ประชาชนร้องศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบเสรีภาพในการชุมนุม ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2017.12.19
กรุงเทพฯ
171219-TH-activists-1000.jpg กลุ่มประชาชน เข้ายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเรียกร้องยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ในวันที่ 19 ธ.ค. 2560
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ในวันอังคาร (19 ธันวาคม 2560) นี้ ตัวแทนประชาชน 24 คน จาก 7 กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 เข้ายื่นหนังสือต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้ตรวจสอบการใช้อำนาจมาตราที่ 12 ของคำสั่งดังกล่าว เพราะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพมากที่สุดประการหนึ่งนั่นคือ เสรีภาพในการชุมนุม ว่ามีลักษณะขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยเจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญได้รับหนังสือคำร้อง ตามกระบวนการ แต่ไม่ได้มีการเปิดเผยว่าจะดำเนินการอย่างไรหรือไม่

นายรังสิมันต์ โรม นักเคลื่อนไหวกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย กล่าวต่อสื่อมวลชนที่หน้าศาลรัฐธรรมนูญว่า เสรีภาพในการชุมนุมได้รับการรับรองไว้ในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) พ.ศ. 2557 แต่ตลอดระยะเวลาที่ คสช. ยังมีอำนาจ ประชาชนไม่ได้รับอนุญาตให้ชุมนุม

“พวกเราประกอบด้วย 24 คนจากหลากหลายเครือข่าย หลายองค์กร แต่เราได้รับผลกระทบอย่างเดียวกัน จากการปฎิบัติของเจ้าหน้าที่ที่ใช้คำสั่ง คสช.ที่ 3/58 ซึ่งข้อหลักๆ ที่สร้างผลกระทบต่อประชาชน พวกเรา และเพื่อนของพวกเรา คือข้อที่ 12 เรารวบรวมข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อยืนยันเสรีภาพการชุมนุม และกำหนดชะตากรรมของตัวเอง” นายรังสิมันต์กล่าว

“คำสั่งดังกล่าวกระทบต่อสิทธิเสรีภาพมากที่สุดประการหนึ่งนั่นคือ เสรีภาพในการชุมนุม เราปฎิเสธไม่ได้ว่า มันยืนยันถึงเสรีภาพในการกำหนดชะตากรรมของตัวเอง โดยปกติประชาชนไม่ต้องใช้เสรีภาพนี้ ถ้ารัฐได้ทำหน้าที่ในการคุ้มครองเสรีภาพ และตอบสนองเจตนารมณ์ของประชาชนอย่างที่เป็นอยู่” นายรังสิมันต์ กล่าวเพิ่มเติม

การรวมตัวยื่นหนังสือต่อศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ประกอบด้วยตัวแทนของประชาชน 24 ราย จาก 7 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มนักศึกษาที่จัดกิจกรรมหน้าหอศิลป์ กทมฯ 2.เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายฯ ที่ถูกดำเนินคดีในการสังเกตการณ์กิจกรรมที่ ม.ขอนแก่น 3.กลุ่มนักศึกษาที่เดินทางด้วยรถไฟเพื่อไปตรวจสอบการทุจริตอุทยานราชภักดิ์ 4.กลุ่มนักศึกษา ม.เกษตรศาสตร์ ที่ถูกควบคุมตัวเมื่อ 24 มิถุนายน 2559 5.นักกิจกรรมรณรงค์เรื่องประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 6.กลุ่มคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และ 7.กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ

โดยตัวแทนที่เข้ายื่นหนังสือครั้งนี้ ทั้งหมดเป็นผู้ที่เคยถูกรัฐบาลทหาร ดำเนินคดีข้อหา ละเมิดคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558

ซึ่ง มาตรา 12 ของคำสั่งดังกล่าว มีเนื้อหาโดยสรุประบุว่า ผู้ใดที่มั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่โทษจะถูกยกเลิกหากเข้ารับการอบรมจากเจ้าหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยเป็นระยะเวลา 7 วัน ผู้เรียกร้องครั้งนี้จึงถือว่า คำสั่งนี้เป็นกฎหมายที่ละเมิดสิทธิการชุมนุม และขัดต่อ มาตรา 26 และ 44 ของรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบันด้วย

ด้าน น.ส.พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ศูนย์ทนายฯ ตระหนักดีว่า คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เนื่องจากในระยะที่ผ่านมา ได้เข้าให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจนี้เป็นจำนวนมาก

“ศูนย์ทนายฯ ให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายกับประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจของคณะรัฐประหารมาโดยตลอด พบว่า คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 เป็นคำสั่งที่เป็นฐานอำนาจของคณะรัฐประหารที่ใช้ละเมิดสิทธิของประชาชนในการจับกุม ควบคุมตัวบุคคล ไม่เกิน 7 วัน โดยปราศจากหมายศาล” น.ส.พูนสุขกล่าว

“การยื่นคำร้องครั้งนี้ถือเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญ 60 ให้ประชาชนที่ถูกละเมิดโดยเจ้าหน้าที่สามารถยื่นคำร้องได้โดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้ศาลรัฐธรรมนูญได้ตรวจสอบ คำสั่งนี้ ถึงแม้ว่า คำสั่งที่ 3/2558 จะออกโดยมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 57 แต่เราก็เชื่อว่าไม่มีอำนาจอะไรที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ภายใต้นิติรัฐ เราก็ต้องการที่จะทดสอบ และลองใช้กลไกทางรัฐธรรมนูญ” น.ส.พูนสุขกล่าวเพิ่มเติม

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญได้รับหนังสือคำร้องตามกระบวนการ แต่ไม่ได้มีการเปิดเผยข้อมูล หรือแสดงความคิดเห็นต่อการยื่นคำร้องครั้งนี้ สำหรับ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 นั้นเป็นคำสั่งที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2558 เพื่อทดแทนการยกเลิกการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก ของ คสช. อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เคยระบุผ่านสื่อมวลชนหลายครั้งว่า จำเป็นต้องคงกฎหมายบางอย่างเอาไว้เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง หากยังเกิดเหตุการความไม่สงบขึ้นอยู่ ก็จะยังไม่มีการผ่อนปรน การใช้อำนาจ หรือมีการจัดการเลือกตั้ง

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง