ศาลยกฟ้อง “สกันต์ แสงเฟื่อง” แม้รับสารภาพ คดี ม.112

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2018.11.15
กรุงเทพฯ
181115-TH-criminal-court-1000.jpg เจ้าหน้าที่ตำรวจยืนรักษาการณ์อยู่นอกศาลอาญา กรุงเทพฯ ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2560
เอเอฟพี

ในวันพฤหัสบดีนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า ในวันพุธที่ผ่านมา ศาลอาญามีคำพิพากษายกฟ้อง นายสกันต์ แสงเฟื่อง ผู้ต้องหาในคดีหมิ่นเบื้องสูง จากการพูดคุยกับเพื่อนนักโทษระหว่างที่ถูกจำคุกในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อปี 2557 แม้ว่า นายสกันต์จะรับสารภาพก็ตาม เนื่องจากศาลเห็นว่าไม่หลักฐานชัดเจน

ผู้พิพากษาศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ นัดอ่านคำพิพากษาคดีที่อัยการเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายสกันต์เป็นจำเลย ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการพูดคุยกับเพื่อนนักโทษในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งเชื่อว่ามีข้อความพาดพิงถึงสถาบันเบื้องสูง โดยเป็นการกระทำในช่วงปี 2557

“ข้อความที่อัยการระบุว่า จำเลยได้พูดในเรือนจำฯ นั้น จำเป็นต้องตีความ และในข้อความดังกล่าวไม่ได้ระบุว่า กล่าวถึงใครอย่างชัดเจน แม้ในคดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ แต่การกระทำของจำเลยนั้น ไม่สามารถยืนยันในข้อเท็จจริงได้ว่า เป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และพระราชินี ตามที่จำเลยถูกกล่าวหา ศาลจึงพิจารณาตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 185 ให้ยกฟ้องจำเลย” ตอนหนึ่งของคำพิพากษา ระบุ

ทั้งนี้ นายศุภณัฐ บุญสด ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ผ่านโทรศัพท์ว่า นายสกันต์ จะได้รับเงินชดเชยจากการถูกควบคุมตัวระหว่างการพิจารณาเป็นเวลาเกือบ 6  เดือนด้วย

“เขาติดอีกคดีหนึ่ง แล้วถูกปล่อยตัวในปี 60 ถูกอายัดตัวทันที จากนั้นก็ติดอยู่ในนั้นอีก 6 เดือน ก่อนได้ประกัน การเรียกร้องค่าเสียหาย ต้องไปขอกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เพื่อยื่นคำร้องขอค่าเสียหายที่เกิดจากการคุมขังระหว่างพิจารณาคดีในศาล 500 บาทต่อวัน คำนวณดูแล้วเขาน่าจะได้ประมาณ 9 หมื่นบาท” นายศุภณัฐ กล่าวเพิ่มเติม

ตามข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นายสกันต์ เป็นจำเลยในคดี ที่ถูกกล่าวหาว่า เตรียมวางเพลิงธนาคารกรุงเทพ สาขาหนึ่ง ในปี 2552 กระทั่งศาลอาญา กรุงเทพใต้ มีคำพิพากษาว่า นายสกันต์กระทำผิดจริงตามฟ้อง ให้จำคุกเป็นเวลา 8 ปี 6 เดือน

จนกระทั่งวันที่ 11 ตุลาคม 2560 นายสกันต์รับโทษครบกำหนด และได้รับการปล่อยตัว แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจนครบาลประชาชื่น ได้ขออายัดตัวเพื่อดำเนินในความผิดฐานหมิ่นเบื้องสูงจากการกล่าวข้อความเข้าข่ายจำนวน 3 กรรม ระหว่างที่ถูกควบคุมตัวในช่วงปี 2557 ทำให้นายสกันต์ถูกควบคุมตัว ระหว่างการสอบสวนและการพิจารณาในชั้นศาล กระทั่งวันที่ 26 มีนาคม 2561 นายสกันต์ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้หลักทรัพย์ 5 แสนบาทประกัน

นายสกันต์ นับเป็นจำเลยรายที่สองในคดี ม.112 ที่ถูกยกฟ้อง แม้รับสารภาพ ซึ่งเมื่อปลายเดือนมีนาคม ศกนี้ ศาลอาญา กรุงเทพฯ พิพากษายกฟ้องคดีความผิดหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ต่อนายธานัท ธนวัชรนนท์ หรือ “ทอม ดันดี” อดีตนักร้องเพลงเพื่อชีวิต จากการปราศรัยพาดพิง ในหลวง ร.9 ที่ จ.ลำพูน ในปี 2554 โดยศาลตัดสินว่า คำฟ้องของโจทก์ไม่ชัดเพียงพอเอาผิด แม้จำเลยรับสารภาพก็ตาม

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ายึดอำนาจการปกครองในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2561 มีผู้ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 อย่างน้อย 94 คน และมีผู้ถูกตัดสินให้รับโทษจำคุก และถูกควบคุมตัวระหว่างกระบวนการพิสูจน์ความผิด 36 คน และมีผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวระหว่างการพิจารณาคดี 13 คน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง