ไทยจับกุมงาช้างแอฟริกา หนักเจ็ดตัน ถือเป็นการจับกุมครั้งใหญ่ที่สุด ถึงสองครั้งติดกัน

ทีมข่าว เบนาร์นิวส์
2015.04.27
TH-ivory-620 เจ้าหน้าที่ศุลกากรไทยกำลังวัดขนาดงาช้างที่จับกุมได้ ในการแถลงข่าวที่กรมศุลกากร กรุงเทพฯ วันที่ 27 เมษายน 2558
[เอเอฟพี]

ทางการไทยได้จับกุมยึดงาช้างแอฟริกัน ถึงสองครั้ง ในรอบแปดวันที่ผ่านมา น้ำหนักรวม 7127 กิโลกรัม หรือกว่า 7 ตัน มูลค่ากว่า 400 ล้านบาท (หรือ 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ถูกลักลอบนำเข้า และเพื่อผ่านแดนไปจำหน่ายในประเทศลาว เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรแถลง

เมื่อวันที่ 25 เมษายน เจ้าหน้าที่ได้ตรวจค้น จับกุมงาช้าง จำนวน 511 ชิ้น ที่ซุกซ่อนมาในตู้คอนเทนเนอร์ สำแดงชนิดสินค้าเป็น ใบชา น้ำหนัก 11,000 กิโลกรัม ต้นทางบรรทุกจาก ประเทศเคนยา ทวีปแอฟริกา เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรรายงาน ในวันจันทร์นี้

เส้นทางการขนส่ง ผ่านมาทาง ประเทศศรีลังกา มาเลเซีย และสิงคโปร์ ก่อนที่จะมาถึงประเทศไทย ที่ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี  เจ้าหน้าที่กล่าว

“จากการสืบสวนสอบสวนเชื่อว่า งาช้างเหล่านี้ เมื่อผ่านแดน สปป.ลาว แล้วจะมีการจำหน่ายให้กับกลุ่มผู้ซื้อในประเทศจีน เวียดนาม และไทยต่อไป”  เจ้าหน้าที่แถลงต่อ

การจับกุมใหญ่ครั้งแรกที่เพิ่งผ่านมา เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2558 ทางการไทยได้จับกุม และยึดงาช้าง จำนวน 739 ชิ้น ซุกซ่อนมาในถุงถั่ว ในตู้คอนเทนเนอร์ จากประเทศสาธารณรัฐคองโก ซึ่งถือว่าเป็นการจับกุมครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ถึงสองครั้ง ในช่วงเวลาห่างกันเพียง 8 วัน

จากการสืบสวนเส้นทางการลักลอบ ผ่านประเทศมาเลเซีย และก่อนที่จะถูกจับกุมที่ ท่าเรือกรุงเทพฯ โดยมีใบขนสินค้าระบุนำผ่านประเทศไทย ที่ด่านศุลกากรช่องเม็ก จังหวัดอุบลราชธานี

การลักลอบค้างาช้างเถื่อนทั้งสองครั้งนี้ นับเป็นมูลค่าประมาณกว่า 400 ล้านบาท

"สำนักสืบสวนและปราบปราม สืบสวนเส้นทางการลักลอบ ที่ได้รับจากสายข่าวอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาสองเดือน โดยสายข่าวแจ้งว่า อาจจะมีการลักลอบนำเข้างาช้างจากแอฟริกา กับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่จะผ่านไปยังชายแดนลาว"  ดร. สมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีศุลกากร กล่าวกับผู้สื่อข่าวขณะนั้น เอพีรายงาน

“สปป. ลาว เป็นศูนย์กลางการขนส่งที่สำคัญ สำหรับสินค้าขนาดใหญ่ ปริมาณสูง เช่น งาช้างผิดกฎหมาย และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าประเภทอื่นๆ" ดร. คริส เชพเพิร์ด จาก องค์กร TRAFFIC ซึ่งป็นองค์กรอนุรักษ์ และติดตามการค้าสัตว์ป่า กล่าวกับ เอเอฟพี

"การจับกุมการลักลอบค้าของเถื่อนในปริมาณมาก และยังมีเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ได้สร้างความวิตกกังวลอย่างสูง ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าช้างสดๆเพื่อเอางา หรือ จะเป็นงาที่นำออกมาจากสต็อกของงาช้างในแอฟริกาก็ตาม ก็จะต้องมีการตรวจสอบ" ดร. สมชัย กล่าว  รายงานจาก เอเอฟพี

กองควบคุมในการถือปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora) หรือ CITES ได้คาดโทษ ด้วยการห้ามทำการค้าสัตว์ป่าและผลิตภัณฑ์กับประเทศไทย หากไทยไม่สามารถระงับการลักลอบค้างาช้างผิดกฎหมายในแผ่นดินไทยได้  เอเอฟพีกล่าวว่า

กฎหมายไทยอนุญาตให้ค้างาช้าง เฉพาะช้างไทยที่จดทะเบียน ผู้เชี่ยวชาญกล่าวเสริมว่า กลุ่มอาชญากรข้ามชาติก็ยังคงลักลอบนำงาช้างแอฟริกันผิดกฎหมายผ่านแดนประเทศไทย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง