รัฐบาลเตรียมปลดล็อกกัญชาเพื่อใช้รักษาโรค หวังสำเร็จกุมภาพันธ์ 62
2018.11.06
กรุงเทพฯ

ในวันอังคารนี้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า รัฐบาลไทยเตรียมปลดล็อกกัญชา ซึ่งเป็นยาเสพติดผิดกฎหมายในบัญชีที่ 5 ให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์แผนปัจจุบัน และแพทย์แผนไทยได้อย่างถูกกฎหมาย
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ขณะนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กำลังพิจารณาเพื่อแก้ไข พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ) ฉบับใหม่ ซึ่งมีจุดสำคัญคือ ทำให้สามารถใช้กัญชาสำหรับการวิจัยทางการแพทย์ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยพยายามให้ พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ ฉบับนี้ มีผลบังคับใช้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562
“นอกจากเรื่องกฎหมาย เราต้องทำความเข้าใจกับนานาประเทศ เนื่องจากประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกสหประชาชาติ และประเทศอาเซียน ได้ทำข้อตกลงไว้ 2 ข้อ ว่า จะไม่นำยาเสพติดมาใช้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และจะนำพืชเสพติดมาใช้ในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และทางการแพทย์ อย่างเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติเท่านั้น” พล.อ.อ.ประจิน กล่าว
“ส่วนการขับเคลื่อนต่อจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขต้องใช้กฎหมายที่มีอยู่ในการปรับเปลี่ยนกัญชาจากยาเสพติด ประเภทที่ 5 ให้อยู่ในประเภทที่ 2 สถานะเดียวกับฝิ่น ก็สามารถนำสารสกัดจากกัญชามาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้ทันที” พล.อ.อ.ประจิน กล่าวเพิ่มเติม
ปัจจุบัน จากการศึกษาของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า โรคที่วิจัยชัดเจนแล้วว่า สามารถใช้กัญชารักษาได้มี 4 กลุ่มโรค คือ รักษาอาการคลื่นใส้อาเจียนในผู้ป่วยมะเร็งที่รับยาเคมีบำบัด โรคลมชักดื้อต่อการรักษาในเด็ก โรคปลอกประสาทอักเสบ และอาการปวดรุนแรงที่เดิมต้องใช้มอร์ฟีนในการบรรเทาอาการปวด และพบว่า ในทางการแพทย์แผนไทย มีการใช้กัญชาเพื่อการรักษากว่า 100 ตำรับยา
ในหลายประเทศได้มีการใช้กัญชาเป็นยารักษาโรค รวมทั้ง ประเทศแคนาดา ออสเตรเลีย อิสราเอล และในรัฐต่างๆ มากกว่าครึ่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ตามรายงานของสำนักข่าวเอเอฟพี
และอ้างว่า หาก พ.ร.บ.ยาเสพติด ฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกในเอเชีย ที่จะมีการใช้กัญชาเป็นยารักษาโรค และจะก้าวไปมีส่วนร่วมตลาด ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาและทำการวิจัยตลาดใหญ่ของสหรัฐฯ ได้ประเมินมูลค่าไว้สูงถึง 55.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ (หรือประมาณกว่า 1,838.3 พันล้านบาท) ภายในปี 2568
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2561 นายแพทย์โสภณ เมฆธน อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้รับมอบกัญชาของกลางจำนวน 100 กิโลกรัม จากกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) เพื่อให้องค์การเภสัชกรรมนำไปศึกษาวิจัยผลิตยากัญชา เบื้องต้น กัญชาของกลางจำนวนดังกล่าว จะถูกนำไปผลิตน้ำมันหยอดใต้ลิ้น คาดว่าจะสำเร็จภายในสิ้นเดือนธันวาคม 2561 โดยจะสกัดยากัญชาได้ถึง 10-15 ลิตรแบบเข้มข้น ซึ่งจะต้องนำไปทำให้เจือจางลง เป็นน้ำมันกัญชา 5 ซี.ซี. ประมาณ 18,000 ขวด
หลังจากการส่งมอบกัญชาของกลาง นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปราม เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า กระทรวงสาธารณสุขกำลังดำเนินการพัฒนาสายพันธุ์กัญชาเพื่อใช้ในการแพทย์ และรองรับการทำยากัญชาในระดับอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม จะมีการควบคุมพื้นที่ในการปลูกอย่างเข้มงวด ยิ่งกว่าการขออนุญาตปลูกกัญชงเพื่อเป็นพืชเศรษฐกิจ และแปลงปลูกกัญชาต้องถูกควบคุมให้เป็นโรงเรือนแบบปิด ป้องกันไม่ให้ผลผลิตถูกนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น และควบคุมเรื่องสารเคมีและยาฆ่าแมลงด้วย
“การสกัดทำน้ำมันกัญชาต้องมุ่งไปผลิตเป็นยารักษาโรคเท่านั้น และต้องมีการควบคุมให้ถึงมือผู้ป่วยโดยไม่หลุดรอดไปยังบุคคทั่วไป การซื้อขายโดยไม่มีใบสั่งยาถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย” นายนิยม กล่าว
“มุมมองของกัญชามีทั้งแง่บวกและลบ ไม่มีใครปฏิเสธการนำกัญชามาใช้รักษาโรค เพียงแต่อยากให้มั่นใจว่า กฎหมายไม่อนุญาตให้เสพเพื่อสันทนาการ บันเทิง หรือ คลายเครียด การใช้ประโยชน์จากพืชเสพติดไม่ว่าจะเป็นกัญชา กระท่อม ทำได้เฉพาะเพื่อประโยชน์ทางการวิจัยและทางการแพทย์เท่านั้น” นายนิยม ระบุ
ด้าน นายแพทย์โสภณ เมฆธน อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม และประธานคณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางแพทย์ ระบุว่า ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ พิจารณา แหล่งที่มาของกัญชา สายพันธุ์การเพาะปลูก จนถึงการสกัดฯ ผลิตน้ำยากัญชา ยากัญชา เพื่อใช้กับผู้ป่วย รวมถึงการออกระเบียบ การจดทะเบียน การผลิตเพื่อนำเข้าสู่ทางการแพทย์ โดยการพัฒนานำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์นั้น จะนำมาใช้ทั้งการแพทย์แผนปัจจุบัน และแพทย์แผนไทย
ปัจจุบัน หลายประเทศมีผลวิจัยพบว่า น้ำมันที่สกัดได้จากกัญชา สามารถนำมาใช้รักษาโรคได้เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคชักกระตุก หรือพาร์กินสัน โรคหอบหืด และโรคมะเร็ง เป็นต้น
ทั้งนี้ พล.อ.อ.ประจิน ระบุว่า หาก พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ ฉบับนี้ มีผลบังคับใช้ จะให้องค์การเภสัชกรรมเป็นหน่วยงานนำร่อง ในการนำกัญชามาผลิตเป็นยารักษาโรค ร่วมกับองค์การอาหารและยาด้วย