ชาวประมงใต้เห็นด้วยแผนรัฐซื้อเรือประมง 1,900 ลำจากเจ้าของเรือ
2017.12.20
ปัตตานี
![171220-TH-fishingboats-1000.jpg 171220-TH-fishingboats-1000.jpg](https://www.benarnews.org/thai/news/TH-fishery-12202017165450.html/171220-TH-fishingboats-1000.jpg/@@images/b2ee4e1d-2968-4ffd-af45-f2807d4639f2.jpeg)
หลังจากที่รัฐบาลเปิดเผยว่า ได้เห็นชอบในหลักการที่สมาคมประมงแห่งประเทศไทยเสนอให้รัฐบาลเป็นผู้รับซื้อเรือประมง ที่เจ้าของเรือไม่ต้องการทำประมงต่อ 1,900 ลำ และคาดว่าจะเริ่มโครงการได้ภายในวันที่ 27 ธันวาคม 2560 นี้ นายกสมาคมการประมง จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า เนื่องจากที่ผ่านมา มีชาวประมงจำนวนไม่น้อยที่ได้รับผลกระทบจากการปฎิรูปการทำประมงในประเทศไทย ที่มีปัญหาการทำประมงแบบผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) เพื่อให้การประมงไทยได้มาตรฐานของสหภาพยุโรป
เบนาร์นิวส์ได้สอบถามความคิดเห็นชาวประมงในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ว่าคิดอย่างไรกับ การตัดสินใจของรัฐบาลครั้งนี้ ซึ่งชาวประมงส่วนหนึ่งเห็นด้วยกับแผนดังกล่าว เพราะเชื่อว่าจะเป็นการแก้ปัญหาประมงที่ถูกวิธี
นายภูเบศ จันทนิมิ นายกสมาคมการประมง จังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีชาวประมงจำนวนไม่น้อยที่ได้รับผลกระทบจากการปฎิรูปการทำประมงในประเทศไทยของรัฐบาล เพื่อให้การประมงไทยได้มาตรฐาน ปัญหาการทำประมงแบบผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) จึงเห็นว่าการซื้อเรือประมงจากผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างดี
“การรับซื้อเรือประมงจากชาวประมงที่ไม่ต้องการทำประมงแล้วถือว่าเป็นเรื่องดี ถ้าสามารถทำได้ โดยเฉพาะเพื่อให้เป็นของขวัญในวันปีใหม่ถือว่าดี เพราะคนที่ต้องการทำประมงอยู่ เขาก็จะได้ทำประมงอย่างเต็มที่ คนที่ไม่ต้องการอยู่ ต้องการจะเลิกอาชีพนี้ก็ควรช่วยเหลือเขา การแก้ปัญหาตามไอยูยู ทุกประเทศต่างต้องใช้เงิน สมควรช่วยเหลือ” นายภูเบศกล่าว
การรับซื้อเรือประมงโดยรัฐบาลครั้งนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2560 ตัวแทนสมาคมประมงจาก 22 จังหวัดได้ประชุมร่วมกับ นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง และมีมติร่วมกันว่า จะให้รัฐบาลซื้อเรือประมงจากเจ้าของเรือที่ไม่ประสงค์จะทำประมงต่อไป เนื่องจากไม่ต้องการแก้ไขเรือให้ตรงตามใบอนุญาตทำประมง ซึ่งสมาคมประมงเป็นผู้รวบรวมรายชื่อ เรือประมงที่ต้องการขาย และส่งให้รัฐในวันที่ 9 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา
ต่อมาในวันที่ 18 ธันวาคม 2560 พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงผลการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อน และปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินคณะที่ 5 ว่า ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการที่จะรับซื้อเรือประมงจากรายชื่อที่สมาคมประมงเสนอ 1,900 ลำ โดยที่ประชุมจะได้ยื่นขออนุมัติงบประมาณในการดำเนินการจากรัฐบาลต่อไป และคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในวันที่ 27 ธันวาคม 2560 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน
นายสุนิตติ์ โรจน์พิทยากูล ประมงจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมา มีชาวประมงได้รับผลกระทบจากการปฎิรูปการทำประมงจำนวนหนึ่ง ซึ่งทางจังหวัดได้เก็บข้อมูล และรวบรวมให้รัฐบาลทราบ ซึ่งรัฐก็ได้ดำเนินการแก้ไขตามขั้นตอนอยู่ ขณะที่แผนการซื้อเรือประมงครั้งนี้ ก็ถือว่าจะช่วยชาวประมงที่ประสบปัญหาได้จำนวนหนึ่ง
“จังหวัดปัตตานี มีเรือรอขาย 400 กว่าลำ เบื้องต้นยังไม่เห็นคำสั่ง ก็ยังไม่สามารถทำอะไรได้ นอกจากรอคำสั่งมา” นายสุนิตติ์กล่าว
กรมเจ้าท่า เปิดเผยตัวเลขในปี 2560 ว่า ประเทศไทยมีเรือประมงประมาณ 39,000 ลำ เป็นเรือขนาดเล็กกว่า 10 ตันกรอส หรือเรือประมงพื้นบ้าน 27,000 ลำ และเรือที่ใหญ่กว่า 10 ตันกรอส 12,000 ลำ แต่มีเรือขนาดใหญ่เพียง 11,000 ลำ ที่มีอาชญบัตรหรือใบอนุญาตทำประมง และพบว่า มีเรือที่ทำการประมงปกติ ไม่มีปัญหาขาดแคลนแรงงานหรือปัญหาอื่นเพียง 8,000 ลำเท่านั้น
นโยบายรับซื้อเรือประมงโดยรัฐ ปี 2558 มีเรือประมงประมาณ 2,000 ลำ และปี 2559 ประมาณ 1,100 ลำ ที่ถูกเสนอให้รัฐรับซื้อ ซึ่งรัฐจะซื้อเรือประมงกลุ่มดังกล่าวในราคา 50 เปอร์เซ็นต์ของราคากลางสำหรับเรือที่มีอาชญบัตร และซื้อในราคา 25 เปอร์เซ็นต์ของราคากลางสำหรับเรือที่ไม่มีอาชญบัตร ซึ่งเรือบางส่วนที่ถูกซื้อ ได้ถูกนำไปใช้ในราชการ ขณะที่บางส่วนถูกจมเพื่อใช้ทำปะการังเทียม
ต่อปัญหาการประมงไทยที่เกิดขึ้น หลังจากการปฎิรูประบบประมงโดยรัฐ นายมะแอ สาและ ปราชญ์ประมงพื้นบ้านรอบอ่าวปัตตานี กล่าวว่า ปัจจุบันยังมีการใช้เครื่องมือทำประมงที่ผิดกฎหมาย ซึ่งมองว่าการใช้เครื่องมือประมงลักษณะนี้เป็นการทำลายทรัพยากรทางน้ำ หากรัฐต้องการมอบของขวัญปีใหม่ให้กับชาวประมง ควรแก้ไขเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน
“ทุกวันนี้ การอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำในอ่าวปัตตานีทำไปได้ยาก ถ้าชาวประมงเองยังคงนิยมใช้เครื่องมือทำประมงที่ผิดกฎหมาย ทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำ ทั้งลอบพับ หรือไอ้โง่ ทั้งที่มีกฎหมายห้ามใช้แล้วแต่ยังใช้อยู่ ชาวประมงที่ใช้เครื่องมือลักษณะนี้ส่วนใหญ่จากมาจากชุมชนประมงที่อพยพมาจากที่อื่น ที่มีวัฒนธรรมทำประมงที่มีความแตกต่างกับชาวประมงดั้งเดิมของอ่าวปัตตานีอย่างสิ้นเชิง” นายมะแอกล่าว
“การใช้ลอบพับส่งผลกระทบการดำเนินชีวิต และวิถีประมงพื้นบ้านอวนลอย ทุกวันนี้ เกิดความขัดแย้งระหว่างประมงลอบพับกับประมงอวนลอย แต่เจ้าหน้าที่รับผิดชอบกลับนิ่งเฉย ขอเรียกร้องให้รัฐบาลมอบของขวัญให้ชาวประมงพื้นบ้าน โดยให้เจ้าหน้าที่ระดับพื้นที่ปราบเครื่องมือผิดกฎหมายอย่างเด็ดขาด” นายมะแอกล่าวเพิ่มเติม