พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสวรรคต

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2016.10.13
กรุงเทพฯ และ วอชิงตัน
TH-king-obituary-1000 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จออกสีหบัญชร ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ในวโรกาสทรงครองราชสมบัติครบ 60 ปี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2549
(ภาพโดยสำนักพระราชวัง)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งครองราชย์นานกว่า 70 ปี และทรงเป็นที่ยึดเหนี่ยวของพสกนิกรชาวไทยท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองและเหตุการณ์วุ่นวายทางการเมืองหลายครั้ง ทรงสวรรคตแล้ว ในวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ด้วยพระชนมายุ 89 พรรษา

สำนักพระราชวัง ได้ประกาศแถลงการณ์ในวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จสวรรคตด้วยพระอาการสงบ ในวันที่ 13 ตุลาคม 2559 หลังจากที่คณะแพทย์โรงพยาบาลศิริราชถวายการรักษามาตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2557

“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดีจักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราชบรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปประทับรักษาพระอาการประชวร ณ โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 3 ตุลาคม พุทธศักราช 2557 ตามที่สำนักพระราชวังได้แถลงให้ทราบเป็นระยะแล้วนั้น แม้คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาอย่างใกล้ชิดจนสุดความสามารถ แต่พระอาการประชวรหาคลายไม่ ได้ทรุดหนักลงตามลำดับถึงวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2559 เวลา 15 นาฬิกา 52 นาที เสด็จสวรรคต ณ โรงพยาบาลศิริราช ด้วยพระอาการสงบ สิริพระชนมพรรษาปีที่ 89 ทรงครองราชสมบัติได้ 70 ปี” ประกาศสำนักพระราชวังแถลง

พสกนิกรชาวไทย 67 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ต่างมีความจงรักภักดีในพระองค์ดุจดังสมมุติเทพ แต่ต้องเตรียมใจพร้อมรับการสวรรคตของพระองค์ และเตรียมพร้อมรับกับความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ไม่ค่อยได้ปรากฏพระวรกายต่อหน้าสาธารณชน เพราะพระองค์ท่านทรงเริ่มพระประชวรมาตั้งแต่ปี 2552 ทว่าพระองค์ไม่ได้เลือนหายไปจากใจไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ของพระองค์ พสกนิกรยังคงมีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ไว้เพื่อเคารพในทุกพื้นที่

ในปัจจุบัน ประเทศไทยอยู่ภายใต้การปกครองของทหารมาตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ต้องเผชิญความจริงที่ว่าพระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงเป็นศูนย์รวมความสามัคคีของชนในชาตินั้น ได้เสด็จสวรรคตลงแล้ว

“พระเจ้าอยู่หัวท่านทรงอุทิศพระวรกายเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของชนทุกชั้น” นายกิตติ ตันติเวชยานนท์ ชาวกรุงเทพ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“ผมเพียงหวังว่ารัชทายาทที่จะครองราชย์ต่อจากพระองค์ จะดำเนินตามรอยพระยุคลบาทของพระองค์ ในการดูแลอาณาประชาราษฎร์ และดูแลประเทศ ให้พัฒนาถาวรเช่นเดียวกับที่พระองค์ทรงเคยปฏิบัติมา” นายกิตติ กล่าวเพิ่มเติม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทย เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2489

การขึ้นครองราชย์หลังจากโศกนาฏกรรม

เมื่อพระชนมายุได้ 18 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ทรงสวรรคตในตอนเช้าวันเดียวกัน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นกษัตริย์ที่ทรงครองราชย์ยาวนานที่สุด ยาวนานยิ่งกว่าพระนางเจ้าอลิซาเบธ พระบรมราชินีนาถ แห่งสหราชอาณาจักร

ในระหว่างที่ครองราชสมบัติ มีอยู่หลายคราวที่พระองค์ต้องเป็นผู้ประสานความสามัคคีของชนในชาติ เพื่อให้ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่ยังไม่มั่นคงนี้ ก้าวข้ามผ่านวิกฤตการณ์ทางการเมืองไปได้

“ประเทศของเรา ไม่ใช่ประเทศของหนึ่งคนสองคน เป็นประเทศของทุกคน เข้าหากัน ให้เผชิญหน้ากันแก้ไขปัญหา” พระองค์ทรงตรัสแก่พลเอกสุจินดา คราประยูร และพลตรีจำลอง ศรีเมือง เมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในปี พ.ศ. 2535

“ถ้าสมมติว่า เฉพาะในกรุงเทพมหานครเสียหายไป ประเทศก็เสียหายไปทั้งหมด แล้วก็จะมีประโยชน์อะไรที่จะทะนงตัวว่าชนะ เวลาอยู่บนกองซากปรักหักพัง”

พลังแห่งแผ่นดิน

พระบาทสมเด็จปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 ในเมืองเคมบริดจ์ รัฐแมซซาจูเซทส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา

พระองค์ทรงเป็นพระโอรสองค์ที่สามในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (ต่อมาได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยเป็น สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) และหม่อมสังวาล (ต่อมาได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธย เป็นสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี) ในขณะนั้น พระราชบิดาและพระราชมารดา ต่างทรงรอให้พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระนามาภิไธยให้แก่พระโอรส มีพระนามเมื่อแรกพระราชสมภพที่ปรากฏในพระสูติบัตรว่า “Baby Songkhla”

