สภาพเลวร้ายยังคงเกิดขึ้น ในอุตสาหกรรมประมงไทย: ฮิวแมนไรท์วอทช์

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2018.01.23
วอชิงตัน
180123-TH-fishing-1000.jpg เรือประมงเข้าจอดที่ท่าเทียบเรือรัษฎา จังหวัดภูเก็ต วันที่ 22 พฤษภาคม 2559
ภาพโดย Daniel Murphy สำหรับฮิวแมนไรท์วอทช์

ฮิวแมนไรท์วอทช์ได้เปิดตัวรายงาน ในวันอังคาร กรณีการใช้แรงงานบังคับ และการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิอื่น ๆ ที่ยังคงเกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรมประมงไทย แม้ว่ารัฐบาลจะให้คำมั่นสัญญาว่าจะปฏิรูปในทุกด้านก็ตาม

ฮิวแมนไรท์วอทช์ (HRW) เผยแพร่รายงาน 134 หน้า จากการสัมภาษณ์ แรงงานประมงข้ามชาติ เจ้าของเรือ และ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิ จำนวนกว่า 200 คน ให้แก่สมาชิกรัฐสภายุโรป ในกรุงบรัสเซลส์

รายงานดังกล่าวระบุว่า แรงงานข้ามชาติมากมาย จากประเทศเมียนมา และกัมพูชา มักตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ ถูกบังคับให้เป็นแรงงานในเรือประมง ทั้งถูกขัดขวางไม่ให้เปลี่ยนนายจ้าง ไม่ได้รับค่าจ้างตามเวลา หรือได้รับค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำ

"มันคือการทรมาน มีอยู่ครั้งหนึ่งผมเหนื่อยมาก จนตกจากเรือ แต่พวกเขาก็ลากผมขึ้นมาทำงานอีก" ซินมินเต๊ด เหยื่อค้ามนุษย์ชาวพม่า ที่รอดชีวิต ให้สัมภาษณ์กับ HRW ในจังหวัดระนอง เดือนมีนาคม พ.ศ. 2559

HRW ระบุว่า ประเทศไทยได้รับ “ใบเหลือง” เป็นการเตือน ในปี พ. ศ. 2558 หนึ่งปีหลังจากการเปิดโปงจากสื่อ ในกรณีการค้ามนุษย์และการกระทำที่ทารุณโหดร้ายต่อแรงงานในเรือประมง ซึ่งหมายความว่า อาจถูกห้ามการส่งออกอาหารทะเลไปสหภาพยุโรป เนื่องจากทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกายังได้จัดให้ประเทศไทยอยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองระดับ Tier 2 ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี (TIP report) ฉบับล่าสุด

ซึ่ง HRW พบว่า ยังมี "ข้อบกพร่องมากมาย ในการดำเนินงานตามมาตรการในการใช้กฎระเบียบใหม่ของรัฐบาล และการต่อต้านของอุตสาหกรรมประมงที่มีต่อการปฏิรูป"

"ไม่มีใครควรหลงเชื่อกฎระเบียบที่ดูดีบนแผ่นกระดาษ แต่ไม่สามารถนำมาปฏิบัติ ใช้บังคับได้จริง" แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวในแถลงการณ์ที่เผยแพร่ พร้อมรายงานฉบับนี้

"สหภาพยุโรป และสหรัฐฯ จำเป็นต้องเพิ่มความกดดันโดยทันที เพื่อให้ประเทศไทยมีการคุ้มครองสิทธิ สุขภาพ และความปลอดภัยของแรงงานประมง"

เจ้าหน้าที่ไทยตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความถูกต้องของรายงานเรื่อง “โซ่ที่ซ่อนไว้: การปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิและแรงงานบังคับในอุตสาหกรรมประมงไทย”

“สิ่งที่ HRW แสดงออกมาเป็นข้อมูลที่มาจากการเก็บข้อมูลด้านเดียว อาจจะเก่าเก็บ เข้าใจว่าพยายามจะดิสเครดิตเรา” พลเรือโท วรรณพล กล่อมแก้ว รองหัวหน้าสำนักงานเลขานุการ ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

รายงานฉบับนี้ทำการสัมภาษณ์แรงงานประมงจากเมียนมา และกัมพูชา ทั้งในปัจจุบัน และอดีตจำนวนทั้งสิ้น 248 คน ระหว่างปี พ.ศ. 2558-2560 โดยมีแรงงานจากเมียนมา 174 คน กัมพูชา 70 คน และไทย 4 คน โดยมีการสัมภาษณ์กลุ่มและแยกเดี่ยวทั้งสิ้น 58 ครั้ง

ในบรรดาผู้ที่ให้สัมภาษณ์ HRW ระบุว่า 95 คน เป็นเหยื่อค้ามนุษย์ที่หลบหนีออกมาได้ หรือได้รับความช่วยเหลือออกมา ระหว่างเดือนพฤษภาคม 2557 และกรกฎาคม 2559 ส่วนที่เหลืออีก 153 คน กำลังทำงานในอุตสาหกรรมประมง ขณะให้สัมภาษณ์

 

บัตรสีชมพู

ในการปฏิรูปที่รัฐบาลไทยนำมาใช้ คือระบบการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ โดยการขึ้นทะเบียน “บัตรสีชมพู” เพื่อลดจำนวนแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสารในประเทศไทย หากเป็นการทำให้สถานะของแรงงานต้องผูกติดกับบางพื้นที่ และกับนายจ้างเฉพาะบางคน และในบางกรณีต้องได้รับอนุญาตจากนายจ้าง จึงจะเปลี่ยนงานได้

"คุณไม่สามารถลาออกได้ ถ้าคุณลาออกคุณจะไม่ได้รับค่าจ้าง และถ้าคุณจะลาออกจริง ๆ ก็ขึ้นอยู่กับว่า เขาจะยอมให้คุณไปหรือไม่ ถึงคุณจะยอมลาออกโดยไม่รับค่าจ้างและไม่เอาบัตร [ชมพู] ไปด้วย คุณก็ต้องได้รับอนุญาตก่อน" เบียน วอน แรงงานประมงชาวกัมพูชา บอกกับ HRW ที่จังหวัดระนอง ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2559

อย่างไรก็ตาม HRW ให้เครดิตรัฐบาลไทยในการจัดตั้งระบบควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง หรือ Port-in, Port-out (PIPO) ในท่าเรือหลักทั้งหมด กำหนดให้เรือทุกลำต้องเข้ารับการตรวจระหว่างที่ออก และกลับสู่ท่าเทียบเรือ รวมทั้งรายการลูกเรือ และกำหนดขั้นตอนปฏิบัติเพื่อการตรวจเรือประมงระหว่างอยู่ในทะเล

การกำหนดให้แรงงานประมงข้ามชาติต้องถือเอกสาร และมีการนับจำนวนลูกเรือ ในขณะที่เรือออกจากและกลับเข้าสู่ฝั่ง ทั้งนี้เพื่อหาทางยุติการปฏิบัติมิชอบที่เลวร้ายสุด "รวมทั้งกรณีที่ไต้ก๋งสังหารลูกเรือ" ก่อนที่พวกเขาจะกลับไปที่ท่าเรือและจะต้องได้รับค่าจ้าง HRW กล่าว

HRW ยังระบุในรายงานว่า ระบบการตรวจแรงงาน เป็นการสร้างภาพเพื่อผู้ชมระหว่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น ตามระบบควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง (PIPO) ซึ่งพบว่า เจ้าหน้าที่พูดคุยกับไต้ก๋งและเจ้าของเรือและตรวจสอบเอกสาร แต่ไม่สัมภาษณ์แรงงานประมงข้ามชาติโดยตรง

พลเรือโท วรรณพล กล่อมแก้ว รองหัวหน้าสำนักงานเลขานุการ ศปมผ. กล่าวเพิ่มเติม แก่เบนาร์นิวส์

“เรื่องการตรวจของ ไปโป้ (PIPO) ไม่สามารถตรวจเรือได้ทั้งหมด เรือที่ตรวจจะมีขนาดสามสิบตันขึ้นไป หรือพวกอวนลาก อวนล้อม ที่ต่ำกว่าสามสิบตัน ตรวจทั้งเข้า-ออก แต่เรือที่ไม่ผ่านการตรวจ เป็นพวกเรืออิสระ อาจจะมีช่องว่าง ทำให้นายจ้างที่พยายามแอบทำผิดกฎหมายสามารถใช้ช่องว่างที่ว่าไปใช้แรงงานผิดกฎหมายได้”

“แต่เรามีเรือตรวจออกในทะเล ออกอย่างต่อเนื่อง ร่วมมือกันทั้งของกองทัพเรือ กรมประมง กรมเจ้าท่า ตำรวจน้ำ กรมทรัพยากรชายฝั่ง ออกตรวจและมีรายงานผลออกมาตลอด” พล.ร.ท.วรรณพลกล่าว

นอกจากนี้รัฐบาลยังดำเนินการสุ่มตรวจสอบ "แต่เรามีการวิเคราะห์พฤติกรรมเรือ กำหนดเป็นเรือกลุ่มเสี่ยง หรือที่เรียกว่า common risk base analysis หรือ พวกเรือความเสี่ยงร่วม”

“เรือกลุ่มใดมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมาย เรื่องประมง เรื่องแรงงาน กำหนดเป็น priority ที่ต้องรายงานทั้งเข้าและออก แต่พวกเรือเด็กดีอาจจะ สุ่มตรวจ”

พลเรือโท วรรณพล กล่าวเสริมอีกว่า "จากการตรวจที่ผ่านมา หกเดือน พบว่าไม่มีรายงานว่าพบเรือที่ทำผิดกฎหมาย แต่อาจจะมีแรงงานที่ลักลอบเข้ามาทำงาน ไม่ผ่านการตรวจลงทะเบียนตามช่องทางกฎหมายกำหนด ไม่ลงทะเบียนแรงงาน พวกเข้ามาแบบไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้ในการตรวจเรือเข้า-ออก ไม่สามารถทำได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ทั้งหมด”

ข้อเสนอแนะ

ฮิวแมนไรท์วอทช์ได้ให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทย โดยให้มีการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านแรงงานบังคับ ซึ่งทำให้มีการลงโทษทางอาญาและทางแพ่งที่เหมาะสม และมีการคุ้มครองเหยื่อผู้ถูกละเมิด

กลุ่มนักเคลื่อนไหวสนับสนุนเรียกร้องให้รัฐบาลยุติข้อจำกัดเสรีภาพในการเคลื่อนย้ายของแรงงานข้ามชาติ รวมถึงการระงับข้อกำหนดที่ว่า ผู้ที่ถือบัตรสีชมพูต้องขออนุญาตก่อนเดินทาง

นอกจากนี้ ยังได้เรียกร้องให้สำนักงานนายกรัฐมนตรีเพิ่มการสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานในอุตสาหกรรมประมง

สำนักงานนายกรัฐมนตรี ควรจัดตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้น เพื่อแนะนำการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย ระเบียบและนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิของแรงงานข้ามชาติ หนึ่งในข้อเสนอแนะของ HRW ทั้งเสริมว่า กรมจัดหางานควรมีการทบทวนแก้ไขระเบียบ เพื่ออนุญาตให้แรงงานประมงสามารถสามารถเปลี่ยนงานได้ตลอดเวลาและโดยไม่มีข้อจำกัด

วิลาวรรณ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ มีส่วนร่วมในรายงานฉบับนี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง