ศาลตัดสินจำคุกวิชัย 70 ปี คดีหมิ่นฯ ก่อนลดโทษเหลือ 35 ปี
2017.06.09
กรุงเทพฯ

ในวันศุกร์ (9 มิถุนายน 2560) นี้ ศาลทหารกรุงเทพฯ ตัดสินจำคุกนายวิชัย (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากความผิดในการปลอมเฟซบุ๊คและโพสต์ข้อความหมิ่นเบื้องสูง โดยตัดสินลงโทษจำคุก 70 ปี ก่อนลดโทษเหลือ 30 ปี 60 เดือน เพราะนายวิชัยให้การรับสารภาพ ทนายความกล่าวว่า เป็นคดีพิจารณาโทษที่หนักที่สุด
นายสรวุฒิ วงศ์ศรานนท์ เจ้าหน้าที่ศูนย์ข้อมูลศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า ในวันนี้ ผู้พิพากษาศาลทหารได้อ่านคำตัดสินลงโทษนายวิชัย สงวนนามสกุล อายุ 34 ปี ชาวเชียงใหม่ อดีตพนักงานบริษัทเอกชน ผู้ต้องหาคดีอาญามาตรา 112 จำคุก 70 ปี แต่นายวิชัยรับสารภาพจึงลดโทษเหลือจำคุก 30 ปี 60 เดือน
โดยการพิจารณาคดีเป็นไปแบบปิดลับมีเพียง น.ส.คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ ทนายความ และนายวิชัยที่ได้รับอนุญาตเข้าฟัง
“10 กรรม เป็นการโพสต์ข้อความด้วยเฟซบุ๊คที่เขาปลอมขึ้นมา 10 ข้อความดำเนินคดีตามมาตรา 112 ลงกรรมละ 7 ปี 10 กรรมเป็น 70 ปี ตอนแรกคุณวิชัยเขาจะสู้คดี แต่เนื่องจากคดีนานมาก แล้วไม่มีการสืบพยานเสียทีคือ นัดสืบพยานแล้วพยานไม่มาศาล 2 ครั้งติดต่อกัน เขาก็เลยเปลี่ยนใจไม่สู้คดีแล้วรับสารภาพ” นายสรวุฒิกล่าว
“ศาลพิจารณาว่า คำรับสารภาพมีประโยชน์ต่อการดำเนินคดีลดโทษเหลือกรรมละ 3 ปี 6 เดือน รวมเป็น 30 ปี 60 เดือน” นายสรวุฒิกล่าว โดยอธิบายเพิ่มเติมว่า วิธีนับโทษของศาล คือ 1 เดือนมี 30 วัน การนับเป็นเดือนมีผลต่อการลดโทษ จึงนับเป็นเดือนละเอียดกว่านับเป็นปี
“คุณวิชัยเขาไม่สู้คดีแล้ว ก็จะเข้าเรือนจำและถูกขังตามกำหนดโทษ แล้วรอดูว่า จะมีลดโทษตามวาระหรือเปล่า ณ วันนี้ ถือเป็นคดีพิจารณาโทษสูงที่สุดแล้ว” นายสรวุฒิระบุเพิ่มเติม
ในวันที่ 23 ธันวาคม 2558 นายวิชัย จำเลยในคดีนี้ถูกจับกุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมของกลางเป็นโทรศัพท์มือถือ 3 เครื่อง หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งความจากเจ้าทุกข์รายหนึ่งว่า ถูกนำชื่อไปใช้สร้างเฟซบุ๊คปลอมและโพสต์ข้อความที่อาจเข้าข่ายความผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 เจ้าหน้าที่จึงได้สืบหาและพบข้อมูลว่า นายวิชัยเป็นผู้สร้างเฟซบุ๊คปลอมดังกล่าว โดยใช้ชื่อเพื่อนของตนเอง ซึ่งเคยมีปากเสียงกัน และโพสต์ข้อความเพื่อกลั่นแกล้ง
หลังจากนั้น นายวิชัย ถูกนำตัวมาขออำนาจศาลทหารฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และเข้าสู่การพิจารณาคดีของศาลทหารมาตลอด รวมทั้ง ไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว จนกระทั่งเข้าสู่การนัดสืบพยานโจทก์ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2560 แต่พยานฝ่ายโจทก์ไม่ได้มาศาลตามนัด จึงมีนัดสืบพยานอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม 2560 แต่พยานไม่ได้เดินทางมายังศาล จำเลยจึงยื่นคำร้องประกอบคำรับสารภาพ และขอให้ลงโทษสถานเบาที่สุด ซึ่งศาลได้อ่านคำพิพากษาในวันศุกร์นี้ ตัดสินลงโทษ 30 ปี 60 เดือน
การตัดสินครั้งนี้เป็นการลงโทษที่หนักที่สุด นับตั้งแต่การตัดสินลงโทษในเดือนสิงหาคม 2558 ของคดีของนายพงษ์ศักดิ์ สงวนนามสกุล ผู้ใช้เฟซบุ๊ค Sam Parr ซึ่งถูกตัดสินจำคุก 60 ปี จากการโพสต์ข้อความหมิ่นเบื้องสูงจำนวน 6 กรรม ก่อนได้รับการลดโทษเหลือจำคุก 30 ปี หลังจากนายพงษ์ศักดิ์รับสารภาพ
ด้านนายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวต่อเบนาร์นิวส์ ถึงการตัดสินลงโทษจำคุกนายวิชัยของศาลทหารว่า “การลงโทษที่รุนแรงของกฎหมายหมิ่นเบื้องสูง ของประเทศไทย เหมาะสมหรือไม่ สำหรับการใช้เพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือรักษาความสงบของประเทศ”
“การตัดสินของศาลทหารวันนี้ ที่ให้จำคุกคนนาน 70 ปี สร้างความตระหนก และยิ่งเป็นการบีบพื้นที่การแสดงความคิดเห็น ที่ปัจจุบันก็น้อยอยู่แล้ว ให้น้อยลงไปอีก” นายแบรด กล่าวเพิ่มเติม
ในวันเดียวกัน ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้จำคุก นายเฉลียว จันเขียด ช่างตัดเสื้อเป็นเวลา 5 ปี ก่อนลดโทษเหลือจำคุก 2 ปี 6 เดือน ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการอัพโหลดคลิปเสียงรายการวิจารณ์การเมืองของ “บรรพต” ขึ้นบนเว็บฝากไฟล์โฟร์แชร์ (4share) เพื่อให้ผู้อื่นโหลดไปฟัง ซึ่งคลิปเสียงดังกล่าวมีข้อความที่เข้าข่ายหมิ่นเบื้องสูง
หลังการยึดอำนาจของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีประชาชนถูกเรียกไปรายงานตัว-เยี่ยมบ้าน อย่างน้อย 1,319 คน ถูกจับกุมในยุคคสช.อย่างน้อย 597 คน, ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 อย่างน้อย 82 คน, ถูกตั้งข้อหามาตรา 116 อย่างน้อย 64 คน, พลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร อย่างน้อย 300 คน มีกิจกรรมถูกปิดกั้น-แทรกแซง อย่างน้อย 152 ครั้ง