สนช. ผ่านร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง บังคับใช้ต้นปี 63

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2018.11.16
กรุงเทพฯ
181116-TH-farmland-1000.jpg เกษตรกรชี้ไปยังบ่อน้ำขอดแห้ง ซึ่งเคยมีน้ำเต็ม ที่อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี 2 กุมภาพันธ์ 2558
เอเอฟพี

ในวันนี้ ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติเอกฉันท์ผ่านร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งจะมีการเก็บภาษีที่ดินที่ไม่มีการใช้ประโยชน์ ซึ่งมีกลุ่มนายทุนถือพื้นที่จำนวนมาก เพื่อช่วยกระจายการถือครองที่ดิน และให้มีอัตราภาษีที่ยุติธรรมขึ้น โดยจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป

ร่างกฎหมายที่ดินฉบับใหม่ ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2559 จากนั้น อยู่ในชั้นพิจารณาของ สนช. นาน 19 เดือน จนกระทั่งวันนี้ ได้ผ่านความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง 169 ต่อ 0 และงดออกเสียง 2 เสียง โดยกฎหมายฉบับนี้ จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป และจะมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2563 เป็นต้นไป

ตามเอกสารของสำนักเศรษฐกิจการคลัง สาระสำคัญของพระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ รวบรวมกฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดิน และกฎหมายว่าด้วยภาษีบำรุงท้องที่ทั้งหมด 12 ฉบับ มารวมไว้ในฉบับเดียวกัน แล้วปรับปรุงให้เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในอัตราก้าวหน้า ในที่ดิน 4 ประเภท ได้แก่ หนึ่ง ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมมูลค่า 50 ล้านบาทขึ้นไป เก็บภาษีไม่เกิน 0.2% ของราคาประเมิน สอง ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย เก็บภาษีไม่เกิน 0.5% ของฐานภาษี โดยยกเว้นมูลค่าฐานภาษีที่ 50 ล้านบาท ไม่ให้นำมาคำนวณภาษี กรณีที่เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน และยกเว้นมูลค่าฐานภาษีที่ 10 ล้านบาท ในกรณีเป็นบุคคลธรรมดาที่เป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างแต่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน

สาม ที่ดินเพื่อการพาณิชยกรรม เก็บภาษีไม่เกิน 2% และ สี่ ที่ดินรกร้างว่างเปล่า คิดอัตราภาษีอยู่ระหว่าง 0.3-1.5% ตามราคาประเมิน และเพิ่มขึ้น 0.3% ทุก 3 ปี กรณีที่ดินว่างเปล่านั้นไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ แต่รวมแล้วไม่เกิน 5%

ตามเอกสารของสำนักเศรษฐกิจการคลัง วัตถุประสงค์ของ พรบ. ฉบับใหม่นี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดการใช้ดุลยพินิจ กระตุ้นให้มีการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ลดปัญหา การกักตุนที่ดินเพื่อเก็งกำไร และกระจายการถือครองที่ดิน และลดอัตราภาษีให้กับผู้ที่มีที่ดินที่มีราคาประเมินต่ำ

ทั้งนี้ ร่างกฎหมายฉบับนี้ ยกเว้นการเก็บภาษีที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม กรณีที่มูลค่าของฐานภาษีรวมกันแล้วไม่เกิน 50 ล้านบาท โดยผู้จัดเก็บเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนตำบล เมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร ปัจจุบัน ในขณะที่แต่เดิมนั้น เกษตรกรจ่ายภาษี 35 บาทต่อไร่

อย่างไรก็ตาม นายประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม กลับมองว่า กฎหมายฉบับนี้ ไม่มีเจตนารมณ์ในการกระจายการถือครองที่ดินตามที่กล่าวอ้าง แต่เป็นการเพิ่มรายได้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการปรับปรุงเพดานภาษีบำรุงท้องที่เดิมให้สูงขึ้น ซึ่งส่วนนี้ องค์กรส่วนท้องถิ่นที่จะได้ประโยชน์ จะเป็นองค์กรฯ ในเมืองใหญ่หรือโซนที่ราคาที่ดินมีราคาแพง เช่น กรุงเทพฯ นนทบุรี หรือ จังหวัดปริมณทล ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ห่างไกล หรือไม่ใหญ่มาก จะไม่ได้รับประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้ จากเดิมที่เก็บภาษีได้น้อยอยู่แล้ว แต่อาจจะเก็บภาษีไม่ได้เลยจากกฎหมายตัวนี้ เนื่องจากราคาประมาณที่ดินต่ำกว่าฐานภาษี

“กฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้มีผลที่จะนำไปสู่การกระจายการถือครองที่ดิน แต่เป็นเรื่องการเก็บภาษีที่ไม่เป็นธรรม... สิ่งที่คนจน เกษตรกรรายย่อย อยากเห็น คือการเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า ไม่ใช่ภาษีที่ดินสิ่งปลูกสร้างฉบับนี้ ที่บังคับให้คนจน เกษตรกร ชนชั้นกลาง และคนรวย จ่ายภาษีในจำนวนเงินที่เท่ากัน มันไม่เป็นธรรม” นายประยงค์ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับเบนาร์นิวส์

ข้อมูลจากมูลนิธิสถาบันที่ดินแห่งประเทศไทย ระบุว่าประเทศไทยมีพื้นที่ทั้งหมด 321 ล้านไร่ แบ่งเป็นที่ดินของรัฐ 183 ล้านไร่ คิดเป็น 57.26% ของเนื้อที่ทั้งหมด ส่วนที่เหลืออีก 138 ล้านไร่ เป็นของเอกชน หรือประมาณ 42.74% ซึ่งการสำรวจพบว่ายังมีความเหลื่อมล้ำในการครอบครองที่ดินระหว่างรัฐ เกษตรกร และนายทุนอยู่มาก โดยเกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง ขณะที่นายทุนกลับเป็นเจ้าของที่ดินจำนวนมากที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์

ในปี 2558 พบว่า กลุ่มที่ถือครองที่ดินมากที่สุดคือ ตระกูลสิริวัฒนภักดี จำนวน 630,000 ไร่ รองลงมาคือ ตระกูลเจียรวนนท์ 200,000 ไร่ บมจ.สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม 44,400 ไร่ สำนักงานทรัพย์สินฯ 30,000 ไร่ ตระกูลมาลีนนท์ 10,000 ไร่ บมจ.ไออาร์พีซี 17,000 ไร่ นายแพทย์บุญ วนาสิน 10,000 ไร่ นายวิชัย พูลวรลักษณ์ 7,000 ไร่ ตระกูลเตชะณรงค์ 5,000 ไร่ และตระกูลจุฬางกูล 5,000 ไร่ จากผลการสำรวจของกลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นรัฐไร้พรมแดน ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่วิจัย และเก็บข้อมูลการถือครองเอกสารสิทธิจากสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ กรมที่ดิน

“กฎหมายฉบับนี้ คนรวยได้เปรียบมากกว่าคนจน ชนชั้นกลาง และยังสร้างความเหลื่อมลำในการเสียภาษีอีกด้วย” นายประยงค์ กล่าวแย้งการออกกฎหมายฉบับใหม่

ที่ผ่านมา พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ได้มีนโยบายในการลดความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินและช่วยเหลือชาวบ้าน และเกษตรกรรายย่อยที่เป็นหนี้นอกระบบ จนถูกนายทุนยึดที่ดินทำกินไป โดยการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและฝ่ายปกครอง เข้าไปประสานงานไกล่เกลี่ยแก้ปัญหาดังกล่าว จนดำเนินการมอบโฉนดที่ดินคืนให้กับชาวบ้านที่ถูกเอาเปรียบจากสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งได้คืนโฉนดที่ดินให้ประชาชนในพื้นที่ภาคอีสานแล้วเกือบ 10,000 ฉบับ มีพื้นที่รวมกว่า 20,000 ไร่ มูลค่ารวมกว่า 10,000 ล้านบาท

อนึ่ง กฎหมายฉบับนี้ ระบุให้ยกเว้นการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ได้แก่ ทรัพย์สินของรัฐหรือหน่วยงานรัฐที่ใช้กิจการของรัฐ หรือกิจการสาธารณะที่ไม่ใช้เพื่อหาผลประโยชน์ ทรัพย์สินขององค์การสหประชาชาติ ทรัพย์สินของสถานทูตหรือสถานกงสุล สภากาชาดไทย ที่ดินศาสนสมบัติที่ไม่ได้ใช้เพื่อหาผลประโยชน์ สุสานสาธารณะ มูลนิธิหรือองค์การกุศลที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำหนด ที่ดินเอกชนที่ยอมให้ราชการใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์ ทรัพย์สินส่วนกลางของอาคารชุด ที่ดินสาธารณูปโภคว่าด้วยกฎหมายจัดสรรที่ดิน และที่ดินนิคมอุตสาหกรรม

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง