โควิด-19: ผู้นำอินโดฯ ห้ามข้าราชการ ทหาร ตำรวจ เดินทางช่วงเดือนรอมฎอน

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2020.04.09
วอชิงตัน
200409-SEA-ramadan-1000.jpg สตรีชาวมุสลิมทำละหมาดตะรอเวียะห์ ที่มหาสุเหร่า ในเมืองปาดัง สุมาตราตะวันตก อินโดนีเซีย วันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2560
เอ็ม.สุลธาน อัซซัม/เบนาร์นิวส์

เมื่อวันพฤหัสบดี ผู้นำอินโดนีเซีย ประเทศที่มีประชากรนับถือศาสนาอิสลามมากที่สุดในโลก ออกคำสั่งห้ามข้าราชการ ทหารและตำรวจ เดินทางกลับบ้านในช่วงเดือนรอมฎอนที่กำลังจะมาถึงนี้ ธรรมเนียมการถือศีลอดที่จะมีขึ้นในเดือนนี้ เป็นเทศกาลล่าสุดที่ถูกกระทบโดยการระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด-19

ประธานาธิบดีโจโก “โจโกวี” วิโดโด ได้ออกคำสั่งนี้ ขณะเดียวกัน สุลต่านแห่งรัฐสลังงอร์ มาเลเซีย ประเทศเพื่อนบ้าน ได้ประกาศว่าจะไม่เข้าร่วมการละศีลอดในแต่ละวันหรือการละหมาดในตอนกลางคืนในระหว่างเทศกาลรอมฎอน กับชาวมุสลิมคนอื่น ๆ ที่มัสยิดต่าง ๆ ในรัฐนั้น เพื่อช่วยหยุดการระบาดภายในประเทศของไวรัสมรณะที่ติดต่อกันได้โดยง่ายนี้

“วันนี้ เราได้ตัดสินใจที่จะห้ามข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ กลับบ้าน” ประธานาธิบดีอินโดนีเซียกล่าว ซึ่งหมายถึงการเดินทางในแต่ละปีของชาวอินโดนีเซียจำนวนมากออกจากกรุงจาการ์ตาและเมืองใหญ่อื่น ๆ เพื่อกลับไปฉลองวันอีดิลฟิฏรีที่บ้านเกิดของตัวเอง วันดังกล่าวเป็นวันหยุดที่เฉลิมฉลองการสิ้นสุดของเทศกาลถือศีลอดของชาวมุสลิม

นายโจโกวีกล่าวว่า รัฐบาลของเขากำลังชั่งใจว่าควรจะใช้ข้อห้ามนี้กับประชาชนที่เหลือในประเทศหรือไม่ ตัวเลขจากสำนักงานสถิติกลางระบุว่า อินโดนีเซียมีชาวมุสลิมประมาณ 225 ล้านคน มีข้าราชการประมาณ 4.4 ล้านคน และตำรวจและทหารประมาณ 1.3 ล้านคน

“เราห้ามคนที่ตกงานและขาดรายได้ จากวิกฤตการแพร่ระบาดใหญ่ครั้งนี้ ไม่ให้กลับบ้านเกิดของตัวเองไม่ได้” เขากล่าว

เมื่อวันพฤหัสบดี กระทรวงสาธารณสุขของอินโดนีเซีย ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในเอเชีย ประกาศว่ามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ จำนวน 337 ราย นี่เป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดในหนึ่งวันของประเทศ ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อรวมทั้งสิ้นแล้ว 3,293 ราย นอกจากนี้ ยังมีผู้เสียชีวิตจากไวรัสนี้อีก 40 ราย ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตในประเทศเพิ่มเป็น 280 คน นับเป็นจำนวนผู้เสียชีวิตสูงที่สุดในเอเชีย รองจากจีน ประเทศต้นกำเนิดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้

คำสั่งของประธานาธิบดีโจโกวี เป็นหนึ่งในข้อความและคำสั่งที่เกี่ยวกับไวรัสโคโรนา ซึ่งออกโดยรัฐบาล หน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานศาสนาอิสลามทั่วภูมิภาคนี้ เมื่อเร็วๆนี้ เกี่ยวกับการเดินทางกลับไปยังบ้านเกิด การละหมาดเป็นกลุ่มในมัสยิด และตลาดที่ชาวมุสลิมซื้ออาหาร หลังการละศีลอดในแต่ละวันในช่วงเทศกาลรอมฎอน

ในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เดือนรอมฎอนของปี 2563 จะเริ่มขึ้นในวันที่ 23 หรือ 24 เมษายน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่า เห็นดวงจันทร์ปรากฏขึ้นเมื่อใด

ขณะเดียวกัน ในรัฐสลังงอร์ เลขาธิการส่วนตัวของสุลต่าน ชาราฟัดดิน อิดรีส ชาห์ ได้ออกแถลงการณ์ฉบับหนึ่งเมื่อวันพุธ มีข้อความว่า

“ด้วยความเสียใจ สุลต่านทรงตัดสินพระทัยที่จะไม่ร่วมกับประชาชนในมัสยิดต่าง ๆ ทั่วรัฐ เพื่อทำการละศีลอด [อาหาร] และการละหมาดตะรอเวียะห์” นายโมฮัมหมัด มูนิร์ บานี โฆษกประจำตัวสุลต่าน กล่าว โดยหมายถึงการละหมาดเป็นกลุ่มที่มัสยิดในตอนกลางคืนของช่วงเทศกาลรอมฎอน

“สุลต่านทรงตัดสินพระทัยดังกล่าว หลังจากพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ เรื่องความปลอดภัย หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งขณะนี้ยังควบคุมการแพร่ระบาดไม่ได้ และเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากการติดเชื้อในหมู่คนที่เข้าร่วมการละหมาดด้วย”

เมื่อวันพฤหัสบดี กระทรวงสาธารณสุขมาเลเซียกล่าวว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวน 109 คน และมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสโคโรนาเพิ่มขึ้นจำนวนสองคน จนถึงปัจจุบัน มีผู้ติดเชื้อภายในประเทศทั้งสิ้นจำนวน 4,228 คน และผู้เสียชีวิต 67 คน

ชาวมุสลิมนั่งเว้นระยะห่างกันตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ขณะร่วมละหมาดในวันศุกร์ ที่มัสยิดแห่งหนึ่งในเกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2563 (เอพี)
ชาวมุสลิมนั่งเว้นระยะห่างกันตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ขณะร่วมละหมาดในวันศุกร์ ที่มัสยิดแห่งหนึ่งในเกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2563 (เอพี)

แถลงการณ์ที่ขัดแย้งกัน

ประธานาธิบดีโจโกวีได้ออกคำสั่งดังกล่าวประมาณหนึ่งสัปดาห์ หลังการประกาศว่าชาวมุสลิมสามารถเดินทางกลับบ้านเกิดได้เพื่อฉลองวันอีด ในวันถัดมา คำสั่งนั้นถูกตอบโต้อย่างหนักจากสภาอูลามะแห่งอินโดนีเซีย (MUI) หน่วยงานสูงสุดทางศาสนาของอินโดนีเซีย

“การกลับคำพูดเช่นนั้นในช่วงที่มีการระบาดใหญ่เป็น ฮารอม [ข้อห้ามของศาสนาอิสลาม]” นายอันวาร์ อับบาส เลขาธิการ MUI กล่าวในแถลงการณ์ฉบับหนึ่งที่กฎหมายบังคับใช้ไม่ได้

ก่อนหน้าที่จะมีคำสั่งเหล่านี้ออกมา ชาวอินโดนีเซียจำนวนมากก็ได้ตัดสินแล้วว่า จะไม่เดินทางในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโคโรนา ณ ตอนสิ้นเดือนมีนาคม ชาวอินโดนีเซีย 300,000 คน ได้ยกเลิกตั๋วรถไฟที่จองไว้สำหรับช่วงรอมฎอน โฆษกของ PT Kereta Api Indonesia (KAI) บริษัทของรัฐที่ดำเนินงานด้านการรถไฟในอินโดนีเซีย กล่าว

วีรญันติ นักศึกษามหาวิทยาลัยในกรุงจาการ์ตา ผู้เปิดเผยแต่ชื่อตัว กล่าวว่า เธอได้ยกเลิกตั๋วรถไฟที่จะเดินทางกลับหนึ่งสัปดาห์ก่อนวันอีด ไปยังเมืองยอกยาการ์ตา

“ฉันไม่อยากเสี่ยง ฉันจะกลับบ้านในเดือนกรกฎาคมแทน [ระหว่างปิดเทอม]” เธอบอกแก่เบนาร์นิวส์

ญานี วัย 22 ปี คนงานนอกระบบในตอนกลางของกรุงจาการ์ตา ผู้เปิดเผยแต่ชื่อตัวเช่นกัน กล่าวว่า เธอยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะยกเลิกตั๋วรถไฟกลับบ้านเกิดเมืองปุรวอเรโช จังหวัดชวากลาง ในตอนสิ้นเดือนพฤษภาคมหรือไม่

“ฉันอยากกลับบ้านในช่วงเลอบารัน (วันอีด) เพื่อพบกับครอบครัว แต่ฉันกลัวว่าฉันจะเอาเชื้อไวรัสนี้กลับบ้านไปด้วย หวังว่าทุกอย่างคงจะสงบลงก่อนวันอีด” ญานีบอกแก่เบนาร์นิวส์

คนจำนวนมากจับจ่ายซื้อของเตรียมรับเทศกาลถือศีลอด ที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ วันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2561 (เอส. มาห์ฟุซ/เบนาร์นิวส์)
คนจำนวนมากจับจ่ายซื้อของเตรียมรับเทศกาลถือศีลอด ที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ วันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2561 (เอส. มาห์ฟุซ/เบนาร์นิวส์)

มาตรการป้องกันของมาเลเซีย

ในมาเลเซีย สถาบันแพทย์ศาสตร์แห่งมาเลเซีย ซึ่งเป็นสถาบันตัวแทนของแพทย์ทั่วประเทศที่ได้รับการยกย่อง ได้ออกแถลงการณ์ฉบับหนึ่งเมื่อวันพุธ โดยขอให้รัฐบาลขยายระยะเวลาการควบคุมการเดินทางของประชาชนในระหว่างการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโคโรนา จากเดิมที่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 14 เมษายน

“การถอนคำสั่งก่อนเวลาอันสมควร หรือการลดหย่อนข้อกำหนดการเคลื่อนย้ายเดินทางของประชาชนมากเกินไป อาจลบล้างผลดีที่ได้จากการกักตัวเองอยู่บ้านในช่วงสี่สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ การต่อสู้กับโควิด-19 ยังไม่จบลงง่าย ๆ พวกเราได้เสียสละมาแล้วมากมาย และคงจะต้องมีการเสียสละต่อไปอีก” สถาบันนั้นกล่าว

ก่อนหน้านี้ นายอันนัวร์ มูซา รัฐมนตรีกระทรวงกิจการดินแดนสหพันธรัฐ ได้ขอให้ทำการศึกษาว่าสมควรที่จะห้ามไม่ให้มีตลาดรอมฎอนหรือไม่ หรือจะสามารถ “ดัดแปลง” ตลาดดังกล่าวได้หรือไม่”

“คงจะยอมให้มีตลาดรอมฎอนแบบเดิมไม่ได้อย่างแน่นอน” เขากล่าว โดยชี้ให้เห็นว่าตลาดจำนวนมากมีแผงหลายร้อยแผงและคนหลายพันคนในพื้นที่ที่จำกัด “แต่เราสามารถดัดแปลงตลาดเหล่านั้นได้ เราจะอนุรักษ์นิยมเกินไปไม่ได้ และจะห้าม [ตลาดเหล่านั้น] เลยก็ไม่ได้”

“ปีนี้ เห็นทีว่าแทนที่จะเป็น 50 แผงในจุดเดียว เราจะให้มีแค่ 10 แผง กระจายกันออกไป”

ทางการของเจ็ดรัฐในมาเลเซีย คือ สลังงอร์ เนกรีเซมบีลัน ตรังกานู ซาราวัก ปีนัง มะละกา และไทรบุรี ไม่รอผลการศึกษาดังกล่าว และได้ออกคำสั่งห้ามของรัฐเองในปีนี้

“การตัดสินใจมีขึ้นเพื่อประกันความปลอดภัยของประชาชนในระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด-19” นายอามินอัดดิน ฮารัน มุขยมนตรีแห่งรัฐเนกรีเซมบีลัน กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

“พ่อค้าแม่ค้าควรใช้ความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น เราจะยอมให้ขายของกลางแจ้งไม่ได้ เพราะเราไม่ต้องการเสี่ยง ผมหวังว่าทุกคนจะอดทนได้ในตอนนี้”

ฟาร์ฮัน ยัสซิน วัย 32 ปี ในเมืองกลัง รัฐสลังงอร์ บอกว่า รายได้หลักของครอบครัวเขา โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลรอมฎอน มาจากการขายของ เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ครอบครัวของเขาได้จ่ายเงินไปแล้วประมาณ 10,000 ริงกิต (76,000 บาท) เพื่อซื้อข้าวของสำหรับเทศกาลรอมฎอน และคิดว่าจะขายกะละแม (ขนมที่ทำจากน้ำตาลมะพร้าว) และเปาะเปี๊ยะ

“ปกติแล้ว เราจะขายในตลาดที่สนามกีฬาชาห์อะลัม ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดใกล้บ้านเราในเมืองกลัง แต่ปีนี้เราจองแผงขายในตลาดนั้นไม่ได้” เขาบอกแก่เบนาร์นิวส์ “เราคิดกันว่าจะตั้งร้านในย่านนั้น แต่เพราะมีคำสั่งห้ามออกจากพื้นที่ เราจึงต้องหาทางอื่น”

ความกังวลของบังกลาเทศ

ขณะเดียวกัน ผู้นำศาสนาอิสลามในบังกลาเทศ ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าสมควรที่จะยกเลิกการละหมาดเป็นกลุ่มในช่วงเทศกาลรอมฎอนหรือไม่ เนื่องจากกังวลเรื่องความปลอดภัยของประชาชนจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา อย่างไรก็ตาม สัปดาห์นี้ทางการบังกลาเทศได้จำกัดจำนวนคนที่สามารถเข้าร่วมการละหมาดเป็นกลุ่มในวันศุกร์ ในสุเหร่าท้องถิ่น ให้เหลือ 10 คนหรือน้อยกว่านั้น

“เรายังลังเลว่าควรจะแนะนำประชาชนไม่ให้ไปละหมาดที่สุเหร่า ในระหว่างเทศกาลรอมฎอนดีหรือไม่” นายอานิส มาห์หมุด อธิบดีมูลนิธิอิสลามแห่งบังกลาเทศ บอกแก่เบนาร์นิวส์

“เรายังพอมีเวลา เราจะขอความเห็นจากผู้รอบรู้เกี่ยวกับศาสนาอิสลาม และจะจัดประชุมพิเศษเพื่อตัดสินใจว่า เราจะขอให้คนละหมาดอยู่ที่บ้าน หรืออนุญาตให้ไปละหมาดที่สุเหร่าได้หรือไม่” เขากล่าว

นายมาอูลานา ฟาริด อุดดิน ผู้รอบรู้ด้านศาสนาอิสลาม ประธานสภาอูลามะแห่งบังกลาเทศ ซึ่งเป็นสภาระดับประเทศ ที่ประกอบด้วยผู้รอบรู้เกี่ยวกับศาสนาอิสลาม ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการที่ชาวมุสลิมหลายล้านคนไปที่สุเหร่าในตอนกลางคืน เพื่อละหมาดในระหว่างเทศกาลรอมฎอน และคนหลายล้านคนเดินทางกลับบ้านเกิดจากกรุงธากา และเมืองอื่น ๆ เพื่อฉลองการสิ้นสุดของเทศกาลถือศีลอด

“เราต้องหลีกเลี่ยงการชุมนุมของคนจำนวนมาก เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา” เขาบอกแก่เบนาร์นิวส์

เขากล่าวว่า รัฐบาลควรขอความเห็นจากผู้รอบรู้ด้านศาสนาอิสลาม ก่อนที่จะออกคำสั่งเกี่ยวกับเดือนรอมฎอน

“แต่เราจะขอให้เขา อย่ากลับไปบ้านเกิด เพื่อฉลองวันอีดในปีนี้” เขากล่าว

การละหมาดวันศุกร์ในประเทศไทย

ในไทย ประเทศที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ นายวิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ ผู้อำนวยการสำนักงานจุฬาราชมนตรี ซึ่งดูแลงานเกี่ยวกับศาสนาอิสลามในไทย กล่าวว่า สิ่งที่สำนักงานจุฬาราชมนตรีเป็นห่วงมากคือ การละหมาดตะรอเวียะห์ เพราะอิหม่ามบางคนยอมให้มีการละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิด ทั้ง ๆ ที่มีคำสั่งห้ามออกจากบ้านในช่วงการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนา

“ในส่วนของเดือนรอมฎอนนี้ สิ่งที่หลายคนกังวล คือ การละหมาดตะรอเวียะห์ ที่มัสยิดนั้น ซึ่งจริงๆ เราก็สามารถทำการละหมาดตะรอเวียะห์ได้ที่บ้าน ไม่ได้เป็นปัญหา เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการความปลอดภัยที่รัฐบาลประกาศใช้ในปัจจุบัน” เขาบอกแก่เบนาร์นิวส์

สำหรับอิหม่ามที่ขัดคำสั่งของจุฬาราชมนตรี “ในขณะที่ประเด็นที่มัสยิดที่ไม่ยอมทำตามคำสั่งจุฬาราชมนตรี ในเบื้องต้นคาดว่า ถ้ายังมีมัสยิดที่ฝ่าฝืนอีก จะต้องลงโทษสูงสุด คือ ปลดตำแหน่งอีหม่ามทันที ในส่วนบทลงโทษที่รองลงมานั้น ก็จะต้องพูดคุยหรือหารือให้ตกผลึกเพื่อความปลอดภัย” เขากล่าว

ฟิลิปปินส์: ประนีประนอม

ในฟิลิปปินส์ เกาะลูซอน ที่ตั้งของกรุงมะนิลา ได้มีคำสั่งห้ามออกจากพื้นที่มาหลายสัปดาห์แล้ว เพื่อป้องกันการเคลื่อนย้ายเดินทางของผู้คนหลายล้านคน ในระหว่างการระบาดใหญ่นี้ เมื่อต้นสัปดาห์นี้ นายโรดริโก ดูเตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ประกาศขยายระยะเวลาการห้ามออกจากพื้นที่ไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน ตามคำแนะนำของคณะทำงานเฉพาะกิจ

สำหรับแจ็คเกีย เลา ผู้อาศัยในกรุงมะนิลา นี่หมายความว่าเธอจะไม่สามารถเดินทางกลับไปยังบ้านเกิดที่เมืองมาราวี เพื่อฉลองเทศกาลรอมฎอนกับครอบครัวของเธอ ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอทำเป็นประจำทุกปี

“ฉันไม่สามารถกลับไปที่เมืองมาราวีได้ เพราะคำสั่งห้ามออกจากพื้นที่” เธอบอกแก่เบนาร์นิวส์

“การถือศีลอดจะมีต่อไป เราไม่ได้รับผลกระทบ คำสั่งนี้จะห้ามเราไม่ได้ เพราะนี่เป็นการเสียสละ” เธอกล่าว โดยเสริมว่าการเว้นระยะห่างทางสังคมจะกระทบต่อการละหมาดในตอนกลางคืนที่สุเหร่าต่าง ๆ ในฟิลิปปินส์

เทีย อัสมารา และรอนนา นีร์มาลา ในกรุงจาการ์ตา, ฮาดี อัซมี ในกรุงกัวลาลัมเปอร์, กัมรัน เรเซา เชาด์ฮูรี ในกรุงธากา, มารียัม อัฮหมัด ในจังหวัดปัตตานี ประเทศไทย และเจฟฟรี ไมเท็ม และมาร์ก เนวาเลส ในโคตาบาโต ฟิลิปปินส์ ร่วมเขียนรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง