ศาลปกครองตัดสินกะเหรี่ยงแก่งกระจานบุกรุกที่อุทยานแห่งชาติ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2016.09.07
กรุงเทพฯ
TH-karen-1000 นายคออี้ มีมิ หรือ ปู่คออี้ (นั่งรถเข็น) ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยและพวก จากเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ฟังคำพิพากษาที่ศาลปกครองกลาง กรุงเทพฯ วันที่ 7 กันยายน 2559
เครดิตภาพจากเฟซบุ๊ก ไผ่ ดีเทศน์

ในวันพุธ(7 กันยายน 2559)นี้ ศาลปกครองกลางอ่านคำพิพากษาคดีที่นายคออี้ มีมิ ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยและพวกรวม 6 คน จากเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในข้อหาเผาทำลายบ้านของชาวกะเหรี่ยง โดยเรียกร้องให้กรมอุทยานฯชดเชยค่าเสียหายของสิ่งปลูกสร้าง และของใช้ที่ถูกทำลายจากการเข้ารื้อถอนของเจ้าหน้าที่ ซึ่งคำพิพากษาของศาลระบุว่า เจ้าหน้าที่ไม่จำเป็นต้องชดเชยค่าสิ่งปลูกสร้างที่ถูกเผาทำลาย เนื่องจากเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ แต่สั่งให้มีการชดเชยมูลค่าของใช้ภายในบ้านรายละ 10,000 บาท

ศาลปกครองกลาง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม มีคำพิพากษาโดยสรุปใจความสำคัญได้ว่า พื้นที่ซึ่งเกิดการพิพาทเป็นพื้นที่ที่ถูกผู้ฟ้องแผ้วถางเพื่อการเกษตร โดยไม่ใช่พื้นที่ของชุมชน หรือที่ดินที่ราชการจัดสรรให้ใช้เป็นพื้นที่ทำกิน จึงถือว่าการกระทำของผู้ฟ้องเป็นการบุกรุกครอบครองทำกินในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ การปลูกสร้างที่อยู่อาศัยหรือยุ้งฉาง ถือเป็นการปลูกสร้างในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ และยังมีการล่าสัตว์ ซึ่งการกระทำทั้งหมดถือเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 16 (1) (2) และ (3) แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504

และเมื่อเจ้าหน้าที่ได้ทราบการกระทำผิด จึงได้เดินทางลงพื้นที่ เพื่อแจ้งให้ผู้ฟ้องทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และขนย้ายทรัพย์สินออกจากพื้นที่ตามเวลาที่กำหนด แต่เมื่อลงตรวจอีกครั้งพบว่า ผู้ฟ้องไม่ได้กระทำการรื้อถอน และไม่พบตัวผู้ฟ้อง เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการรื้อถอนและเผาสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ดังกล่าว การกระทำของเจ้าหน้าที่จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่ความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงก่อให้เกิดความเสียหาย จึงไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายของสิ่งปลูกสร้างให้กับผู้ฟ้อง

แต่การที่เจ้าหน้าที่ไม่ได้ขนย้ายเครื่องใช้ในครัวเรือน และของใช้ส่วนตัวของผู้ฟ้องออกมาเก็บรักษาไว้ก่อนการเผาทำลาย ถือเป็นการงดเว้นการกระทำของเจ้าหน้าที่ จนเป็นเหตุให้เครื่องใช้ในครัวเรือน และของใช้ส่วนตัวของผู้ฟ้องต้องเสียหาย จึงสมควรให้มีการชดเชยสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้อง แต่เนื่องจากไม่มีพยาน และสามารถประเมินราคาความเสียหายได้ จึงกำหนดให้ชดเชยค่าเสียหายของเครื่องใช้ในครัวเรือนรายละ 5,000 บาท และของใช้ส่วนตัวรายละ 5,000 บาท โดยกำหนดให้มีการชดเชยคืนภายใน 30 วันนับจากวันที่คดีสิ้นสุด

นายคออี้ มีมิ ชาวกะเหรี่ยงบางกลอย จากแก่งกระจานอายุ 105 ปี กล่าวต่อสื่อมวลชนหลังทราบคำพิพากษาว่า ยืนยันว่าอาศัยอยู่ในที่ดินซึ่งมีข้อพิพาทมานานแล้ว ไม่ใช่ผู้บุกรุก และการถูกให้ย้ายไปอยู่ที่อื่นไม่ใช่ความเต็มใจของชาวกะเหรี่ยง

“สาบานต่อหน้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ได้ว่า อยู่ที่ข้างบนมานาน แต่ถ้าทางการไม่ยอมให้อยู่ ก็ไม่ละเมิดทางการ และเชื่อฟังทางการมาตลอด โดยที่อยู่ใหม่ไม่ใช่บ้าน ไม่สามารถทำกินได้” นายคออี้กล่าวเป็นภาษากะเหรี่ยงต่อสื่อมวลชนผ่านล่าม

นายสุรพงษ์ กองจันทึก หัวหน้าทีมทนายจากสภาทนายความ ซึ่งช่วยเหลือว่าความให้ชาวกะเหรี่ยง เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ผ่านทางโทรศัพท์ว่า ผู้ฟ้องทั้ง 6 คน และทีมทนายความเคารพการตัดสินของศาล แต่จะยื่นอุทธรณ์คำตัดสินในขั้นต่อไป เพราะเชื่อว่าการพิจารณาของศาลที่มองว่าชาวกะเหรี่ยงเป็นผู้บุกรุก เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากชาวกะเหรี่ยงยืนยันว่าอาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวตั้งแต่บรรพบุรุษไม่ใช่ผู้บุกรุกพื้นที่อุทยานฯ

“ปู่คออี้ที่อายุ 105 ปี บอกว่าเกิดที่นั่น ไม่ได้เป็นคนบุกรุกจากภายนอกเข้ามา ชาวบ้านมองว่า เจ้าหน้าที่ไม่น่าจะมีอำนาจในการเผาบ้านเขา เพราะการเข้ามาของเจ้าหน้าที่สามารถทำได้เมื่อมีการฟ้องศาล และคดีเป็นที่สิ้นสุดแล้ว และการเข้ามาก็ได้แค่ทำลาย ไม่ควรมีการเผา เช่น คดีทับลาน และภูทับเบิก เพราะฉะนั้นการเผาย่อมเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ” นายสุรพงษ์กล่าว

“ชาวบ้านจะยื่นอุทธรณ์ศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้มีการพิจารณากระบวนการเหล่านี้อีกสักครั้งหนึ่ง โดยชาวบ้านหวังว่าศาลปกครองสูงสุดจะให้ความเป็นธรรม คือให้ชาวบ้านกลับไปอยู่ในพื้นที่ดั้งเดิมของเขา และชดเชยค่าเสียหายของบ้านเรือน และยุ้งฉางให้กับชาวบ้านด้วย” หัวหน้าทีมทนายความเพิ่มเติม

ขณะเดียวกันนายเกรียงไกร ชีช่วง เลขานุการเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรม เขตงานตะนาวศรี ในฐานะคณะทำงานที่ให้การช่วยเหลือนายคออี้ และพวกในการสู้คดี เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า ผลการตัดสินสะท้อนให้เห็น การจัดการกับปัญหาสิทธิชนกลุ่มน้อยของรัฐยังไม่ดีพอ ซึ่งเขาเชื่อว่า การตัดสินลักษณะนี้จะทำให้เกิดปัญหาตามมาอีก

“รัฐตัดวิธีแก้ปัญหาแบบใหม่ๆไปด้วยการตัดสินแบบนี้ ซึ่งก็จะมีผลกับรัฐเองก็คือจะมีสถานการณ์แบบนี้ทั่วประเทศ ผลการตัดสินทำให้เห็นว่า สุดท้ายรัฐก็ไม่พยายามสร้างรูปแบบของการพิสูจน์สิทธิให้กับปู่(นายคออี้) เพราะรัฐไม่พูดว่า เอาเขาลงมาไว้[ในพื้นที่จัดสรรใหม่]ยังไง พื้นที่ที่ให้เขาอยู่มันอยู่ไม่ได้ บางส่วนที่ลงมาแล้วกลับขึ้นไป ก็ตอบอยู่แล้วว่าการจัดการของรัฐมันล้มเหลว” นายเกรียงไกรกล่าว

“ที่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ผ่านประชามติไปเนี่ย บอกว่าสามารถฟ้องรัฐได้ ให้ประชาชนหรือชุมชนสามารถฟ้องรัฐได้ มันจะไม่เป็นไปตามนั้นเลย ไม่มีทาง เพราะว่ารัฐเองก็หาช่องแบบนี้อยู่ตลอด กรณีนี้ก็คือตัวอย่าง” นายเกรียงไกรเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม นายเกรียงไกรทิ้งท้ายว่า รู้สึกพอใจที่ชาวกะเหรี่ยงได้แสดงให้เห็นว่า พวกเขาพยายามต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิที่ควรจะได้ของตน แม้จะไม่ประสบความสำเร็จตามที่คาดหมายก็ตาม

ความเป็นมาของคดีที่ทำกินกะเหรี่ยงบางกลอย

ในปี 2553 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นำโดยนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในขณะนั้น ได้ดำเนินการไล่รื้อ เผาบ้าน และยุ้งฉางข้าว รวมทั้งยึดเครื่องมือ เครื่องใช้อุปกรณ์ในการทำไร่ของชาวกะเหรี่ยงโป่งลึก-บางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี รวมจำนวน 6 ครั้ง ระหว่างเดือนเมษายน 2553 - กรกฎาคม 2554 ทำให้ชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิม 17 ครอบครัว สมาชิก 80 คน ไร้ถิ่นที่อยู่อาศัยและไร้ที่ดินทำกิน เนื่องจากบ้านเรือนและยุ้งข้าวถูกเจ้าหน้าที่รัฐรื้อและเผาทำลายเสียหายกว่า 100 หลัง และถูกบังคับให้อพยพออกจากพื้นที่

ซึ่งนำมาสู่การฟ้องศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2555 ในคดีหมายเลขดำที่ ส.58/2555 โดยนายโคอิ หรือปู่คออี้ มีมิ กับพวกรวม 6 คนเป็นผู้ฟ้องคดี เพื่อเรียกค่าเสียหายกรณีที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และขอสิทธิกลับไปอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าแก่งกระจานที่เป็นพื้นที่ดั้งเดิมที่ชาวกะเหรี่ยงได้ตั้งรกรากอาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณลำห้วย เหนือแม่น้ำบ้านบางกลอยบน มาแต่ครั้งบรรพบุรุษเป็นเวลาร่วมกว่าร้อยปี

ระหว่างกระบวนการต่อสู้คดีในวันที่ 17 เมษายน 2557 นายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ อายุ 30 ปี แกนนำกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย หนึ่งในพยานของคดีการรื้อถอนและเผาบ้านกะเหรี่ยง หายตัวไปหลังจากที่ออกไปเก็บน้ำผึ้งในป่า และอยู่ในระหว่างการรวบรวมข้อมูลเพื่อให้การต่อชั้นศาล ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2557 ซึ่งศาลนัดสืบพยานคดีรื้อและเผาบ้านกะเหรี่ยง โดยภายหลังนางพิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของบิลลี่ กล่าวหาว่า นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน (ในขณะนั้น) พร้อมลูกน้อง ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าของอุทยานฯแก่งกระจาน อีก 3 คน เป็นผู้ควบคุมตัวบิลลี่ไปเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2557 แล้วหายตัวไปอย่างปริศนาจนถึงปัจจุบัน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง