กต.สหรัฐอนุมัติขายเฮลิคอปเตอร์ AH-6i 8 ลำ ให้ไทย

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2019.09.25
กรุงเทพฯ
190925-TH-guns-kids-1000.jpg เด็กชายจับปืนกลบนยานพาหนะของกองทัพบก เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ กรุงเทพฯ วันที่ 12 ม.ค. 2562
รอยเตอร์

สำนักงานความร่วมมือด้านความมั่นคงด้านกลาโหม กระทรวงกลาโหมสหรัฐ ได้รายงานทางเวบไซต์ ในวันที่ 24 กันยายนนี้ (เวลาท้องถิ่น) ว่า กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ได้อนุมัติการขายเฮลิคอปเตอร์ โจมตี/สอดแนมขนาดเบา รุ่น AH-6i พร้อมด้วยอาวุธนำวิถีต่อสู้รถถังและอื่นๆ ให้แก่ประเทศไทย จำนวน 8 ลำ เป็นมูลค่าประมาณ 400 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งทางสำนักฯ ได้นำเรื่องรับรองการซื้อขายเสนอต่อสภาคองเกรสเรียบร้อยแล้วในวันนี้

รายงานดังกล่าวระบุว่า รัฐบาลไทยได้ของซื้อเฮลิคอปเตอร์โจมตี/สอดแนมขนาดเบา รุ่น AH-6i จำนวน 8 เครื่อง จรวดนำวิถีต่อสู้รถถังแบบเอจีเอ็ม-114อาร์ เฮลไฟร์ 50 ลูก และจรวดแบบ APKWS จำนวน 200 ลูก

นอกจากนั้น ยังมีปืนแกตลิ่งกัน แบบเอ็ม-134 มินิกัน จำนวน 10 ระบบ กระเปาะยิงจรวดแบบเอ็ม-260 จำนวน 10 กระเปาะ รางปล่อยจรวดรุ่นเอ็ม-229 สำหรับยิงจรวดลองโบว์เฮลไฟร์ จำนวน 10 ระบบ เรด้าร์เดินอากาศรุ่น AN/APN-209 จำนวน 10 ระบบ เรด้าร์เตือนภัยรุ่นAN/APR-39 (V) จำนวน 8 ระบบ  กระเปาะปืนกลขนาด .50 นิ้ว รุ่น GAU-19/B จำนวน 4 ระบบ จรวดไฮดร้าขนาด 70 ม.ม. จำนวน 500 ลูก หน้ากากกลางคืนรุ่น AN/AVS-6 จำนวน 20 ระบบ กล้องรุ่น WESCAM MX-10Di จำนวน 8 ระบบ อุปกรณ์พิสูจน์ฝ่ายแบบ AN/APX-123 IFF จำนวน 10 ระบบ วิทยุสื่อสาร AN/ARC 201E-VHF-FM จำนวน 10 ระบบ ระบบสื่อสารภาคอากาศรุ่น AN/ARC-231 w/MX-4027 จำนวน 10 ระบบ ระบบเดินอากาศด้วยแรงเฉื่อย/ระบบจีพีเอส รุ่น  LN-251จำนวน 10 ระบบ ระบบฝึกลูกเรือ ระบบฝึกนักบิน ระบบการอบรมการบำรุงรักษา รวมทั้ง ระบบที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ และการส่งบำรุงกำลัง รวมมูลค่าประมาณ 400 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ

ในเบื้องต้น พลโท คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ ในวันพุธนี้ว่า ยังไม่สามารถให้รายละเอียดการจัดซื้อล็อตนี้ได้ เพราะมีการสั่งซื้อค้างเก่าในห้วงเวลาที่รัฐบาลไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจำนวนหนึ่ง

“ผมยังไม่เห็นตัวเรื่อง และยังให้รายละเอียดยืนยันไม่ได้ แต่ทางกองทัพ มีแผนจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของกองทัพอยู่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการจัดอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อทดแทนของเก่าที่เสื่อมสภาพไป ซึ่งอาจเป็นการจัดซื้อแบบจีทูจี ผ่านเอฟเอ็มเอส ที่ต้องผ่านการเห็นชอบของสภาคองเกรส” พลโทคงชีพกล่าว

“การจัดซื้อเพื่อทดแทนของเก่า ซึ่งอาจจะเกิดอุบัติเหตุได้ อย่างเช่นเครื่องโครงการฝนหลวงที่ตก น่าเสียใจเพราะทุกชีวิตมีค่า การนำไปเปรียบเทียบกับงบช่วยเหลือน้ำท่วม เป็นการไม่ถูกต้องเพราะ เป็นเงินคนละตะกร้ากัน ที่แยกตามแต่ละกระทรวงอยู่แล้ว” พลโทคงชีพกล่าว เพิ่มเติม

เมื่อสองสัปดาห์ก่อน พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก และ พล.อ.โรเบิร์ต บราวน์ ผู้บัญชาการกองกำลังทางบกประจำภาคพื้นแปซิฟิก กองทัพสหรัฐอเมริกา ได้ร่วมพิธีรับมอบยานเกราะล้อยางสไตรเกอร์ 10 คัน ที่กองบัญชาการกองทัพบก ซึ่ง พล.อ.โรเบิร์ต บราวน์ ได้เน้นย้ำความสำคัญของพันธมิตรไทย-สหรัฐ ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

ทั้งนี้ หลังจากที่ประเทศไทยมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม โดยแม้นายกรัฐมนตรีคนเดิม คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่นายไมเคิล ปอมเปโอ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้การยอมรับรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ รวมทั้งมีการยกระดับความสัมพันธ์แน่นแฟ้นขึ้นตามลำดับ

“การเสนอการซื้อขายครั้งนี้ เป็นการสนับสนุนนโยบายการต่างประเทศ และเป้าหมายทางด้านความมั่นคงของสหรัฐในการให้ความช่วยเหลือ “พันธมิตรหลักนอกนาโต้” (Major Non-NATO ally) ในการพัฒนาความมั่นคงในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก” เอกสารของสำนักงานความร่วมมือด้านความมั่นคงด้านกลาโหม ระบุ

“การเสนอการซื้อขายเฮลิคอปเตอร์ AH-6i จะช่วยพัฒนาขีดความสามารถในการโจมตีเบาของกองทัพบกไทย ในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการป้องกันประเทศ และต่อต้านภัยคุกคามในภูมิภาค เฮลิคอปเตอร์ AH-6i จะถูกนำไปใช้ในการทดแทนเฮลิคอปเตอร์ รุ่นเอเอช-1 เอฟ คอบร้า ที่มีอายุมากแล้ว” เอกสารดังกล่าวให้ข้อมูลเพิ่มเติม

กองทัพบกมีประจำการเฮลิคอปเตอร์ จากหลายประเทศ เช่น รุ่นเบล ยูเอช-1 “ฮิวอี้” ยุคสงครามเวียดนาม จนถึงรุ่นใหม่กว่า เช่น เบลล์ 212 แบล็คฮอล์ค เฮลิคอปเตอร์จาก บ.อกุสต้าเวสต์แลนด์ และ Mi-17 V ของรัสเซีย เป็นต้น

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง