ชาวเรือประมงลากข้าง ปิดอ่าวปัตตานีบางส่วนเพื่อเรียกร้องพื้นที่ประมง

นาซือเราะ
2015.10.06
TH-fisheries-620 ชาวประมงอวนลากข้างกว่า 100 ลำ ผูกโยงเรือปิดเส้นทางสัญจรแม่น้ำปัตตานี เรียกร้องพื้นที่ทำกิน เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2558
เบนาร์นิวส์

ในวันอังคาร (6 ตุลาคม 2558) ชาวประมงเรือขนาดเล็กกว่าราว 150 ลำ ได้นำเรือประมงมาจอดปิดร่องน้ำปัตตานี ที่บริเวณหน้าศูนย์บริหารจัดการประมงทะเลปัตตานี และท่าเทียบเรือปัตตานี  เพื่อประท้วงความเข้มงวดของทางราชการ ที่มีมาตรการออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported, Unregulated Fishing) ของสหภาพยุโรป จนไม่สามารถออกหาปลาได้มานานเป็นเวลาสามเดือน

ด้านนายอับดุลเลาะ กาซอ แกนนำชาวประมงเรือลากข้าง ปัตตานี กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานับสิบปี ชาวเรือประมงเรือลากข้างได้รับความเดือดร้อนมาก เพราะทางจังหวัดไม่เคยให้ ชาวประมงเรือลากข้างได้ขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย และยิ่งเดือดร้อนหนักเมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ประกาศ คำสั่ง ฉบับที่ 24/2558 ทำให้ต้องหยุดออกหาปลามาเป็นเวลา 3 เดือนแล้ว

“เราเลยต้องมาปิดร่องน้ำครั้งนี้ เพื่อยื่นข้อเสนอ 6 ข้อ คือ 1. ขอพื้นที่ทำกิน 2. จะช่วยป้องกันไม่ให้เรืออื่นเข้ามาในเขตพื้นที่ 3. พวกชาวประมงสัญญาจะไม่เพิ่มจำนวนเรือ 4. ลำไหนที่ออกจากพื้นที่ที่กำหนดเจ้าหน้าที่จะจัดการโดยเด็ดขาด 5. รวบรวมรายชื่อผู้ประกอบการประมงอวนลากเล็กส่งประมงจังหวัด และ 6. ห้ามเรือประมงอวนลากพาณิชย์ เข้ารุกล้ำภายในเขตเรือประมงอวนลากเล็กโดยเด็ดขาด” นายอับดุลเลาะ กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว

“ถ้าหากไม่มีข้อยุติ ก็พร้อมจะปิดปากอ่าวอย่างต่อเนื่อง” นายอับดุลเลาะ กล่าว และยังอธิบายเพิ่มเติมต่อไปว่า “เคยยื่นข้อเรียกร้องถึงผู้ว่าราชการจังหวัดมาตลอด แต่ไม่เคยได้ผลเรื่องเงียบหาย พอมาเมื่อวานหลังจากได้ประกาศออกไปว่าจะมาปิดอ่าว ทางจังหวัดได้ส่งเจ้าหน้าที่มาคุยเพื่อขออย่าให้มีการปิดอ่าว แต่ก็ถามว่าเมื่อเราหยุดเรียกร้อง ปัญหาของพวกเราจะถูกแก้ไขหรือไม่ มีทางออกที่พอให้พวกเราสามารถทำมาหากินเลี้ยงครอบครัวได้บ้างไหม”

จากการประกาศคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 10/2558 ที่มีการห้ามมิให้เรือประมงผิดกฎหมายทำการประมง ซึ่งได้แก่ เรือที่ไม่มีทะเบียน เรือไม่มีใบอนุญาตใช้เรือ ใบอนุญาตทำการประมงที่ไม่ถูกต้องตรงกับเครื่องมือที่ใช้ การใช้แรงงานผิดกฎหมาย ได้มีผลกระทบ ทำให้เรือประมงรวม 2,658 ลำ ต้องหยุดทำการประมงทันที ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2558

และหลังจากการตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ก็ได้มีมาตรการต่างๆ ออกมา โดยเฉพาะการห้ามใช้เครื่องมือการประมงที่มีผลกระทบต่อสัตว์น้ำหลายๆ ประเภท ทั้งที่ใช้โดยเรือประมงระดับอุตสาหกรรมและที่ใช้กับเรือประมงพื้นบ้านขนาดเล็ก

ทั้งนี้ เนื่องจากสหภาพยุโรป ได้ออกใบเหลืองให้แก่ประเทศไทย เมื่อ 21 เมษายนปีนี้ และให้เวลา 6 เดือน และใกล้เวลาหมดอายุของใบเหลืองเข้ามาทุกที ในการเร่งรัดให้ปฏิบัติตามมาตรฐานเพื่อควบคุมการทำประมงผิดกฎหมาย การขาดการรายงานและไร้การควบคุม (Illegal, unregulated, and unreported หรือ IUU) มิฉะนั้น อาจโดนใบแดง ที่หมายถึงการงดนำเข้าสินค้าอาหารทะเลไปทางกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป จะมีการประเมินผลความพยายามในการจัดการและแก้ปัญหาในเดือนตุลาคม หากโดนใบแดง ประเทศไทยจะสูญเสียรายได้ 32,000 ล้านบาทต่อปี

ปฏิกิริยาจากจังหวัด

ต่อมา นายวีรนันท์ เพ็งจันทร์ รองผู้ว่าราชการ จังหวัดปัตตานี ได้นำคณะเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และหัวหน้าศูนย์บริหารจัดการประมงทะเลปัตตานี พูดคุยหารือแนวทางการแก้ปัญหากับแกนนำชาวประมงเรือลากข้าง จนทำให้ชาวประมงลากข้างยอมรับ และสามารถเปิดเส้นทางการจราจรทางน้ำได้บางส่วน

นายวีรนันท์ กล่าวว่า “วันนี้ ชาวประมงเรือลากข้างขนาดเล็ก ได้นำเรือมาปิดร่องน้ำบริเวณปากอ่าวปัตตานี ก็ได้ร่วมพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกัน ทำให้ชาวประมงยอมเปิดปากล่องน้ำบางส่วน คาดว่าพรุ่งนี้ หลังจากมีข้อสรุป จะมาคุยกันอีกครั้ง ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ทางจังหวัดพยายามหาทางออกให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่”

นายวัชรินทร์ รักษ์ยอดจิตร ประมงจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ที่เขามาเรียกร้องเพื่อขอพื้นที่ทำกิน ก็สืบเนื่องจากได้รับผลกระทบจากคำสั่งของ ศปมผ. ที่ไม่อนุญาตให้กลุ่มเรือประมงพื้นบ้านออกทำการประมงจากชายฝั่งไกลเกิน 5,400 เมตร ซึ่งเป็นข้อกฎหมายของกรมประมงอยู่แล้ว

นายวัชรินทร์ กล่าวต่อไปว่า เมื่อราชการทำการตรวจเข้มในการดูแลพื้นที่ ตามมาตรการ IUU เรือเหล่านี้ ที่ไม่มีอาชญาบัตร ผิดกฎหมาย ตามคำสั่ง ศปมผ. ทำให้เขาออกมาเรียกร้องโดยการกดดันเจ้าหน้าที่ เอาเรือมาปิดร่องน้ำ ก็ได้มีการพูดคุยกันแล้วว่า การเอาเรือมาจอดปิดร่องน้ำ ทำให้กลุ่มอื่นที่ใช้เส้นทางได้รับความเดือดร้อนด้วย

“มีการประชุมร่วมกัน ขอให้เปิดปากล่องเรือเพื่อให้สามารถสัญจรไปมาได้ แล้วจะมีการหารือกับหัวหน้า ศปมผ. ซึ่งคาดว่าบ่ายโมงของวันที่ 7 ต.ค. คือวันพรุ่งนี้ ชาวประมงจะได้รับคำตอบที่น่าพอใจ วันนี้ หลังจากพูดคุยกันชาวประมง ก็เลยยอมเปิดปากร่องน้ำ แต่ก็ยังมีเรือบางส่วนจอดอยู่บริเวณปากอ่าวปัตตานี เพื่อรอคำตอบในวันพรุ่งนี้”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง