ปัตตานีเตรียมตั้ง “สภาอ่าว” เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ
2018.05.07
ปัตตานี
ชาวประมงพื้นบ้าน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และจังหวัดปัตตานี ตกลงที่จะจัดตั้ง “สภาอ่าวปัตตานี” ขึ้นมาเพื่อส่งเสริมการทำประมงที่ยั่งยืนและฟื้นฟูสภาพอ่าวปัตตานี ที่ประสบกับความเสื่อมโทรมลงจากทั้งการทำการประมงโดยเหมาะสมและปัจจัยอื่นๆ
การบรรลุข้อตกลงดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งผศ.ดร.สุกรี หะยีสะแม รองคณบดี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มอ.ปัตตานี รศ.ดร.ชิชนก รอฮิมูลา คณะบดีคณะรัฐศาสตร์ ตัวแทนศูนย์วิจัยการพัฒนาประมงชายฝั่งปัตตานี และกลุ่มตัวแทนจากประมงพื้นบ้านรอบอ่าวปัตตานีด้านในและด้านนอก ได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาของอ่าวปัตตานี ในเวทีสานพลังประชารัฐปัตตานี ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม เพื่อฟื้นฟูอ่าวปัตตานีและทะเลหน้าบ้าน ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรม ซี.เอส. ในอำเภอเมือง ปัตตานี โดยมีนายวีระนันทน์ เพ็งจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี และนายลือชัย เจริญทรัพย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ฝ่ายเศรษฐกิจ ได้เข้าร่วมรับฟังการเสนอแนวทางด้วย
ผศ.ดร.สุกรี กล่าวว่า จากข้อมูลงานวิจัยที่ทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จัดทำขึ้นตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2545 ซึ่งเป็นช่วงที่อ่าวปัตตานีกำลังได้รับผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อม พบว่า จนถึงปัจจุบัน ทรัพยากรสัตว์น้ำบางอย่าง เริ่มหายไปจากอ่าวไปบ้างแล้ว จึงทำให้สะท้อนถึงปัญหาของอ่าวได้เป็นอย่างดี
"นั่นหมายถึงอนาคตของคนปัตตานี ที่อาจกลายเป็นคนที่ล่มสลาย ในเมื่อแหล่งหากินที่เลี้ยงปากท้องคนปัตตานีอยู่รอดทุกวันนี้ ก็เพราะมาจากอ่าวปัตตานีนั้นเอง เมื่อปี พ.ศ. 2545 ทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้เข้ามาเก็บข้อมูลตัวอย่างของรายได้จากการจับสัตว์น้ำในอ่าว ตกเฉลี่ยอยู่ที่เรือ 1 ลำ ออกทำประมง 1 ครั้ง มีรายได้ 314 บาท และ มีรายได้จากการจับสัตว์น้ำของชาวประมงในรอบอ่าวปัตตานี ประมาณ 274 ล้านบาทต่อปี" ผศ.ดร.สุกรี กล่าวต่อที่ประชุม
จากการวิจัยของ มอ.ปัตตานี เมื่อเทียบกับ ปี พ.ศ. 2506 ที่มีสัตว์น้ำที่เคยจับได้ในพื้นที่อ่าว 74 ตารางกิโลเมตร สามารถจับได้ 135 ชนิด แต่ปัจจุบันจับได้เพียง 120 ชนิด และยังมีปลาที่ลดลงในเชิงจำนวน เช่น ปลาจะละเม็ดดำ ปลาทรายแดง และปลากระเบนนกเนื้อดำ รวมทั้ง ยังมีสัตว์ที่ไม่ได้เป็นอาหารชนิดอื่นๆ ที่หายไป เช่น ปลาพะยูน ปลาฉลามหนูใหญ่ เป็นต้น
สำหรับสาเหตุของปัญหานั้นมาจากการปล่อยน้ำเสียของโรงงาน การจับสัตว์น้ำเกินความสามารถที่ธรรมชาติจะทดแทนได้ การใช้เครื่องมือประมงที่จับสัตว์น้ำที่ไม่ได้ขนาดติดไปด้วย นอกจากนั้น ยังเรือประมงเชิงพาณิชย์บางลำ จะเข้ามาทำประมงใกล้ชายฝั่งด้านนอกอ่าวจนเกิดความเสียหายได้เช่นกัน จนมีความบาดหมางกับเรือประมงขนาดเล็ก
และในช่วงที่ผ่านมา ชาวประมงพื้นบ้านในปัตตานี ยังได้รับผลกระทบจากการที่กลุ่มใช้นายทุนได้ใช้อ่าวปัตตานีเลี้ยงหอย และยังมีชาวประมงพื้นบ้านบางราย หรือนายทุนแฝงตัวเข้ามาใช้เครื่องมือทำประมงผิดกฎหมาย เช่น ลอบพับหรือไอ้โง่ ในบริเวณป่าชายเลน ซึ่งกระทบต่อวิถีการหาปลาด้วยอวนลอยของชาวบ้านอีกด้วย จนสถานการณ์ดีขึ้นบ้าง เมื่อรัฐบาลประกาศให้ไอ้โง่ผิดกฎหมายเมื่อ ปี พ.ศ.2558
ผศ.ดร.สุกรี กล่าวว่า สภาพภูมิศาสตร์ของอ่าวปัตตานี ถูกแบ่งไว้เป็น 36 ตำบลหรือเขตพื้นที่ ซึ่งมีสภาพของดินและสัตว์น้ำที่อยู่อาศัยในบริเวณนั้นแตกต่างชนิดกันไปตามสัดส่วน
“ดังนั้นด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านที่ยึดอาชีพทำประมงในอ่าว ย่อมรู้ดีว่าฤดูนี้เป็นฤดูสัตว์น้ำชนิดไหนที่เกิดมากที่สุด แล้วชาวประมงก็เลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะกับประเภทสัตว์น้ำนั้นๆ จึงจะทำให้ความอุดมของทรัพยากรสัตว์น้ำสามารถคงอยู่” ผศ.ดร.สุกรี
ด้านนายวีระนันทน์ เพ็งจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ฝ่ายปกครองได้แนวคิดที่จะตั้ง “สภาอ่าวปัตตานี” ขึ้นมาเพื่อฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของอ่าวปัตตานี
“ปัจจุบัน มีการใช้เครื่องมือผิดประเภทหรือมีการใช้เครื่องมือที่ทำลายล้างทรัพยากรมากกว่าการใช้ประโยชน์ อาจจะเพราะด้วยความไม่รู้หรือด้วยความตั้งใจ หรือเพราะความโลภที่คิดเพียงทำอย่างไรให้สามารถจับสัตว์น้ำได้มากที่สุด ทำให้เกิดแนวคิด ร่วมกันหาแนวทางที่จะปกปักรักษาความอุดมสมบูรณ์ของอ่าวปัตตานีให้กลับมาสู่อ้อมกอดของเราชาวปัตตานี จึงได้มีความเห็นร่วมกันที่จะให้มีการตั้งสภาอ่าวปัตตานีขึ้นมา นายวีระนันทน์ กล่าว
“โดยเน้นให้เอาคนในอ่าวปัตตานี เข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการของสภาอ่าว ในที่ประชุมจึงมอบหมายให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกันกำหนดวันเพื่อเรียกประชุมจัดตั้งสภาอ่าวปัตตานี” นายวีระนันทน์ กล่าวเพิ่มเติม
ด้านนายอาหามะ มามะ ชาวประมงในจังหวัดปัตตานี กล่าวเบนาร์นิวส์ว่า ตนเห็นด้วยกับการตั้งสภาอ่าวขึ้นมา เพราะจะช่วยให้ชาวประมงเรื่องปากท้องให้ดีขึ้น
นอกจากนั้น ในที่ประชุมยังได้มีการพูดคุยถึงการดำเนินโครงการขุดลอกอ่าวปัตตานี ซึ่งเป็นโครงการที่จะดำเนินการโดยทางทหาร ภายใต้โครงการพสกนิกรรอบอ่าวปัตตานี ในใช้งบประมาณ 681 ล้านบาท ได้ระบุเนื้อดินที่ต้องขุดอยู่ที่ 13 ล้านลูกบาตรเมตร แต่ชาวบ้านเกรงว่า จะกลายเป็นการทำลายระบบนิเวศน์ของอ่าวมากกว่าเป็นการแก้ไขปัญหา
ในเดือนเมษายน 2558 สหภาพยุโรปให้ใบเหลืองแก่ประเทศไทย เพื่อให้แก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, unregulated and unreported fishing practices – IUU) ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำมาหากินของชาวประมงพาณิชย์ในวงกว้าง รัฐบาลได้กำจัดเรือที่ไม่จดทะเบียน ไม่มีใบอนุญาตทำการประมง หรือติดตั้งเครื่องมือประมงผิดกฎหมาย ออกจากระบบ
จากตัวเลขของกรมประมงและสมาคมประมงแห่งประเทศไทย ปัจจุบัน ประเทศไทยมีเรือขนาดใหญ่กว่า 10 ตันกรอสขึ้นไป ขอขึ้นทะเบียนทั้งหมดประมาณ 13,000 กว่าลำ เป็นเรือที่มีใบอาชญาบัตร 11,227 ลำ ไม่มีใบอาชญาบัตร 2,180 ลำ ส่วนเรือประมงพื้นบ้าน หรือเรือขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส มีประมาณ 28,000 ลำ
ถึงขณะนี้ อียู ยังไม่ได้กำหนดวันที่จะประกาศผลการแก้ไขปัญหาของไทยหลังจากความพยายามมากว่าสามปี