ศาลยกฟ้องทนายประเวศข้อหา ม.112 แต่จำคุกข้อหายุยง-พรบ.คอมพ์

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2018.06.27
กรุงเทพฯ
180627-TH-prawet-1000.jpg นายประเวศ ประภานุกูล ขณะลงจากรถของกรมราชทัณฑ์ เพื่อขึ้นฟังการอ่านคำพิพากษาคดีของตนเองที่ศาลอาญา ในวันที่ 27 มิถุนายน 2561
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ในวันพุธนี้ ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ได้พิจารณายกฟ้องนายประเวศ ประภานุกูล อดีตทนายความกลุ่มคนเสื้อแดง ในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่สั่งให้จำคุกจำเลยในข้อหายุยงปลุกปั่น และข้อหาละเมิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เป็นเวลา 16 เดือน

ศาลขึ้นอ่านคำพิพากษาในคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 7 ฟ้องในความผิดฐานหมิ่นเบื้องสูงตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ความผิดฐานยุยงปลุกปั่น ม.116 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ต่อนายประเวศ ประภานุกูล อดีตทนายความกลุ่มคนเสื้อแดง โดยตัดสินว่า มีความผิดตาม ม.116 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ รวมทั้งขัดคำสั่งเจ้าพนักงานในการพิมพ์นิ้วมือ แต่ยกฟ้องความผิด ม.112 ให้รับโทษจำคุกรวม 16 เดือน

ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อ่านคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.2368/60 ในห้องพิจารณาคดีที่ 707 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ โดยอนุญาตให้ญาติของนายประเวศ ประชาชนที่สนใจ ผู้สังเกตการณ์ และสื่อมวลชนร่วมฟังคำพิพากษากว่า 10 คน แม้ว่าการพิจารณาที่ผ่านมาจะเป็นการทำทางลับโดยตลอดก็ตาม ซึ่งศาลระบุว่า นายประเวศได้เขียนข้อความที่มีใจความส่งเสริมให้ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบสาธาณรัฐ จึงถือเป็นความผิด

“จำเลยไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมเท่ากับปฏิเสธสิทธิที่จะสู้คดี การโพสต์เฟสบุ๊คของจำเลยตั้งค่าเป็นสาธารณะ ข้อความดังกล่าวจึงมีความผิดตามมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แต่เนื่องจากเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษในบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จึงให้ลงโทษจำคุกในความผิดมาตรา 116 จำนวน 3 กรรม กรรมละ 5 เดือน รวม 15 เดือน... ข้อหาอื่นยก” ตอนหนึ่งของคำพิพากษาระบุ

ทั้งนี้ ได้สั่งให้ลงโทษนายประเวศ จากการไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือในชั้นพนักงานสอบสวน ซึ่งขัดต่อประกาศคณะปฏิรูปการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ที่ 25/2549 ให้จำคุก 1 เดือน รวมโทษทั้งหมดจำคุก 16 เดือน

ทั้งนี้ นายประเวศ ถูกฝากขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาแล้วตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2560 หรือราว 14 เดือน ดังนั้น นายประเวศจะเหลือโทษอีกราว 2 เดือน

หลังฟังคำพิพากษา นายประเวศกล่าวต่อผู้สังเกตการณ์และสื่อมวลชนว่า เขาได้รับการปฎิบัติอย่างไม่ชอบธรรม

“ไม่ว่ายังไงจะไม่ยอมจำนน วันนี้ เขาอาจจะกระหยิ่ม แต่วันหน้าทั่วโลกจะต้องเห็นว่าการกระทำนี้ เป็นกระบวนการไล่ล่าคนเห็นต่างของ คสช.” นายประเวศกล่าว และบอกว่าจะไม่อุทธรณ์คดี

นายประเวศ ประภานุกูล อายุ 58 ปี ทนายความซึ่งในอดีตเคยช่วยเหลือด้านกฎหมายให้กับสมาชิกกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือ “กลุ่มคนเสื้อแดง” ในคดีที่เป็นผลมาจากการชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จนเกิดการปะทะมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต เมื่อปี 2553 ถูกเจ้าหน้าที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ควบคุมตัวจากบ้านพักในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2560 ก่อนส่งตัวให้เจ้าหน้าที่ตำรวจส่งฟ้องที่ศาลอาญาเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2560 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และอื่นๆ ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากการเผยแพร่ข้อความวิจารณ์สถาบันเบื้องสูงต่อจากเฟสบุ๊คของนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คดีนี้ นายประเวศถูกกล่าวหาตามความผิดของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวม 10 กรรม ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความเข้าข่ายปลุกระดม มาตรา 116 อีก 3 กรรม และถูกแจ้งความเอาผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ถูกคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวน และระหว่างการพิจารณาคดี จึงถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาตลอด ซึ่งการอ่านคำพิพากษาวันนี้เป็นการเลื่อนจากกำหนดเดิมคือวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 ซึ่งในวันนั้นศาลให้เหตุผลการเลื่อนว่า ทำคำพิพากษาไม่ทัน

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) สรุปสถิติทางเสรีภาพ หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจจากรัฐบาลรักษาการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2561 ว่า ผู้ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 หมิ่นเบื้องสูง อย่างน้อย 94 คน และในคดียุยงปลุกปั่นอีกอย่างน้อย 75 ราย

จากสถิติที่เก็บโดยสหประชาชาติระบุว่า ระหว่างปี 2554-56 มีผู้ถูกสอบสวนในคดีหมิ่นเบื้องสูง กฎหมายอาญามาตรา 112 จำนวน 119 คน ในนั้นมีคดีที่ได้รับการยกฟ้องเพียง 24 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ในช่วงปี 2557-59 มีผู้ถูกสอบสวนคดีหมิ่นฯ ถึง 285 คน แต่กลับถูกพิพากษายกฟ้องเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง