นายกฯ ยืนยันจะไม่มีน้ำท่วมใหญ่ แม้หลายพื้นที่วิกฤต

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2017.10.13
กรุงเทพฯ
171013-floods-1000.jpg ภาพถ่ายทางอากาศ ยานพาหนะจมอยู่ในน้ำท่วม ที่บริเวณวงเวียน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2554
เอเอฟพี

ในวันศุกร์ (13 ตุลาคม 2560) นี้ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยืนยันในปีนี้จะไม่เกิดน้ำท่วมใหญ่เหมือนกับที่เคยเกิดในปี 2554 แม้ว่า จากรายงานปัจจุบัน ปริมาณน้ำในแม่น้ำ และเขื่อนจะเข้าขั้นวิกฤตในหลายพื้นที่ก็ตาม

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับรายงานสถานการณ์น้ำในขณะนี้ โดยยืนยันว่าจะไม่มีปัญหาน้ำท่วมใหญ่เช่นเดียวกับในปี 2554 เพราะปริมาณน้ำในปีนี้ยังน้อยกว่าปี 2554 มาก อีกทั้งทุกหน่วยงานได้วางแผนบริหารจัดน้ำอย่างเป็นระบบและบูรณาการร่วมกันอย่างเต็มที่ โดยได้นำบทเรียนในอดีตมาแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น จึงไม่อยากให้พี่น้องประชาชนตื่นตระหนกหรือหลงเชื่อข่าวลือของผู้ไม่หวังดี” พล.ท.สรรเสริญระบุ

“ปริมาณน้ำในเขื่อนหลัก โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคกลางเปรียบเทียบกัน 2 ปี มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยข้อมูล ณ วันที่ 11 ต.ค. 2560 ปริมาณน้ำในเขื่อนของภาคเหนือรวมกันอยู่ที่ 18,318 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่เมื่อ 11 ต.ค. 2554 อยู่ที่ 24,477 ล้าน ลบ.ม. ส่วนเขื่อนของภาคกลางปีนี้มีปริมาณน้ำรวมกัน 1,287 ล้าน ลบ.ม. แต่ในปี 2554 อยู่ที่ 1,377 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนี้ ปริมาณน้ำท่าที่ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท และ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ในปีนี้ก็น้อยกว่าปี 2554 ด้วยเช่นเดียวกัน” พล.ท.สรรเสริญกล่าว

อย่างไรก็ตาม สถาบันสารสนเทศทรัพยากรณ์น้ำและการเกษตร รายงานว่า เขื่อนอุบลรัตน์ จุฬาภรณ์ น้ำอูน ห้วยหลวง น้ำพุง หนองปลาไหล และกระเสียว มีปริมาณน้ำมากกว่า 100 เปอร์เซนต์ของระดับน้ำเก็บกักของอ่างแล้ว และเขื่อนป่าสักฯ ทับเสลา กิ่วลม ก็มีปริมาณน้ำเขาขั้นวิกฤตแล้วแม้จะยังไม่เกินปริมาณกักเก็บก็ตาม

ขณะที่ ระดับน้ำในแม่น้ำยมพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก พิจิตร และพะเยา แม่น้ำมูลที่จังหวัดนครราชสีมา ศรีสะเกษ และสุรินทร์ แม่น้ำชีที่จังหวัดขอนแก่น และอุบลราชธานี แม่น้ำโขงที่จังหวัดเชียงราย แม่น้ำป่าสักที่จังหวัดเพชรบูรณ์ และลพบุรี แม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นนทบุรี และสิงห์บุรี และแม่น้ำสะแกกรังที่จังหวัดอุทัยธานี สูงเข้าขั้นวิกฤตแล้ว และในหลายพื้นที่ทั่วประเทศยังมีระดับน้ำเฝ้าระวังพิเศษ และเฝ้าระวังด้วย

โดยในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานข่าวระบุว่า จังหวัดชัยนาท พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ตาก นครราชสีมา พะเยา  ชัยภูมิ สุโขทัย นนทบุรี เชียงใหม่ และแพร่ ประสบปัญหาน้ำท่วมในบางพื้นที่แล้ว

ทั้งนี้ พล.ท.สรรเสริญกล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ นายกรัฐมนตรีจึงได้สั่งกำชับให้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ประสานกับจังหวัด หน่วยทหาร และองค์กรปกครองท้องถิ่น เร่งออกช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัย

พร้อมทั้งแจ้งเตือนให้ประชาชนติดตามข่าวพยากรณ์อากาศจากทางราชการอย่างใกล้ชิด เพราะในช่วงนี้เป็นช่วงที่ประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบจากพายุในฤดูมรสุม เพื่อให้สามารถเตรียมการรับมือ และป้องกันความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของตนเองได้อย่างทันท่วงที

ขณะนี้ กรุงเทพฯ มีการแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม 10 เขต ได้แก่ เขตบางซื่อ ดุสิต พระนคร สัมพันธวงศ์ บางคอแหลม ยานนาวา คลองเตย บางกอกน้อย คลองสาน และเขตราษฎร์บูรณะ

น้ำท่วมใหญ่ ปี 2554

สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร สรุปผลกระทบของเหตุการณ์น้ำท่วมในช่วงเดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน 2554 ว่า มีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ 65 จังหวัด มีผู้เสียชีวิต 657 ราย สูญหาย 3 คน ราษฎรเดือดร้อน 4,039,459 ครัวเรือน 13,425,869 คน บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 2,329 หลัง บ้านเรือนเสียหายบางส่วน 96,833 หลัง พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะได้รับความเสียหาย 11.20 ล้านไร่ ถนน 13,961 สาย ท่อระบายน้ำ 777 แห่ง ฝาย 982 แห่ง ทำนบ 142 แห่ง สะพาน/คอสะพาน 724 แห่ง บ่อปลา/บ่อกุ้ง/หอย 231,919 ไร่ และปศุสัตว์ 13.41 ล้านตัว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง