รัฐประชุมแก้สาระ พ.ร.บ.มวยฯ หลังนักมวยเด็กเสียชีวิต

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2018.11.14
กรุงเทพฯ
181114-TH-childboxer-1000.jpg นายสมศักดิ์ ดีรุจิเจริญ เจ้าของค่ายมวย ส.สมศักดิ์ และผู้ฝึกซ้อมมวย ยืนดูรูปของ ด.ช.อนุชา ทาสะโก นักชกมวยเด็ก ที่เสียชีวิต ในงานศพที่วัดแห่งหนึ่ง จังหวัดสมุทรปราการ วันที่ 14 พฤศจิกายน 2561
เอเอฟพี

ในวันพุธนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ได้หารือเพื่อทำการปรับแก้ พ.ร.บ.มวยฯ หลังจากที่ เพชรมงคล ส.วิไลทอง นักมวยเยาวชนอายุ 13 ปี เสียชีวิต หลังจากการแข่งขันในวันเสาร์ที่ผ่านมา โดยการแก้ไขกฎหมายนั้น จะห้ามนักมวยต่ำกว่า 12 ปี ขึ้นชกเด็ดขาด และให้ใส่เครื่องป้องกันสำหรับนักมวยเด็กหรือเยาวชน

พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ ในฐานะโฆษกประจำตัว พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในวันพุธนี้ พล.อ.ประวิตร ในฐานะประธานการประชุม กำชับให้การแก้ พ.ร.บ.มวยฯ ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของนักกีฬา ให้มีการใช้เครื่องป้องกัน แต่ขณะเดียวกันให้คำนึงถึงการพัฒนากีฬามวยด้วยเช่นกัน

“พลเอกประวิตร ประธานคณะกรรมการโอลิมปิคฯ กำชับให้กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา พิจารณาความเหมาะสม ของ พ.ร.บ.กีฬามวย พ.ศ. 2542 ที่ สนช.ได้เสนอร่าง (แก้ไข) ให้ ครม.พิจารณา โดยขอให้พิจารณาความรอบคอบของการพัฒนากีฬามวย ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญกับการดูแลความปลอดภัยของนักกีฬามากขึ้น โดยเฉพาะนักกีฬากลุ่มเด็กและเยาวชน” พล.ท.คงชีพ กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2561 ด.ช.อนุชา ทาสะโก (เล็ก) หรือ เพชรมงคล ส.วิไลทอง ได้ขึ้นชกกับนายนิติกร สอนดี หรือ ฟ้าใหม่ ว.สุดประเสริฐ อายุ 15 ปี ในรายการมวยการกุศลโครงการต้านภัยยาเสพติดครั้งที่ 1 ที่ จ.สมุทรปราการ โดย เพชรมงคล ได้แพ้น็อคในยกที่ 3 ด้วยอาการหมดสติ และภายหลังได้เสียชีวิตลงจากอาการเลือดออกในสมอง ทำให้ประชาชนบางส่วนพยายามเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมาย เพื่อรักษาความปลอดภัยของนักมวยเยาวชน

“ที่ประชุมได้แสดงความเสียใจกับน้องเล็ก เยาวชนอายุ 13 ปี ที่เสียชีวิตจากการชกมวยไทยการกุศล” พล.ท.คงชีพ กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ดำเนินการให้มีการแก้ไข พระราชบัญญัติกีฬามวย (พ.ร.บ.มวย) พ.ศ. 2542 มาตั้งแต่ปี 2560 แล้ว โดยส่วนสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.มวยฯ (ฉบับแก้ไข) นี้ คือ การห้ามไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี แข่งขันแบบมีการปะทะเด็ดขาด โดยปัจจุบัน ร่าง พ.ร.บ.มวยฯ กำลังอยู่ในการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เพื่อส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาอีกครั้ง ขณะที่ก็มีเสียงคัดค้านจากวงการมวยด้วยเช่นกัน

นายสุกฤษฏิ์ แพร่กรีฑาเวศน์ ประธานชมรมกฎหมายเพื่อชาวมวย กล่าวในการประชุมรับฟังความคิดเห็น และลงมติร่างแก้ไขพระราชบัญญัติกีฬามวย ฉบับใหม่ 2561 เมื่อวันจันทร์ว่า การห้ามไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ชกมวยเป็นอาชีพนั้น จะสร้างปัญหาให้กับการพัฒนาวงการมวย

“มีคนคิดจะแก้ไข พ.ร.บ.มวยฯ ใหม่ อันไหนเรายอมได้ เราก็ยอมไป แต่สิ่งที่จะกระทบกับนักมวยมากที่สุดคือ ในรายการแข่งขันมวยอาชีพ ห้ามไม่ให้ผู้จัด คือ โปรโมเตอร์ ห้ามนายสนาม ให้เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ลงไปชกเด็ดขาด ให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี แต่ไม่ต่ำกว่า 12 ปี ให้ใส่เครื่องป้องกัน ต้องมีเฮดการ์ด สนับแข้ง สนับเข่า จะต่อยครั้งไหนต้องขออนุญาตทุกครั้งไป และให้การกีฬาฯ โดย สำนักงานมวยเป็นผู้บอกอนุญาต” นายสุกฤษฏิ์ กล่าว

นายสุกฤษฏิ์ ระบุว่า คนในวงการมวยจำนวนมากคัดค้านการกำหนดอายุนักมวยเด็กต่ำกว่า 12 ปี เพราะเชื่อว่า การลงแข่งขันจริงตั้งแต่อายุยังน้อยจะช่วยให้นักมวยพัฒนา หากนักมวยขึ้นชกจริงเมื่ออายุมากจะไม่สามารถพัฒนาได้ดีเท่ากับนักชกรุ่นเก่า

ด้าน พล.อ.อ.อดุลยเดช อินทะวงศ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งผลักดันแก้ไข พ.ร.บ.กีฬามวย เปิดเผยต่อสื่อมวลชนในวันอังคารที่ผ่านมาว่า การแก้ไข พ.ร.บ.มวยฯ นั้น ยังต้องผ่านกระบวนการอีกมาก

“ควรจะต้องฟังเหตุฟังผลกันและกันว่ายังไง แล้วก็เรื่องของสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อวงการมวย ผมก็เอามาคิด มาปรับปรุง พ.ร.บ.มวยฯ ฉบับนี้... รัฐบาลคงต้องรับฟังความคิดเห็นของคนในวงการ และประชาชนเป็นส่วนมากอยู่แล้วว่าจะเอากันอย่างไร” พล.อ.อ.อดุลยเดช กล่าว

พล.อ.อ.อดุลยเดช กล่าวว่า สาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.มวยฯ (ฉบับแก้ไข) คือ การระบุว่า ห้ามไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ขึ้นชกมวยโดยเด็ดขาด และให้สามารถเอาผิดทางอาญากับผู้จัดการแข่งขันได้ ซึ่งแต่เดิม พ.ร.บ.มวยฯ พ.ศ. 2542 ในมาตรา 29 กำหนดให้นักมวยที่สามารถขึ้นทะเบียนได้ ต้องอายุเกิน 15 ปี อย่างไรก็ตาม ไม่มีการระบุโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืน ทำให้ที่ผ่านมายังมีการฝ่าฝืนจัดให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี แข่งขันโดยเปิดเผย

ทั้งนี้ จากการศึกษาของคณะแพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดี โครงการวิจัยและติดตามนักมวยเด็ก ในปี 2560 พบว่า นักมวยเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี จะได้รับผลกระทบกระเทือนทางสมองจากการชก แม้ใส่เฮดการ์ดหรือเครื่องป้องกันศีรษะก็ตาม โดยจากการศึกษานักมวยอายุต่ำกว่า 15 ปี 335 คน เปรียบเทียบกับเด็กทั่วไปซึ่งไม่ได้ชกมวย ในสภาพแวดล้อมใกล้เคียงกัน 252 คน พบเด็กที่ชกมวยมีผลกระทบต่อการพัฒนาสมอง

โดย นายดำรงค์ ทาสะโก ลุงของ เพชรมงคล เปิดเผยกับสื่อมวลชนในงานศพของหลานชาย เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า ต้องการเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการชกมวย โดยให้ใช้เครื่องป้องกันสำหรับนักมวยเด็กและเยาวชน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง