กรมศุลกากรแถลงจับกุมงาช้างมูลค่าร่วม 40 ล้าน ที่ด่านเกาะสมุย

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2015.12.18
TH-ivory-620 เจ้าหน้าที่รักษาพันธุ์สัตว์ป่า แสดงงาช้างหนักกว่า 700 กิโลกรัม ที่กรมศุลกากร ในกรุงเทพฯ หลังจากถูกจับกุมได้สัปดาห์ที่แล้วที่ด่านสมุย เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2558
เอเอฟพี

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2558 นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร พร้อมด้วย พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน รอง ผบ.ตร. และ นายธันยา เนติธรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ร่วมกันแถลงข่าวจับกุมงาช้างรวม 281 ท่อน น้ำหนัก 771.53 กก. และเกล็ดตัวนิ่ม 12 กระสอบ น้ำหนัก 587 กก. รวมมูลค่ากว่า 40 ล้านบาท ที่กรมศุลกากร กรุงเทพฯ

โดยจับกุมได้ที่ด่านศุลกากรเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2558 นำโดยนายศรัญญู ไชยกันยา หัวหน้าฝ่ายสืบสวนและปราบปรามและทีมเจ้าหน้าที่ ได้ตรวจสอบเอกสารของสินค้า และพบเป็นที่น่าสงสัย จึงประสานและร่วมมือกับสายการบินตรวจสอบด้วยเครื่องเอ็กซเรย์พบว่า เป็นงาช้างกิ่งและท่อน และเกล็ดลิ่นดังกล่าว จึงดำเนินการวางแผนจับกุมกลุ่มขบวนการลักลอบขนสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ และนำส่งด่านศุลกากรเกาะสมุย เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

โดย นายกุลิศ กล่าวแก่ นสพ.เดลินิวส์ ว่า เจ้าหน้าที่ได้สืบทราบว่า จะมีการลักลอบขนงาช้างผิดกฎหมายผ่านเข้ามาในประเทศ จึงได้ทำการตรวจสอบเอ็กซเรย์อย่างละเอียดที่ท่าอากาศยานนานาชาติสมุย พบงาช้างผิดกฎหมายกว่า 281 ท่อน มูลค่า 38 ล้านบาท และเกล็ดลิ่น มูลค่า 2 ล้านบาท สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จึงได้ร่วมสนธิกำลังเพื่อป้องกันและตรวจจับการค้างาช้างผิดกฎหมาย โดยเฉพาะงาช้างที่ลักลอบเข้าจากทวีปแอฟริกา และนำเข้ามาแปรรูป การผลิต แกะสลัก เพื่อสวมสิทธิ์เป็นงาช้างจากประเทศไทย

จากการตรวจสอบ พบว่าเป็นบริษัทนายหน้ารายใหม่ต้นทางจากประเทศไนจีเรีย ผ่านประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม และเข้าประเทศไทย จึงจะใช้สนามบินในภูมิภาคเป็นจุดขนส่งผ่าน แทนสนามบินนานาชาติในกรุงเทพฯ เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับของเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรที่เข้มงวด ก่อนจะส่งต่อไปยังประเทศลาว

หลังจากสามารถจับกุมได้ งาช้างจะถูกนำส่งพิสูจน์ดีเอ็นเอต่อไป เพื่อทำการขยายผล และออกหมายจับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อไป จากการแถลงของกรมศุลกากร กรณีดังกล่าวถือเป็นความผิด พระราชบัญญัติศุลกากร พระราชบัญญัติคุ้มครองสัตว์ป่า พระราชบัญญัติกักกันโรค และอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม การจับกุมงานครั้งนี้ ถือเป็นครั้งใหญ่ที่สุดในงบประมาณปี 2559 ซึ่งเริ่มเดือนตุลาคม 2558

ตามเอกสารกรมศุลกากร สถิติปีงบประมาณ 2558 สามารถจับกุมงาช้างทั้งสิ้น 9 ราย จำนวน 1402 ท่อน มูลค่า 407.88 ล้านบาท

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง