องค์กรสิทธิฯ เรียกร้องปล่อยตัวไผ่ ดาวดิน

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2017.01.23
กรุงเทพฯ
TH-king-620 ประชาชนไทยถือหนังสือพิมพ์ที่มีพระบรมฉายาลักษณ์ของ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร นอกพระบรมมหาราชวัง ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2559
เอเอฟพี

ในวันจันทร์ (23 มกราคม 2560) นี้ นักสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (ไผ่ ดาวดิน) นักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยใหม่อีสาน ซึ่งถูกควบคุมตัวหลังเผยแพร่รายงานข่าวของสำนักข่าวบีบีซีไทย (BBC Thai) เรื่อง “พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย” และยังถูกเพิกถอนสิทธิการประกันตัวด้วย โดยชี้ว่า การจับกุมตัว และการยกเลิกสิทธิประกันของศาลเป็นการละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนสากล

นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการทวีปเอเชีย องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวผ่านแถลงการณ์ระบุว่า ควรมีการยกเลิกข้อกล่าวหาที่มีต่อนายจตุภัทร์ และปล่อยตัวเขาทันที เนื่องจากปัจจุบัน การไต่สวนความผิดของนายจตุภัทร์ยังไม่ได้เริ่มขึ้นจริง

“การจับกุมตัวนายจตุภัทร์แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลทหารไทยใช้กฎหมายหมิ่นเบื้องสูง เพื่อกลั่นแกล้งผู้ที่เห็นต่างจากรัฐบาลทหาร” นายแบรดกล่าวในแถลงการณ์ลงวันที่ 22 มกราคม ตามเวลาในนิวยอร์ค

“ความไม่ยุติธรรมของกฎหมายหมิ่นเบื้องสูง ทำให้เกิดสถานการณ์อันเลวร้าย คือการยืดระยะเวลาการควบคุมตัวนายจตุภัทร์ให้ยืดยาวออกไป ดังนั้นจึงควรยกเลิกข้อกล่าวหาของเขาทันที อย่าให้เขาต้องมารับโทษทั้งๆ ที่การไต่สวนยังไม่เริ่มขึ้น” นายแบรดเพิ่มเติม

แถลงการณ์ขององค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ยังได้วิพากษ์-วิจารณ์การใช้อำนาจของรัฐบาล ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย โดยระบุว่า นับตั้งแต่ประเทศไทยถูกยึดอำนาจโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ในปี 2557 มีประชาชนอย่างน้อย 68 คน ที่ถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายหมิ่นเบื้องสูง จากการที่คนเหล่านั้นเพียงแค่เขียนข้อความบางอย่างลงบนสื่อสังคมออนไลน์ และอาจมีโทษจำคุกยาวนานถึง 10 ปี

ทางเบนาร์นิวส์ได้พยายามติดต่อเจ้าหน้าที่พนักงานสอบสวนเจ้าของคดีนี้ แต่ไม่สามารถติดต่อได้

นายจตุภัทร์ ถูกจับกุมตัวที่จังหวัดชัยภูมิ ในวันที่ 3 ธันวาคม 2559 หลังการเผยแพร่รายงานข่าวของสำนักข่าวบีบีซีไทย (BBC Thai) เรื่อง “พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย” บนเฟซบุ๊คส่วนตัว โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่า การกระทำของนายจตุภัทร์ อาจเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก่อนที่นายจตุภัทร์จะได้รับประกันตัวด้วยวงเงิน 4 แสนบาท ในวันถัดมา

กระทั่งวันที่ 22 ธันวาคม 2559 ศาลมีคำสั่งถอนสิทธิการประกันตัว โดยให้เหตุผลว่านายจตุภัทร์ มีพฤติกรรมยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน และเย้ยหยันอำนาจรัฐ ปัจจุบัน นายจตุภัทร์ถูกฝากขังอยู่ที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น

ตลอดระยะเวลาที่นายจุตภัทร์ถูกควบคุมตัว องค์กรสิทธมนุษยชนหลายองค์กรได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวนายจตุภัทร์ เนื่องจากเชื่อว่ากระบวนการควบคุมตัวไปเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนสากลโดยองค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) และประชาชนไทยในนาม “กลุ่มประชาชนผู้ห่วงใย” ได้ส่งจดหมายแสดงความกังวลต่อเรื่องนี้ถึงรัฐบาลไทยด้วยเช่นกัน

ล่าสุดในวันที่ 20 มกราคม 2560 ศาลจังหวัดขอนแก่น ได้นัดไต่สวนคำร้องของพนักงานสอบสวนว่าจะฝากขังนายจตุภัทร์ในผัดที่ 5 หรือไม่ โดยศาลได้ระบุว่า การพิจารณาครั้งนี้เป็นการพิจารณาทางลับ บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องจึงไม่สามารถเข้าฟังการไต่สวนได้ นายจตุภัทร์จึงได้ให้ทนายความของตนเองออกจากห้องพิจารณาด้วยเช่นกัน เนื่องจากเชื่อว่า แม้มีทนายความอยู่ก็ไม่เกิดประโยชน์ต่อการพิจารณา หากพิจารณาในทางลับ ซึ่งในที่สุด ศาลมีพิจารณาให้ฝากขังนายจตุภัทร์ในผัดที่ 5 ต่อไป

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง