ศาลไทยกักตัวกว่า 60,000 คนต่อปี ในเรือนจำ เหตุไม่มีเงินประกันตัว

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2017.12.05
กรุงเทพฯ
171205-TH-bail-620.jpg ผู้ชุมนุมประท้วงโรงงานไฟฟ้าเทพาที่ตกเป็นผู้ต้องหาทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ หลังถูกคุมตัวตั้งแต่วันจันทร์ ศาลสงขลาให้ประกันตัวในวันพุธที่ 29 พฤศจิกายน 2560
ภาพโดย บรรจง นะแส

“คุกมีไว้ขังคนจนเท่านั้น” เป็นคำที่พูดสะท้อนความเหลื่อมล้ำในเรื่องความยุติธรรมของสังคมไทย แต่ทว่าสถาบันวิจัยและพัฒนารพีพัฒนศักดิ์ สำนักงานศาลยุติธรรม และนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้พยายามแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ด้วยการเสนอแนวทางเพื่อให้ศาลสถิตยุติธรรม ใช้แบบประเมินความเสี่ยงแทนหลักทรัพย์ค้ำประกันในการพิจารณาให้การประกันตัวผู้ต้องหา

สถาบันรพีฯ เปิดเผยข้อมูลว่า ในแต่ละปีมีคนไทยกว่า 66,000 คน ถูกควบคุมตัวในเรือนจำ เพียงเพราะไม่มีเงินประกันตัว ทั้งที่คนเหล่านั้นยังไม่ถูกตัดสินว่ามีความผิด

แม้ว่า มาตราที่ 29 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ระบุว่า “ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคําพิพากษา อันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทําความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทําความผิดมิได้” แต่การกักขังผู้ต้องหาระหว่างการพิจารณาคดี เป็นการลงโทษผู้ต้องหาที่การพิจารณาคดียังไม่สิ้นสุดไปแล้ว โดยเฉพาะกับผู้ที่ถูกพิจารณาว่าเป็นผู้บริสุทธิ์

“เท่าที่ผมเคยคุยกับนักโทษในเรือนจำ จำนวนไม่น้อยต้องยอมรับสารภาพ เพราะว่าเขาไม่มีเงินประกันตัว แล้วเขาก็รู้สึกว่าการที่เขาไปอยู่ในเรือนจำ เหมือนเขาถูกพิพากษาไปแล้ว” นายรังสิมันต์ โรม นักเคลื่อนไหวกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย หนึ่งในผู้ที่เคยถูกควบคุมตัวในชั้นสอบสวน 2 ครั้ง ครั้งละ 12 วัน จากแสดงออกทางการเมือง เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์

“แต่ถ้าเขาเป็นนักโทษเด็ดขาด มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว เวลามีวันสำคัญจะได้รับการปล่อยตัวเร็วขึ้น ดังนั้น ทำให้คนจำนวนมากไม่ได้รู้สึกว่าต้องสู้คดี เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเอง กระบวนการทำให้คนต้องยอมจำนน คนที่ไปอยู่ในนั้นแบบไม่มีความหวังไม่รู้จะสู้ทำไม” นายรังสิมันต์ กล่าว

ในขณะที่มาตรา 10 ของกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาระบุว่า “คดีมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินห้าปีขึ้นไป ผู้ที่ถูกปล่อยชั่วคราวต้องมีประกันและจะมีหลักประกันด้วยหรือไม่ก็ได้ ในคดีอย่างอื่นจะปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีประกันเลย หรือมีประกัน หรือมีประกันและหลักประกันด้วยก็ได้ การเรียกประกันหรือหลักประกันตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองจะเรียกจนเกินควรแก่กรณีมิได้” แต่ทว่าในทางปฏิบัติ ศาลยังนิยมใช้หลักทรัพย์มาเป็นหนึ่งในข้อกำหนดเงื่อนไขในการขอประกันตัว

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นตัวอย่างของผู้ต้องหาที่แม้จะได้รับการประกันตัวด้วยวงเงินสูงถึงสามสิบล้านบาท แต่ก็ยังหนีไปก่อนหน้าที่จะมีการอ่านคำพิพากษาคดีทุจริตจำนำข้าวฯ เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

เมื่อเดือนกันยายนนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ออก พ.ร.บ.มาตรการกํากับและติดตามจับกุมผู้หลบหนีการปล่อยชั่วคราวโดยศาล ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ จะสามารถนำมาใช้จริงร่วมกับ แบบประเมินความเสี่ยงฯ โดยศาลมีอำนาจในการแต่งตั้งผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยตัวได้ ในขณะเดียวกันสถาบันรพีฯ ได้หารือร่วมกับ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อทำความเข้าใจในการนำใช้แนวทางนี้ในอนาคตแล้ว ในบางกรณีที่ ผู้ต้องหา หรือจำเลย ต้องถูกควบคุมตัวเป็นพิเศษ อาจใช้กำไลข้อเท้า และใช้ระบบค้นหาตำแหน่งผ่านทางโทรศัพท์มือถือ ในการกำกับดูแลผู้ได้รับการปล่อยตัวด้วย

ศาลไทยบางแห่งเริ่มทดลอง การปล่อยตัวชั่วคราว

ด้วยเหตุนี้เอง สถาบันวิจัยและพัฒนารพีพัฒนศักดิ์ สำนักงานศาลยุติธรรม จึงได้เสนอให้ประเทศไทย ใช้แบบประเมินความเสี่ยงในการปล่อยตัวชั่วคราว ทดแทนการค้ำประกันด้วยเงิน ซึ่งเริ่มทดลองใช้แล้วเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 ในศาล 5 แห่ง คือ ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลจังหวัดจันทบุรี ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ และศาลจังหวัดเชียงใหม่

“สหรัฐอเมริกามีปัญหาคล้ายคลึงกับเรา มีการปล่อยชั่วคราวแบบใช้เงินเป็นหลัก สหรัฐฯ เลยแก้ปัญหานี้ โดยใช้ระบบประเมินความเสี่ยงในการปล่อยชั่วคราวว่า จะปล่อยหรือไม่ปล่อย เขาใช้แล้วได้ผล เราเลยดูเป็นต้นแบบ ให้สถาบันพฤติกรรมศาสตร์ มศว ประสานมิตร มาทำหน้าที่พัฒนาแบบวิจัย เราได้ปัจจัย 14 ปัจจัย ทำนายคนได้” นายมุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา และผู้กำกับดูแลสถาบันรพีฯ เปิดเผยในงานสัมมนาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“ทางสถิติแล้ว ประกันด้วยเงินน้อย ประกันด้วยเงินมาก ก็หนีเหมือนกัน อัตราโทษสูง ก็ไม่ใช่หนีมากกว่า แต่สิ่งที่เราค้นพบ คือ คนที่เคยหนี มีความเสี่ยงที่จะหนีกว่าคนที่ไม่เคยหนี 17 เท่า อย่างไรก็ตาม แบบประเมินฯ ต้องพัฒนาทุก 2-3 ปี เราทดลองใช้ใน 5 ศาลตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ โดยวิธีนี้เราปล่อยคนไปได้ 700 คนแล้ว มีอัตราการไม่มาศาลด้วยเหตุต่างๆ ห้าเปอร์เซนต์” นายมุขเมธิน กล่าวเพิ่มเติม

ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2560 ได้ให้ทดลองใช้ใน ศาลอาญาธนบุรี ศาลจังหวัดขอนแก่น ศาลจังหวัดสุรินทร์ ศาลจังหวัดชัยภูมิ ศาลจังหวัดเชียงราย ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และศาลจังหวัดฮอด เพิ่มจาก 5 ศาลแรกแล้ว ทำให้ปัจจุบัน มี 12 ศาลที่ทดลองใช้แบบประเมิน

การรณรงค์ “ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน”

การเปิดเผยข้อมูลของสถาบันรพีฯ ทำให้เครือข่ายปฎิรูปการประกันตัวเพื่อคนจน ซึ่งริเริ่มโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ผลักดันแนวคิดนี้ผ่านการรณรงค์ “ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน” โดยขอให้ประชาชนทั่วไป ร่วมลงชื่อในเว็บไซต์ change.org ตั้งเป้าหมายให้ได้ 66,000 รายชื่อ เพื่อนำไปยื่นให้กับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม ผลักดันให้ศาลยุติธรรม 250 แห่งทั่วประเทศใช้ “แบบประเมินความเสี่ยงในการปล่อยตัวชั่วคราว” แทนการใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งในขณะนี้ มีผู้ลงรายรายชื่อแล้วกว่า 32,000 ราย

“เพื่อไม่ให้หนีไปก่อนพิจารณาคดี แต่เขาสามารถวางเงินประกันเพื่อซื้ออิสรภาพช่วงรอได้ เมื่อมาฟังศาลตัดสิน ไม่ว่าผิดหรือถูก ก็จะได้เงินประกันคืนไป... แต่ในทางกลับกัน คนจนที่ไม่มีเงินเอาไว้ประกันตัวเอง จะต้องติดคุกระหว่างรอการพิจารณา ซึ่งเฉลี่ยแล้วอาจกินเวลาในคุก 6 เดือน ถึง 1 ปี ทั้งที่ตัวเองอาจจะไม่ได้ผิดเลย ระบบนี้ทำลายชีวิตของคนจนกว่า 60,000 คนต่อปี จากผู้ต้องขังทั้งหมด 3 แสนคนต่อปี” เครือข่ายปฎิรูปการประกันตัวเพื่อคนจนระบุบนเว็บไซต์

"ปล่อยเป็นหลัก ประกันเป็นรอง"

นางปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า รัฐตระหนักถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมดี กรมคุ้มครองสิทธิฯ เอง จึงได้จัดตั้ง เพื่อช่วยเหลือด้านทุนทรัพย์สำหรับผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี ควบคู่ไปกับการนำร่องใช้แบบประเมินความเสี่ยงการปล่อยตัวชั่วคราวของศาล

“รัฐบาลได้ผ่านกฎหมายกองทุนยุติธรรมขึ้นมา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อให้คนยากจนสามารถยื่นขอกองทุนไปเพื่อการปล่อยตัวชั่วคราว แต่เดิมกองทุนยุติธรรมเริ่มมานานแล้ว จนกระทั่งรัฐบาลนี้ ผลักดันให้เป็น พ.ร.บ. จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ก็มีคนที่ได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรมจำนวนมาก” นางปิติกาญจน์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

จากสถิติพบว่า ระหว่างปี 2549-2559 มีผู้มายื่นคำขอรับการสนับสนุนจากกองทุนยุติธรรม 17,436 ราย พิจารณาไปแล้ว 16,484 ราย ซึ่งกองทุนได้จ่ายเงินช่วยเหลือไปทั้งสิ้น 438,925,005.77 บาท โดย 87.7 เปอร์เซ็นต์ของเงินที่จ่ายไปทั้งหมด เป็นการช่วยเหลือเงินประกันตัว 6.4 เปอร์เซนต์ เป็นการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการจ้างทนายความสู้คดี และที่เหลือเป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ

เฉพาะในปี 2559 มีผู้ขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนฯ ถึง 4,529 ราย โดยจากการศึกษามีการประเมินว่า หากกองทุนยุติธรรม มีงบประมาณ 120 ล้านบาท จะสามารถช่วยเหลือคนที่ขาดแคลนทุนในการสู้คดีได้ถึง 5.9 หมื่นราย

ด้าน น.ส.เยาวลักษณ์ อนุพันธ์ หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ตนเห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว แต่เห็นควรว่าศาลต้องปรับลดหลักประกันให้ต่ำลง หรือตัดการใช้หลักทรัพย์ประกันตัวในคดีบางประเภท ควบคู่ไปด้วยจึงจะเกิดความเหมาะสม และลดปริมาณผู้ต้องขังได้จริง

“โดยหลักต้องปล่อยเป็นหลัก ประกันเป็นรอง แต่ที่ผ่านมาปรากฎว่า ประกันเป็นหลัก ปล่อยเป็นรอง มันถึงมีคนติดคุกแบบนี้ พอประกันเป็นหลัก เลยส่งผลให้มีการกำหนดวงเงินประกันสูงเกินจริง ถ้าเป็นคนจนไม่มีเงินอยู่แล้ว จากประสบการณ์ คนจนไม่หนีหรอก มีแต่คนรวยนี่แหละที่หนีแล้วหนีเลย จากที่ทำคดีชาวบ้านโดยใช้หลักทรัพย์กระทรวงยุติธรรมเนี่ย พวกนี้ไม่เคยหนีเลย” น.ส.เยาวลักษณ์กล่าว

“ณ ตอนนี้ หลักประกันมันไม่เหมาะสม มันสูงมาก ถ้าเปลี่ยนได้ก็ควรทำให้หลักประกันเหมาะสม หลักทรัพย์ต้องน้อยลงให้เหมาะสม จริงๆ สามารถใช้ข้อกำหนดแทนการประกันตัวได้ เช่น กำหนดให้มารายงานตัว ถ้าผิดเงื่อนไขค่อยคุมตัว หรือกำหนดหลักทรัพย์ คิดว่าน่าจะใช้แบบนี้มากกว่า” น.ส.เยาวลักษณ์ กล่าวเพิ่มเติม

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง