ผู้นำศาสนาห้าจังหวัดชายแดนใต้ หาทางป้องกันกลุ่มบิดเบือนศาสนาอิสลาม-ไอซิส

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2016.11.18
นราธิวาส
TH-islam-620 คณะผู้นำศาสนาอิสลามในห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ความรู้เยาวชน โรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม ที่อำเภอยี่งอ นราธิวาส วันที่ 18 พ.ย. 2559
เบนาร์นิวส์

โดยในวันศุกร์ (18 พ.ย. 59) นี้ ผู้นำศาสนาอิสลามในห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ร่วมประชุมในเรื่องการหาหนทางป้องกันการระบาดของการบิดเบือนศาสนา ซึ่งนำไปสู่การใช้ความรุนแรงและอุดมการณ์รัฐอิสลาม ที่บ่อนทำลายศาสนาอิสลามและยังทำลายความมั่นคงของชาติ

นายอับดุลเราะห์มาน อับดุลสมัด ประธานสมาพันธ์คณะกรรมการอิสลาม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เป็นประธานประชุมวาระพิเศษ เพื่อรับทราบและเสนอแก้ไขปัญหาในเรื่องความเป็นอยู่และเสถียรภาพ ชาติพันธุ์ ศาสนา ตลอดจนปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลาม จังหวัดนราธิวาส โดยมีคณะเลขานุการคณะกรรมการอิสลาม และนักศาสนา 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดสตูล  สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส และผู้แทนสื่อมวลชนจากประเทศมาเลเซีย เข้าร่วมประชุม

หลังเสร็จสิ้นการประชุม นายอับดุลเราะห์มาน ได้กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ โดยได้กล่าวย้ำถึงภยันตรายของการที่มีคนบางกลุ่มได้บิดเบือนศาสนาอิสลาม เพื่อหลอกลวงชาวมุสลิมให้ใช้ความรุนแรง โดยกลับกลายเป็นการทำลายศาสนาอิสลาม และทำลายความมั่นคงของชาติ

“มันเป็นมหันตภัยอันตรายอย่างยิ่ง เพราะการสอนที่บิดเบือนศาสนา คนที่เชื่อจะถูกหลอกใช้เป็นเครื่องมือ ทำลายศาสนาอิสลาม และยังทำลายต่อความมั่นคงของประเทศชาติ และเราต้องป้องกันคนของเราไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของกลุ่มบุคคลที่ใช้ความพยายามบิดเบือนศาสนาอิสลาม และการแพร่กระจายของกลุ่มไอซิส” นายอับดุลเราะห์มาน กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“เราห่วงใยประชาชนชาวมลายู หรือชาวไทยมุสลิม ที่บริโภคข่าวสารในหลายด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการบอกปากต่อปาก สื่อโชเชียลมีเดีย หรือสื่อสารมวลชน นั่นคือการรับข่าวสารที่เป็นข้อเท็จจริง และหลายครั้งมีแต่ข้อเท็จ มีการสร้างเพื่อให้เกิดความเข้าใจผิด และสร้างเงื่อนไขให้เกิดขึ้นในสังคม เพื่อขยายความขัดแย้งให้เกิดขึ้น ซึ่งหลายๆ ครั้ง มันเป็นเรื่องของผลประโยชน์” นายอับดุลเราะห์มาน กล่าวเพิ่มเติม

ผู้เชี่ยวชาญสถานการณ์ภาคใต้ กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย มีปัญหาข้อขัดแย้งภายใน โดยการใช้อาวุธของชาวเชื้อสายมลายูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนหนึ่ง กล่าวว่าตนต้องการเอกราชรัฐปาตานี ที่ถูกอาณาจักรสยามยึดครองมานานหลายศตวรรษคืนมา แต่ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าชาวเชื้อสายมลายูนับถือศาสนาอิสลาม จึงได้มีกลุ่มหัวรุนแรง ได้นำเอาศาสนามาเป็นเครื่องมือในการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์รัฐปาตานี

“รัฐบาลไทยได้แก้ปัญหาเพื่อความมั่นคงและดีขึ้นตามลำดับ แต่ที่นักศาสนาหวาดกลัวที่สุด คือ มีกลุ่มบุคคลบางกลุ่มที่อ้างมีความรู้เรื่องศาสนา ซึ่งมันเกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ อาทิ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เรียกว่า กลุ่มบุคคลบิดเบือนศาสนาอิสลาม สอนให้ผู้คนหรือหลอกให้ผู้คนเชื่อศรัทธาทำสิ่งใดตามพวกตนบอก ได้เข้าสวรรค์อย่างแน่นอน และยังอ้างศาสนาอิสลามแบบผิดบิดเบือน ให้ก่อเหตุใช้ความรุนแรงต่อผู้บริสุทธิ์ อย่างโหดเหี้ยมไร้ปราณี ซึ่งไม่ใช่เป็นหลักคำสอนศาสนาอิสลามแต่อย่างใด”  นายอับดุลเราะห์มาน กล่าว

ทั้งนี้ ตั้งแต่การเกิดเหตุรุนแรงระลอกใหม่ ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2547 ได้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 6,700 ราย อิงตามตัวเลขของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้

เราจำเป็นจะต้องป้องกันและมีมาตรการให้ชัดขึ้น เพื่อไม่ให้ประชาชนตกเป็นเครื่องมือ จึงขอให้ประชาชนทุกคนฟังศาสนาในมัสยิดที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น เพื่อป้องกันบุคคลแฝงตัว และจะมีมาตรการอื่นอีกตามมา เป็นเสมือนวัคซีนป้องกัน” นายอับดุลเราะห์มาน กล่าวเพิ่มเติม

นอกจากนี้ นายอับดุลเราะห์มาน กล่าวอีกว่า ตนจะออกหนังสือในวาระพิเศษ เป็นหนังสือย้อนอดีตคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และความสัมพันธ์ฉันมิตรกับประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนเรื่องราวเกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลาม หรืออื่นๆ อีกมากมาย ฯลฯ ให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาในข้อเท็จจริง อย่างไม่บิดเบือน

ในส่วนของอุดมการณ์รัฐอิสลาม (Islamic State) ที่มีต้นกำเนิดในประเทศซีเรีย-อิรัค โดยกลุ่มหัวรุนแรงที่ก่อตั้งโดยอดีตกลุ่มอัลเคดะนั้น พันเอกปราโมทย์ พรหมอินทร์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ ในวันนี้ ว่า “ตลอดที่ผ่านมาในพื้นที่ ไม่เคยมีข้อมูลว่าไอเอสเข้ามาเคลื่อนไหวในพื้นที่เลย ที่สำคัญปัญหาบ้านเราเป็นปัญหาภายใน ไม่เคยมีเรื่องกับตะวันออกกลาง"

เหตุมัสยิดกรือเซะกับการบิดเบือนศาสนา

นายอับดุลเราะห์มาน กล่าวอีกว่า เหตุการณ์ยิงปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่กับคนร้ายที่บริเวณมัสยิด เมื่อปี 2547 จนทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิตสองนายและบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง ส่วนคนร้ายเสียชีวิตทั้งในและนอกมัสยิด รวม 32 ศพ นั้น องค์กรที่ดูแลในเรื่องศาสนาอิสลาม ทั้งสมาพันธ์และคณะกรรมอิสลาม ชายแดนภาคใต้ ได้ทำการติดตามและวิเคราะห์ หาหลักฐานกรณีบุคคลที่เสียชีวิต พบว่า บุคคลเหล่านั้น มีความเชื่อในเรื่องศาสนาและได้รับคำสอนที่บิดเบือน ซึ่งแหล่งคำสอนมาจากสถานที่หนึ่งในประเทศมาเลเซีย ทำให้บุคคลเหล่านั้น กระทำการโดยไม่กลัวตาย เพราะเชื่อตามคำสอนที่ถูกบิดเบือนว่าการต่อสู้จนตัวตายนั้นตนเองจะเข้าสู่สวรรค์

“ในปัจจุบันเรายังพบว่า ในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส และอีกหลายจังหวัด ยังมีกลุ่มบุคคลมาสอนนัดหมายตามบ้านเรือน ในหมู่บ้าน และมีการขยายวงจรซาตาน บิดเบือนศาสนาอย่างต่อเนื่อง” นายอับดุลเราะห์มาน กล่าวโดยไม่ได้ให้รายละเอียดของกลุ่มบุคคลต่างๆ ดังกล่าว

ทางด้าน นายอัลฮามี อิซซัม (Ilhami Hisham) และนักเขียนอิสระ รัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย ที่ได้เข้าฟังการประชุม กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า เรื่องการเบี่ยงเบนศาสนาอิสลามในมาเลเซียมีมานานแล้ว แต่เป็นการกระทำที่ไม่เปิดเผย และมีหลายกลุ่มที่รัฐบาลติดตาม และยังมีความเคลื่อนไหวกระแสไอซิสด้วย ทำให้นานาประเทศ โดยเฉพาะในหมู่ประเทศที่กำลังประสบปัญหาความไม่สงบภายใน เกรงว่าจะยิ่งเป็นตัวเร่งให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบจนถึงขั้น "การก่อการร้าย" และสร้างความรุนแรงต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์

“สิ่งที่ประเทศมาเลเซีย ไทย หรือประเทศใดๆ ควรทำคือ 1. อย่าปล่อยบุคคลผู้ไม่หวังดีสอนศาสนาอิสลามที่บิดเบือน 2. ต้องให้ความรู้กับประชาชนว่า อย่าหลงเชื่อการสอนศาสนาที่บิดเบือน” นายอัลฮามี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง