วันอังคารที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2558 ที่บ้านแหลมนก ต.บานา อ.เมือง จ.ปัตตานี กลุ่มผู้ประกอบการเรือประมงประเภทอวนล้อมจับ และเรือประมงอวนชั่ง ในพื้นที่อ่าวปัตตานี จำนวนประมาณ 120 คน รวมตัวกัน หารือกรณีปัญหาและผลกระทบของชาวประมง หลังจากคำสั่ง ของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และชาวประมงบางรายเดือดร้อนอย่างหนัก จนต้องหนีปัญหาด้วยการฆ่าตัวตาย
นายสุรพงษ์ วงครุฑ ไต้ก๋งเรืออวนรุนผูกคอตาย เพราะความเครียด และกดดันปัญหาหนี้สินที่ครอบครัวได้รับความเดือดร้อน หลังจากต้องหยุดออกทำการประมงเป็นเวลาเกือบสามเดือนแล้ว ประกอบกับมีโรคประจำตัวแทรกซ้อนเข้ามา เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2558 ที่ผ่านมา ล่าสุดทางครอบครัว ได้ทำพิธีอภิธรรมศพ ที่วัดหลักเมือง อ. เมือง จ. ปัตตานี จากนั้นกลุ่มผู้ประกอบการเรือประมงทั้งหมด ได้รวบรวมเงินร่วมบริจาคกว่า 24,200 บาท มอบให้ครอบครัวผู้เสียชีวิต เพื่อช่วยเหลือในเบื้องต้นอีกด้วย
สำหรับการรวมตัวหารือของกลุ่มผู้ประกอบการเรือประมงครั้งนี้ สมาชิกที่เข้าร่วมทั้งหมดเห็นว่า จะยังคงทำหนังสือเรียกร้องรัฐบาล ให้ช่วยเหลือแก้ปัญหา โดยเฉพาะ กรณีวันหยุดเรือ ในการออกทำการประมง จำนวน 9 วันต่อหนึ่งเดือน แม้คำสั่งที่ 14/2558 บางข้อถูกปรับแล้วเรื่องกำหนดเงื่อนไขในการห้ามมิให้บุคคลใดใช้หรือมีไว้ครอบครอง เพื่อใช้เครื่องมือทำการประมงบางชนิดทำการประมงในการที่จับสัตว์น้ำในเวลา ที่กำหนด ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบกับผู้ทำการประมง และผู้ประกอบการประมง และให้ใช้ คำสั่งที่ 15/2558 ลงวันที่ 26 ส.ค. 2558 แทนก็ตาม
ปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมง ยังคงมีอยู่จากผลกระทบ อาทิ ขาดรายได้ในการเลี้ยงชีพและครอบครัว และค่าใช้จ่ายของเรือประมงแต่ละวัน
โดยจะทำหนังสือเรียกร้องผ่าน นายภูเบศ จันทะนิมิ นายกสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยและนายกสมาคมการประมง จ.ปัตตานี เพื่อยื่นต่อศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ต่อไป เนื่องจาก ศปมผ.มีคณะทำงานกฎหมาย เพื่อจัดทำกฎหมายการประมงฉบับใหม่ ทั้งมีหน้าที่รายงานความก้าวหน้า และติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ด้วย
ตามคำสั่ง ศปมผ. ล่าสุด ฉบับที่ 15/2558 ออกวันที่ 7 ก.ย. 2558 กําหนดเงื่อนไข ในการห้ามมิให้บุคคลใดใช้ หรือมีไว้ในครอบครอง เพื่อใช้ซึ่งเครื่องมือทําการประมงบางชนิด ทําการประมงในที่จับสัตว์น้ำในเวลาที่กําหนด (เพิ่มเติม) ตามที่ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ฉบับที่ 14/2558 ลงวันที่ 26 ส.ค. 2558 ห้ามมิให้บุคคลใดใช้หรือมีไว้ในครอบครอง เพื่อใช้ซึ่งเครื่องมือทําการประมงบางชนิด ทําการประมงในที่จับสัตว์น้ำในเวลาที่กําหนด
ด้าน นายชิต ศรีกล่ำ กรรมการสมาคมประมงปัตตานีกล่าวว่า “การรวมตัวของกลุ่มผู้ประกอบการในวันนี้ เพื่อหารือ และพูดคุยถึงมาตรการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนที่ยังเกิดขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่องกับชาวประมง ต่อมาตนได้ออกมาทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการเรือประมง ทุกคนเข้าใจปัญหา และพร้อมยอมรับสถานการณ์ เพียงขอให้สามารถขยับได้บ้างเท่านั้น ก็ทำให้บรรยากาศในการหารือเป็นไปอย่างปกติ”
“สถานะของชาวประมงชายฝั่งภาคใต้สถานการณ์ปัจจุบัน”
เช้าวันเดียวกัน ที่โรงแรมปาร์ควิว รีสอร์ท อ. เมือง จ. ปัตตานี นายเถกิงศักดิ์ ยกศิริ รองผู้ว่าราชการ จ. ปัตตานี เป็นประธานเปิดงาน สัมมนาเชิงปฏิบัติการต่อ “สถานะของชาวประมงชายฝั่งภาคใต้สถานการณ์ปัจจุบัน” พร้อมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบอาชีพประมง ผู้ มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชีพประมง เพื่อนำข้อมูลเสนอต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ ในการกำหนดเกณฑ์การแก้ปัญหาของผู้ประกอบอาชีพการประมงพื้นบ้านในอนาคต ภายในงานมี นายสิทธิพร จริยพงศ์ รองประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ นายยูโซ๊ะ อาเก๊ะ ประธานสภาเกษตรกร จ.ปัตตานี หัวหน้าส่วนราชการ และชาวประมงในพื้นที่ จ. ปัตตานี กว่า 500 คน เข้าร่วมสัมนา
นายเถกิงศักดิ์ ยกศิริ รองผู้ว่าราชการ จ.ปัตตานี กล่าวว่า “การประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาชาวประมงจำนวนมากได้รับผลกระทบจากคำสั่ง โดยเฉพาะเรือประมงพื้นบ้าน ที่นำเครื่องมือทำการประมงที่ผิดกฎหมายออกมาทำการจับสัตว์น้ำ ทำให้ชาวประมงจำนวนมากไม่กล้าที่จะออกเรือหาปลา ทำให้ต้องหยุดเรือ ส่งผลกระทบต่อรายได้ที่จะนำมาเลี้ยงครอบครัว การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อต้องการทราบปัญหาจากประมงพื้นบ้าน เพื่อสะท้อนปัญหาและเสนอแนะ และความต้องการของชาวประมง เพื่อหาทางช่วยเหลือเยียวยา”
ด้าน นายซาบะ ยาแม ชาวประมงพื้นบ้านรอบอ่าวปัตตานี กล่าวว่า “ตลอดเวลาที่ผ่านมา หลังจาก มีการประกาศใช้คำสั่ง คสช. และคำสั่งอีกหลาย ๆ ตัว ชาวประมงพื้นบ้านใน จ.ปัตตานี ทั้ง 6 อำเภอ ที่ทำการประมงรอบอ่าว ไม่กล้าที่จะออกไปหาปลาทำการประมงเพราะกลัวจะทำผิดกฎหมาย รับข้อกล่าวหาและบทลงโทษไม่ไหว เพราะโดยปกติแล้วคนในพื้นที่ไม่ค่อยมีความรู้ด้านกฎหมาย ประกอบกับเจ้าหน้าที่รัฐ ก็ไม่ได้เข้ามา ทำความเข้าใจ อธิบายรายละเอียด ของคำสั่งตามกฎหมาย จึงต้องหยุดออกเรือก่อน ทำให้ได้รับความเดือดร้อน ขาดรายได้กันทุกคน”