นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนกลัวทางการไทยรวบส่งเวียดนาม

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์ และ เรดิโอฟรีเอเชีย
2019.03.21
กรุงเทพฯ
190321-TH-blogger-620.jpg บัค ฮง เกวี๋ยน ในรูปถ่ายล่าสุด
เครดิตภาพ นายบัค ฮง เกวี๋ยน

นายบัค ฮง เกวี๋ยน นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวเวียดนาม ซึ่งหลบซ่อนอยู่ในประเทศไทย ตกอยู่ในความหวาดกลัวว่า ตัวเขากำลังถูกเพ่งเล็งทั้งจากประเทศเวียดนาม ที่เขาหนีรอดจากการจับกุมในฐานะนักเคลื่อนไหว เมื่อสองปีที่ผ่านมา และจากประเทศไทย ที่เขาหวังว่าจะให้ที่พักพิงแก่เขาได้

เกวี๋ยน เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือ นายตรวง ซุย งัต บล็อกเกอร์ชาวเวียดนาม จากสำนักข่าวเรดิโอฟรีเอเชีย ที่ได้หายตัวไปหลังยื่นขอสถานะเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง ที่กรุงเทพฯ เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา

ทั้งนี้ บุตรสาวของนายงัต ได้ยืนยันกรณีการหายตัวไปของบิดาว่าเจ้าหน้าที่เวียดนามลักพาตัวบิดาไปคุมขังไว้ที่เรือนจำกรุงฮานอย ซึ่งเป็นคำยืนยันครั้งแรกหลังจากการหายตัวไปของนายงัตเป็นเวลาเกือบสองเดือน ซึ่งทำให้เกิดข้อสังสัยว่า ทางการไทยให้ความร่วมมือกับทางเวียดนามในการจับกุมและส่งตัว นายงัต

ด้าน นางบุษฎี สันติพิทักษ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นในกรณีดังกล่าวในวันพฤหัสบดี โดยกล่าวเพียงว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยเป็นผู้ดำเนินการ

“ตอนนี้ฉันกังวลเรื่องความปลอดภัยของฉันและครอบครัวฉัน” เกวี๋ยน ผู้เป็นบิดาของลูกสามคน ให้สัมภาษณ์พิเศษแก่เรดิโอฟรีเอเชีย

ถึงแม้ว่า นายเกวี๋ยน จะได้รับความคุ้มครองไม่ให้ถูกจับกุมและส่งกลับจากสถานะผู้ลี้ภัย ที่ได้รับจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติ แต่นายเกวียนก็ระบุว่า ตนต้องใช้ชีวิตอย่างหลบๆ ซ่อนๆ และแยกจากครอบครัวเพื่อเลี่ยงการค้นหา

“ถ้าทางการไทยจับผมได้ พวกเขาจะส่งตัวผมให้ทางการเวียดนามอย่างแน่นอน” นายเกวี๋ยน ระบุ

ความกลัวของนายเกวี๋ยนเกิดจาก เหตุการณ์ที่นายงัต ซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน และนักวิจารณ์รัฐบาลเวียดนามถูกเจ้าหน้าที่ของทางการไทยควบคุมตัวที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ชานเมืองกรุงเทพฯ และส่งมอบให้กับทางการเวียดนาม นายยัตเป็นผู้สื่อข่าวรายสัปดาห์ ของเรดิโอฟรีเอเชีย ภาคภาษาเวียดนาม ซึ่งเป็นองค์กรสื่อมวลชนที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา

ด้าน นายบุย ทัน ฮิว บล็อกเกอร์ชื่อดังชาวเวียดนาม ที่ขณะนี้ลี้ภัยอยู่ในประเทศเยอรมัน ถูกตั้งข้อหาเมื่อวันที่ 10 มีนาคม ในการโพสต์ข้อความลงบนเฟสบุ๊ค กล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยได้รุดนำตัว นายงัต ไปที่บาร์แห่งหนึ่งนอกกรุงเทพฯ ให้เจ้าหน้าที่ทางการเวียดนาม รีบลากตัวนายงัตเข้าไปในรถคันหนึ่งที่รออยู่ ซึ่งข้อความดังกล่าวถูกแชร์ต่อไปยังนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนอีกสองราย ซึ่งรู้เห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว

เรดิโอฟรีเอเชีย ไม่สามารถตรวจสอบรายละเอียดของบัญชีเฟสบุ๊คดังกล่าวได้

ทางการไทย ระบุว่า คดีนี้อยู่ระหว่างการสอบสวน ขณะที่ สมาชิกรัฐสภาสหรัฐอเมริกาต่างให้ความสนใจและเป็นกังวลกับกรณีดังกล่าวเป็นอย่างมาก แม้ว่ารัฐบาลของประธาธิบดีโดนัลล์ ทรัมป์ จะยังไม่มีการตอบโต้ในกรณีนี้ แต่รัฐบาลได้แสดงเจตจำนงค์ชัดเจนในการวิพากษ์วิจารณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศในภูมิภาคเอเชีย เช่น ประเทศไทย และ เวียดนาม ที่เป็นสถานที่จัดการประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐอเมริกา และเกาหลีเหนือเมื่อเดือนที่ผ่านมา

ไทยต้องการลบหลักฐานทั้งหมด

สำหรับเรื่องนี้ นายเกวี๋ยน กล่าวว่า ตนเองรู้สึกเหมือนถูกจับตา เนื่องจากตนเป็นผู้รู้เห็นการหายตัวไปของ นายงัต

เขากล่าวด้วยว่า ตนได้ช่วยเหลือนายงัตในการหาที่พำนักในกรุงเทพฯ และช่วยเหลือการยื่นเอกสารสมัครขอเป็นผู้ลี้ภัยที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติ ที่ตั้งอยู่ในเมืองหลวงของไทย ในวันที่ 25 มกราคม ซึ่งเป็นหนึ่งวันก่อนหน้าที่นายงัต จะหายตัวไป รวมถึงมีข้อมูลเชิงลึกถึงเหตุผลที่นายงัตหลบหนีออกจากประเทศเวียดนามตั้งแต่ต้น

ด้าน ตรวง ถก ดวน บุตรสาวของนายงัต ที่อาศัยในประเทศแคนาดา กล่าวว่า เจ้าหน้าที่เรือนจำได้แจ้งแม่ของเธอ นางเกา ติ ซวน เฟือง ซึ่งเป็นภรรยาของนายงัตว่า นายงัต ถูกทางการเวียดนามควบคุมตัวไป เมื่อวันที่ 28 มกราคม สองวันหลังจากถูกลักพาตัวจากกรุงเทพฯ โดยนายงัต ถูกคุมขังที่เรือนจำกรุงฮานอย (T16) และนางเพือง ภรรยาก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เยี่ยมนายงัต

“เห็นได้ชัดว่า พ่อของฉันไม่ได้กลับไปเวียดนามด้วยความสมัครใจ” ตรวง กล่าว

ขณะนี้เขากำลังขอลี้ภัยไปยังประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นประเทศจุดหมายปลายทางที่ผู้ลี้ภัยต้องการ หลังจากที่สหรัฐอเมริกาลดการรับผู้ลี้ภัยน้อยลง

สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองประเทศไทยปฏิเสธการส่งตัวนายเกวี๋ยน ออกนอกประเทศ

นายเกวี๋ยน เข้ามายังประเทศไทยเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2560 เนื่องจากหนีหมายจับที่ออกโดยทางการเวียดนามข้อหา “ก่อความไม่สงบ” หลังจากที่นายเกวี๋ยนจัดการชุมนุมครบรอบในปี 2559 ของ “การทิ้งขยะที่สร้างมลพิษให้กับชายฝั่งตอนกลางของเวียดนาม” ถือเป็นภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อม ที่ก่อให้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่

“เราไม่มีชื่อ บัค ฮง เกวี๋ยน ในระบบ เขาไม่ได้อยู่ที่นี่” พ.ต.อ.ทัตพงศ์ สณวรางกูล ผู้กำกับกองกำกับการส่งผู้ต้องกักออกนอกประเทศ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กล่าวกับเบนาร์นิวส์

พ.ต.อ.ทัตพงศ์ ระบุด้วยว่า ไม่สามารถให้ความเห็นกรณีนายเกวี๋ยน อ้างว่าถูกตำรวจไทยติดตามตัวอยู่

ศูนย์กลางเดิมที่ผู้ลี้ภัยหนีมาพักพิง

แม้ว่าประเทศไทยไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติในปี 2494 แต่ยังคงถูกมองว่าเป็นศูนย์กลางของผู้ลี้ภัยที่หนีจากสงครามหรือการกดขี่จากประเทศเพื่อนบ้านมาพักพิง

ตัวอย่างการเนรเทศ หรือ การบังคับให้ผู้ลี้ภัยหรือผู้แสวงหาที่พักพิงที่อยู่ในความกลัวว่าจะถูกประหัตประหาร ออกนอกประเทศ ดังเช่น การส่งมุสลิมอุยเกอร์จำนวนกว่า 100 ชีวิต กลับไปยังประเทศจีน เมื่อปี 2558 ทำให้นานาประเทศออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง

แต่ผู้ลี้ภัย เกือบร้อยละ 10 ของ “บุคคลในความห่วงใย” กว่า 5,000 คน ที่ได้ลงทะเบียนไว้กับยูเอ็นเอชซีอาร์ ในประเทศไทย ยังคงเผชิญกับสถานการณ์ที่ล่อแหลมในสถานที่กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา นักเคลื่อนไหวขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน ระบุว่า จากการติดตามการค้นบ้านของนายเกวี๋ยน เมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา สร้างความหวาดกลัวว่า ทางการไทยจะอนุญาตให้ทางการเวียดนามลักพาตัวเขาข้ามประเทศได้

“เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของนายบัค ฮง เกวี๋ยน และ ครอบครัวของเขา ในสถานะที่เขาได้เป็นผู้ลี้ภัย และขอให้หยุดการข่มขู่คุกคามนายเกวี๋ยน ไม่ว่าทางใดก็ตาม” แดเนียล บัสตาร์ด ผู้นำองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค กล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง