เจ้าหน้าที่จับเรือประมงอวนลากคู่ ผิดกฎหมายสองลำ เครื่องมือผิดกฎหมายลอบพับ 50 ลูก ที่ปัตตานี
2015.09.15
วันนี้ ที่ 15 ก.ย. 2558 นาวาโทมงคล อุปถัมภ์ หัวหน้าศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-แจ้งออกเรือประมง (ศูนย์ PIPO) จังหวัดปัตตานี นายวัชรินทร์ รักษ์ยอดจิต ประมงจังหวัด นายภูเบศ จันทนิมิ นายกสมาคมประมงแห่งประเทศไทย และ นายกสมาคมประมง จ.ปัตตานี ร่วมประชุมชี้แจงแก่ชาวประมงกว่า 300 คน กรณี คำสั่ง ศปมผ. ฉบับที่ 15/2558 ออกเมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2558 กําหนดเงื่อนไข ในการห้ามมิให้บุคคลใดใช้หรือมีไว้ในครอบครอง เพื่อใช้ซึ่งเครื่องมือทําการประมงบางชนิด ทําการประมงในที่จับสัตว์น้ำในเวลาที่กําหนด (เพิ่มเติม) ตามที่ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ฉบับที่ 14/2558 ลงวันที่ 26 ส.ค. 2558 ห้ามมิให้บุคคลใดใช้หรือมีไว้ในครอบครอง เพื่อใช้ซึ่งเครื่องมือทําการประมงบางชนิด ทําการประมงในที่จับสัตว์น้ำในเวลาที่กําหนด
ปรับช่วงเวลา ในการห้ามจับสัตว์น้ำ
ซึ่งวันเวลาที่กำหนดนั้นยังไม่สอดคล้อง กับการทำประมง จึงเห็นควรปรับช่วงเวลา ในการห้ามจับสัตว์น้ำใหม่ ศปมผ. จึงได้ประกาศยกเลิกคำสั่งฉบับ 14/2558 และ ได้ประกาศใช้คำสั่ง ฉบับที่ 15/2558 ให้อวนลากปรับวันหยุดทำการประมงจากเดิมวันที่ 1-3 และ 11-12 ของทุกเดือน เป็น วันที่ 1-3 และ 16-17 ของทุกเดือน โดย อวนล้อมจับ-ฝั่งอ่าวไทย บังคับหยุด 9 วัน จากเดิมวันหยุด 1-3, 12-13 และ 21-23 ของทุกเดือน เป็นวันขึ้น 11-15 ค่ำ และแรม 1-4 ค่ำ อวนล้อมจับ –ฝั่งอันดามัน หยุด 5 วัน จากเดิมวันหยุด 1-3 และ 11-12 เป็นวันขึ้น 13-15 ค่ำ และแรม 1-2 ค่ำ
ด้านนายภูเบศ จันทร์นิมิต นายกสมาคมประมงปัตตานีแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมประมง จ.ปัตตานี กล่าวว่า “คำสั่ง ศปมผ. ฉบับที่ 15/2558 เขายังยืนยันว่าจะขอทดลองใช้ มาตรการเดิม มีเพียงขยับเรื่องวันหยุด ให้เป็นไปตามสภาพแวดล้อมการทำประมงที่แก้ไข แต่เขายังยืนยันที่จะทดลอง ในการใช้มาตราเดิม 3 เดือน อย่างต่อเนื่อง ถามว่า 3 เดือนที่มีการทดลอง สำหรับชาวประมง ต้องเสียหายเท่าไหร่แล้ว อยากขอให้เห็นใจบ้าง”
จากคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 10/2558 ห้ามมิให้เรือประมงผิดกฎหมายทำการประมง ได้แก่ เรือที่ไม่มีทะเบียน เรือไม่มีใบอนุญาตใช้เรือ ใบอนุญาตทำการประมงที่ไม่ถูกต้องตรงกับเครื่องมือที่ใช้ การใช้แรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งผลกระทบจากคำสั่งดังกล่าว ทำให้เรือประมงรวม 2658 ลำ หยุดทำการประมงทันที ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2558 และคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 24/2558 มีผลให้เรือประมง และชาวประมงทั่วประเทศ ที่อยู่ติดกับทะเล ต่างได้รับความเดือดร้อนกันอย่างท้วนหน้า
เสนอขอชดเชยรายได้ และค่าครองชีพ
“สมาคมประมงแห่งประเทศไทย ได้ยื่นข้อเสนอไปให้ ศปมผ. แล้ว ขอให้ช่วย ชดเชยรายได้ในการทำการประมง เป็นค่าแรงงาน ในขณะที่รอเปลี่ยนเครื่องมือวันละ 300บาท ค่าอาหารลูกเรือ วันละ70 บาท ค่าเช่าที่จอดเรือ และค่าไฟฟ้า วันละ 200 บาท ค่าครองชีพของครอบครัว วันละ1500 บาท ค่าแรงงานคนเฝ้าวันละ 300 บาท โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่หนึ่ง มีใบอนุญาตทำการประมง เรือประมงขนาด 10 ตันกรอส วันละ 2200 บาท เรือประมงขนาด10-30 ตันกรอส วันละ 3200 บาท เรือประมงขนาด 30-60 ตันกรอส วันละ 3900 บาท เรือประมงขนาด 60 ตันกรอส วันละ 4690 บาท และกลุ่มที่สอง ไม่มีใบอนุญาตทำการประมง เรือลากคู่ผิดกฎหมาย วันละ 2640 บาท เรือประมงอื่นๆ วันละ 2070 บาท”
ยืนยันทำตามหน้าที่ จับเรือประมง และเครื่องมือผิดกฎหมาย
นายวัชรินทร์ รักษ์ยอดจิตร ประมงจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า “ที่ผ่านมาประมงจังหวัดได้ทำหน้าที่มาโดยตลอด ล่าสุดมีความเข้มข้นมากขึ้น จนทำให้ต้องมีการจับกุม และดำเนินคดี เรือประมง อวนลากคู ที่ทำผิดกฎหมาย ตามคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 24/2558 จำนวน 2 ลำ และ ลอบพับหรือไอ้โง่ จำนวน 50 ลูก”
“สำหรับเรือประมงที่จับได้ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2558 เจ้าหน้าที่สามารถจับกุม เรือปธีรวัฒน์ 7 และ เรือปธีรวัฒน์ 5 พร้อมลูกเรือ 17 คน บริเวณเขตปากอ่าว อ. ยะหริ่ง จ. ปัตตานี ขณะนี้ได้แจ้งข้อกล่าวหา ทั้ง 17 คนแล้ว ตามคดีอาญาที่ 248/58 บัญชีของกลางที่ 222/58 โดยข้อกล่าวหาที่ 1. ร่วมกันใช้เครื่องมืออวนลากคู่ประกอบเรือยนต์ทำการประมง โดยมิได้เป็นไปตามขนาด ชนิด และจำนวน ที่ไม่มีใบอนุญาต “อาชญาบัตรอวนลากคู่” ถือเป็นการฝ่าฝืนประกาศตามคำสั่งคสช. ข้อกล่าวหาที่ 2. ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ที่ 10/2558 เรื่องการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ของศูนย์ PIPO ”