พระนาม ภูมิพลอดุลเดช นั้น พระบรมราชชนนีได้รับพระราชทานทางโทรเลขจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นพระปิตุลา เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2470 ซึ่งภายหลังพระองค์ทรงสะกดว่า “ภูมิพลอดุลยเดช” พระนามของพระองค์มีความหมายว่า “พลังแห่งแผ่นดิน”

พระองค์ทรงเป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งทรงเป็นมหาราชพระองค์หนึ่งของประเทศไทยที่มีพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรอย่างใหญ่หลวง ดังเช่น ในรัชสมัยของพระองค์ได้มีประกาศการเลิกทาส และมีการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมชาติตะวันตก

เมื่อทรงพระเยาว์ พระราชบิดาทรงเช่าอพาร์ตเมนต์ที่เรียบง่ายในบอสตัน ในขณะที่ทรงศึกษาวิชาการแพทย์ในมหาวิทยาลัยฮาเวิร์ด และเมื่อพระราชบิดาทรงจบการศีกษาจาก Ivy League School ในปี พ.ศ. 2471 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้เสด็จนิวัติกรุงเทพพร้อมพระราชบิดาและพระราชมารดา

กรมหลวงสงขลานครินทร์ พระราชบิดา ได้ทรงพัฒนาการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทย และทรงเป็นพระบิดาของการแพทย์ไทย  พระองค์เสด็จสวรรคตด้วยพระโรคฝีบิดในพระยกนะ(ตับ) โดยมีโรคแทรกซ้อนคือพระปัปผาสะบวมน้ำและพระหทัยวาย เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2472 ก่อนที่พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลจะมีพระชนมายุครบ 2 พรรษา

ท่ามกลางความผันผวนของการเมืองการปกครองในประเทศไทยใน พ.ศ. 2476 หม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา จึงทรงนำพระธิดา พระโอรส เสด็จไปประทับ ณ กรุงโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อทรงรับการศึกษา โดยเช่าอพาร์ตเมนต์หลังเล็กๆ ในเมืองโลซานน์ และเลี้ยงดูพระราชโอรส และพระราชธิดาอย่างสามัญชน ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงศึกษาชั้นต้นในประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นส่วนใหญ่

การขึ้นครองราชสมบัติ

ในปี พ.ศ. 2475 คณะราษฎร์ ที่ประกอบด้วยทหารและบุคคลชั้นนำในสังคม ได้ยึดพระราชอำนาจจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช เป็นระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย

ครั้นถึงวันที่ 2 มีนาคม 2477 รัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติ แต่ประเทศไทยไม่ได้เปลี่ยนแปลงเป็นสาธารณรัฐ และยังคงมีสถาบันกษัตริย์ดั่งเดิม รัฐบาลจึงกราบทูลอัญเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ซึ่งสืบสายราชสันตติวงศ์ ลำดับที่ 1 และมีพระชนมายุเพียง 9 พรรษา เสด็จเถลิงถวัลยราชย์ เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 8 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ซึ่งได้ทรงสถาปนา พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลเดช เป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ทรงสถาปนา หม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา เป็น พระราชชนนีศรีสังวาลย์ และทรงสถาปนา พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยานิวัฒนาเป็น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา

สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ได้โดยเสด็จพระบรมเชษฐาธิราช สมเด็จพระราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอนิวัติพระนคร เป็นครั้งที่ 2 เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2481 เป็นเวลา 2 เดือน แล้วเสด็จกลับไปทรงศึกษาต่อ ณ กรุงโลซานน์ ก่อนเสด็จนิวัติพระนครอีกครั้งใน พ.ศ. 2488

จนกระทั่งในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2499 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงสวรรคตด้วยพระแสงปืน คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กราบบังคมทูลอัญเชิญ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี ทรงมีพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดีจักรีนฤบดินทรสยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ด้วยพระชนมายุ 19 พรรษา

ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2489 พระองค์ทรงเสด็จกลับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยโลซานน์ ในสาขาวิชารัฐศาสตร์แทนสาขาวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อให้เหมาะสมกับพระราชกรณียกิจที่พึงกระทำในฐานะพระมหากษัตริย์ของประเทศ

ในระหว่างนั้น พระองค์ได้ทรงหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิตติ์ กิติยากร ธิดาในพระวรวงศ์เธอ-กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ และหม่อมหลวงบัว กิติยากร เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 และได้จัดพระราชพิธีอภิเษกสมรสขึ้นในปี พ.ศ. 2493

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงได้เข้าพิธีพระบรมราชาภิเษกในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณในพระบรมมหาราชวัง

พระประมุขท่ามกลางความผันผวนทางการเมือง

นิตยสารดิแอตแลนติคบันทึกไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงขึ้นครองราชย์หลังจากการเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช 14 ปี แต่นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ในปี พ.ศ. 2475 ได้เกิดการรัฐประหารอย่างน้อย 19 ครั้ง

สื่อต่างประเทศ เช่น บีบีซี กล่าวว่า ในตลอดระยะเวลา 70 ปี ที่ทรงครองราชย์ พระองค์ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนทั้งชาติที่สร้างเสถียรภาพให้แก่แผ่นดิน ท่ามกลางการรัฐประหารและการร่างรัฐธรรมนูญนับยี่สิบครั้ง

พระองค์ได้ทรงหยุดยั้งความเสียหายแก่เลือดเนื้อของคนไทยอย่างน้อยที่สุดสามครั้ง ในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516  เหตุการณ์ 16 ตุลา 2519 และเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ที่ทหารยิงนิสิตนักศึกษา และประชาชนที่ประท้วงรัฐบาลเสียชีวิต

ในห้วงกาลที่ประเทศเผชิญกับภัยคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ในช่วงทศวรรษที่ 70 จนประเทศเพื่อนบ้านล่มสลาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ได้ทรงออกเยี่ยมทหาร ตำรวจ และพสกนิกรทั่วประเทศเพื่อเป็นการบำรุงขวัญและกำลังใจ

พระบิดาแห่งฝนหลวง

ในขณะที่นิตยสารต่างประเทศมักจะรายงานว่าพระราชวงศ์ไทยมีทรัพย์สินมากมาย เช่นในปี 2011 นิตยสารฟอร์บส์รายงานว่า พระองค์ทรงมีทรัพย์สินกว่า 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานเพื่ออาณาประชาราษฎ์อย่างแท้จริง พระองค์ได้พระราชทานโครงการหลวงกว่า 4,000 โครงการทั่วประเทศ

โครงการเหล่านั้น นับตั้งแต่โครงการเกษตรต่างๆ การชลประทาน การแก้ภัยแล้ง การศึกษาทางไกลและการฝึกอาชีพต่างๆ เพื่อการพัฒนาความเป็นอยู่ของผู้ด้อยโอกาสทั้งชาวไทยและชาวเขาเผ่าต่างๆ ในประเทศ

พระองค์ได้ทรงคิดค้นหลักการเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ชายไทยได้ปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชาวเกษตรกรในภาคการเกษตร

ดังตัวอย่างหนึ่ง คือการทำไร่นาสวนผสม ที่รวมถึงการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน โดยมีแนวคิดเพื่อการสร้างรากฐานที่มั่นคงให้กับระดับครอบครัว ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้โดยไม่ต้องขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น

พระองค์ยังได้ทรงวิจัยการทำฝนเทียม เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง ทำให้เกษตรกรสามารถปลูกพืชผักได้โดยไม่เสียหาย

ตามที่พระองค์ทรงเล่าไว้ จากปี พ.ศ. 2548 พระองค์ทรงสังเกตเห็นกลุ่มเมฆ แต่ไม่สามารถก่อตัวรวมกันเป็นฝนได้ จึงได้ศึกษาค้นคว้าหาวิธีทำให้ก้อนเมฆกลั่นตัวเป็นฝน โดยได้พระราชทานแนวคิดนี้แก่ หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล ผู้เชี่ยวชาญในการวิจัยประดิษฐ์ด้านเกษตรวิศวกรรม ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขณะนั้นได้มีการทดลองทำฝนเทียม จนเป็นผลสำเร็จเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2512 พระองค์ทรงใช้เครื่องบินโปรยสารเคมี เป็นก้อนน้ำแข็งแห้ง เลี้ยงเมฆให้อ้วนจนควบแน่นเป็นเม็ดฝน

พระอัจฉริยภาพด้านดนตรี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระปรีชาสามารถทางด้านดนตรีมาตั้งแต่ครั้งทรงพระเยาว์ พระองค์ได้ทรงนิพนธ์เพลงไว้ 47 เพลง

หนึ่งในบทเพลงเหล่านั้น คือ เพลงสายฝน สำนักข่าวเอพีรายงานว่า พระองค์ทรงได้รับแรงบันดาลใจในระหว่างทรงฟังรายการวิทยุในวันหนึ่งในปี พ.ศ. 2524

“ข้าพเจ้าคิดว่าเพลงที่ดังก้องในสมองของข้าพเจ้าไพเราะกว่า จึงปิดวิทยุและบันทึกตัวลงบนแผ่นกระดาษ” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตรัส แก่เอพี

“ผู้คนชอบบทเพลงนี้ เขาว่าไพเราะมาก ข้าพเจ้ามีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง”

เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2503 พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังบ้านพักเทศมนตรีมหานครนิวยอร์ค และทรงดนตรีที่นั่น ได้ทรงพบกับยอดนักดนตรีแจ๊สของอเมริกา เบ็นนี กู๊ดแมน ซึ่งได้กราบบังคมทูลเชิญไปร่วมวงที่บ้านของเขา นักดนตรีร่วมวง กล่าวว่า “ทรงพระสำราญมากในคืนนั้น ทรงเป็นกันเองกับพวกเรามาก เป็นวาระที่พวกเราจะจดจำไปชั่วชีวิต”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง