาคม 2558
เบนาร์นิวส์

วันที่ 31 ส.ค. 2558 ที่ห้องประชุมสมาคมประมงปัตตานี ท่าเทียบเรือ ต.บานา อ.เมือง จ.ปัตตานี กลุ่มผู้ประกอบการเรือประมงและชาวประมง จ.ปัตตานี กว่า 300 คน ร่วมกันประชุมวิสามัญ กับหน่วยราชการ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาของชาวประมง หลังได้รับความเดือดร้อน จากคำสั่งประกาศให้หยุดทำการประมง ตามวันและเวลาที่รัฐกำหนด และ เรื่องหนี้สินชาวประมง รวมทั้งเรื่องทิศทางการประมง

นายภูเบศ จันทนิมิ ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และประธานสมาคมประมง จ.ปัตตานี กล่าวว่า ประชาชนผู้ประกอบการอาชีพประมง ของ จังหวัดปัตตานี ส่วนใหญ่ อยู่ใน อ.เมือง อ.หนองจิก อ.ยะหริ่ง อ.ปะนาเระ อ.ไม้แก่น และ อ.สายบุรี ซึ่งในอนาคต ศูนย์ท่าเทียบเรือปัตตานี จะตัดรายชื่อเรือประมงของปัตตานี จำนวน 777 ลำ ออกจากสารบบท่าเทียบเรือ เนื่องจากเป็นเรือผิดกฎหมาย และจะมีการจัดระเบียบเรือทั้งหมดใหม่ และมีการติดสติ๊กเกอร์ สำหรับเรือที่ถูกต้องตามกฎหมาย

“ส่วนการช่วยเหลือชาวประมง เรื่องการเยียวยา ยังอยู่ในช่วงการส่งเอกสารของชาวประมงที่เป็นหนี้ หลังจากมีการปรับปรุงเครื่องมือทำการประมง ตอนนี้ที่ยังมีปัญหา เรื่องที่ ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ได้กำหนดให้ เรือประมงอวนรุนที่ถูกกฏหมายทุกประเภทในฝั่งอ่าวไทย หยุดทำการประมง ระหว่างวันที่ 1-3, 11-13  และ 21-23 รวม 9 วัน ต่อเดือน และเรือประมงอวนลาก ฝั่งอ่าวไทย หยุดทำการประมง วันที่ 1-3 และ 11-12 รวม 5 วัน ต่อเดือน จะเริ่มดำเนินการ ตั้งแต่ ก.ย.- ต.ค.58 และได้กำหนดให้เรือประมง ต้องเข้าฝั่งพร้อมกัน แม้จะพยายามทำให้ถูกกฏหมาย แต่มาติดเรื่องของการหยุดการทำประมง เนื่องจาก เรือไม่สามารถจะเข้าออกและหยุด ตามที่ได้ประกาศไว้ และไม่เหมือนกับอาชีพอื่น ไม่สามารถกำหนดวันหยุดแห่งชาติให้ตรงกันทุกเดือนได้” นายภูเบศ กล่าว

นายสุรินทร์ นิธิวัฒนาสกุล ชาวประมง จ.ปัตตานี กล่าวว่า “การที่ชาวประมงต้องเข้าจอดเรือพร้อมกัน อาจทำให้เจอกับปัญหาท่าเทียบเรือรองรับไม่เพียงพอ อีกทั้ง ยังทำให้ปริมาณปลาที่ได้รับจากเรือประมงมีปริมาณสูง พ่อค้าคนกลางที่มารับซื้อปลา อาจกดราคาของปลา ทำให้ไม่สามารถจำหน่ายตามราคาที่เป็นจริง ซึ่งจะสร้างผลกระทบเสียหายต่อชาวประมง ทำให้พวกเขานัดจะรวมตัว เพื่อไปยื่นหนังสื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ในวันพรุ่งนี้ เพื่อให้ทางรัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือ และพิจารณาในการออกกฎหมายบังคับใช้”

นายสมศักดิ์ ศรีสุวรรณ ชาวประมง จ.ปัตตานี กล่าวว่า “เราเจอทางตันแล้วหลังจากต่อสู้ เพื่อทำให้เรือเราถูกกฎหมาย ติดหนี้ก็ยอม เสียเงินเพิ่มก็ยอม ทำทุกอย่าง แต่ล่าสุดมีคำสั่ง ให้เราหยุดเรือประมง ตามวันและเวลาตรงกันทุกเดือน จะส่งผลกระทบ อยากขอความเป็นธรรม ให้ฟังเราบ้าง อย่าฟังแต่นักวิชาการเท่านั้น”

"หากต้องหยุดตามที่กำหนดมา กล่าวคือ ในหนึ่งเดือน ประมงอวนรุนต้องหยุด 15 วัน แม้จะกำหนดให้หยุดเพียง 9 วัน แต่จะต้องเสียเวลา ในช่วงของเรือเข้าเรือออกอีก บางช่วงอาจเจอพายุ อาจเจอน้ำเสีย ของเสียอีก คิดแล้วมีแต่จะต้องติดหนี้เพิ่ม รัฐบาลบอกว่า ขอทดลองใช้ 3 เดือน ในช่วงเวลา 3 เดือนนี้ ถ้าออกเรือไปจะต้องขาดทุนเป็นล้าน เห็นใจพวกเราบ้าง อย่าปิดทางทำมาหากินของชาวประมงด้วยวิธีนี้เลย เพราะผลกระทบจะเกิดกับคนหลายกลุ่ม ไม่ใช่แค่ชาวประมงอย่างเดียว"

เมื่อวันเสาร์ที่ 29 ส.ค. 2558 ที่ผ่านมา ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย แต่งตั้งคณะทำงานรื้อถอนเครื่องมือทำการประมงผิดกฎหมายในเขตจังหวัด เพื่อให้มีการปฏิบัติการรื้อถอนเครื่องมือทำการประมงผิดกฎหมายในเขตจังหวัดชายทะเล ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 24 /2558 ลงวันที่ 5 ส.ค. 2558 ของคำสั่งความสงบแห่งชาติ ที่ 10/2558 ลงวันที่ 29 เม.ย.58 เรื่องการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานรื้อถอนเครื่องมือการทำประมงที่ผิดกฎหมายในเขตจังหวัดชายทะเล

คณะทำงานมีจังหวัดละ 15 คน ประกอบด้วย 1. ผู้ว่าราชการ 2. รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล 3. ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด 4. ปลัดจังหวัด 5. ป้องกันจังหวัด 6. ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค 7.ผู้อำนวยการศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 8. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 9. ผู้กำกับการกองกำกับการตำรวจน้ำ 10. นายอำเภอ 11. นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด 12. นายกเทศมนตรี 13. นายกองค์การบริหารส่วนตำบล 14. หัวหน้าศูนย์บริหารจัดการประมงทางทะเล 15. ประมงจังหวัด

โดยมีอำนาจและหน้าที่ในการประชาสัมพันธ์ สำรวจ และประกาศ แจ้งให้ผู้ที่ใช้ หรือมีไว้ครอบครอง เครื่องมือผิดกฎหมายตามคำสั่ง คสช. นับตั้งแต่วันที่ได้แจ้ง เป็นเวลา 7 วัน เพื่อให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองเครื่องมือทำการประมงดำเนินการรื้อถอนเครื่องมือที่ผิดกฎหมาย หากเจ้าของเครื่องมือไม่ดำเนินการรื้อถอน พนักงาน หรือเจ้าหน้าที่สามารถทำการรื้อถอนได้

นายวัชรินทร์ รักษ์ยอดจิตร ประมงจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า จากการออกคำสั่งแต่งตั้งเจ้าหน้าที่รื้อถอนเครื่องมือผิดกฎหมาย ส่งผลให้ชาวประมงที่ใช้เครื่องมือผิดกฎหมาย รู้สึกเดือดร้อน จึงได้รวมตัวกัน 100 คน ยื่นหนังสือโดยผ่าน นายเถลิงศักดิ์ ยกศิริ รองผู้ว่าราชการ จังหวัดปัตตานี เพื่อขอความเป็นธรรมจากรัฐบาล และหามาตรการ ช่วยเหลือชาวประมงในพื้นที่ จ.ปัตตานี ให้สามารถทำมาหากินเลี้ยงครอบครัวได้เป็นปกติ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง