หญิงตาบอดชาวยะลาถูกตัดสินจำคุก 1.5 ปี คดี ม.112

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2018.01.04
กรุงเทพฯ
180104-TH-king-1000.jpg ประชาชนสวดมนต์อวยพรให้ในหลวง ร.9 หายจากอาการประชวรที่ โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพฯ วันที่ 12 ตุลาคม 2559
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ศาลจังหวัดยะลา ได้ตัดสินลงโทษจำคุก น.ส.นูรฮายาตี มะเสาะ ผู้พิการทางสายตาอายุ 23 ปี เป็นเวลาสามปี ในเช้าวันพฤหัสบดี (4 มกราคม 2561) นี้ จากการแสดงความคิดเห็นบนเฟซบุ๊คด้วยข้อความเข้าข่ายหมิ่นเบื้องสูง แต่จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อรูปคดี จึงลดโทษเหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ซึ่งถือว่าเป็นคดีหมิ่นเบื้องสูง คดีแรก สำหรับมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมยะลา ทนายความกล่าว

น.ส.เกาซัร อาลีมามะ จากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ยะลา เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ผ่านโทรศัพท์ว่า น.ส.นูรฮายาตี ได้แสดงความคิดเห็นใต้โพสต์ของผู้ใช้เฟซบุ๊คชื่อ ใจ อึ๊งภากรณ์ ด้วยการใช้แอปพลิเคชั่นช่วยพิมพ์จากเสียงของผู้พิการทางสายตา ในช่วงเดือนตุลาคม 2559  ซึ่งความเห็นดังกล่าว มีข้อความเข้าข่ายหมิ่นเบื้องสูง และเป็นการแสดงความเห็นหลังการสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 จึงถูกแจ้งความเอาผิดจากผู้พิการทางสายตารายหนึ่ง

ใจ อึ๊งภากรณ์ เป็นนักเคลื่อนไหวทางวิชาการและการเมือง สัญชาติไทย-อังกฤษ แต่ปัจจุบันอาศัยในสหราชอาณาจักร เพื่อหลบหนีคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

น.ส.เกาซัร เปิดเผยเพิ่มเติมว่า คดีความผิด ม.112 ถือว่าเป็นคดีแรก สำหรับมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ยะลา ซึ่ง น.ส.นูรฮายาตีจะถูกควบคุมตัวที่เรือนจำกลาง จังหวัดยะลา ต่อจากนี้ คณะทนายความจะได้ปรึกษากับญาติว่า จะยื่นอุทธรณ์ในประเด็นใด และอาจมีการยื่นขอประกันตัว หากเงินประกันอยู่ในมูลค่าที่เหมาะสม

“เมื่อ 18 ตุลาคม 2559 ถูกฟ้อง ผู้นำชุมชนมาบอกน้องเขาว่า นายอำเภอแจ้งมาว่า น้องเขาทำผิด น้องเขาเลยไปที่ สภ. เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาพร้อมญาติ ตอนที่เจ้าหน้าที่ถามที่ สภ.เมืองยะลา น้องเขาก็รับสารภาพเลย เขารับสารภาพเนื่องจากเขาทำจริงๆ เพราะไม่คิดว่า ความผิดร้ายแรง แต่หลังจากนั้นไม่มีการควบคุมตัว ซึ่งน้องก็เดินทางไปพบตำรวจตามนัดตลอดมา” น.ส.เกาซัรกล่าว

“วันนี้ ฟังคำพิพากษา คุก 3 ปี แต่ลดโทษเหลือ 1 ปี 6 เดือน ไม่รอลงอาญา เพราะศาลบอกว่า คดีอย่างนี้รอลงอาญาไม่ได้ โทษก็นับตั้งแต่วันที่ ศาลรับฟ้อง 28 พฤศจิกายน 2560 และถูกคุมตัวแต่นั้น แม้ทางเรือนจำ และเพื่อนอยากจะให้ญาติประกันตัว เพราะยากต่อการดูแล เวลาไปห้องน้ำต้องมีคนช่วย แต่เพราะว่าเงินประกันสูงไป ญาติเขาไม่มีหลักทรัพย์ ประมาณ 3.5 แสนบาท” น.ส.เกาซัรกล่าวเพิ่มเติม

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) สรุปสถิติทางเสรีภาพหลังจากการยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พบว่ามีผู้ถูกเรียกรายงานตัวหรือมีเจ้าหน้าที่เข้าเยี่ยมบ้านอย่างน้อย 1,319 ราย, ถูกจับกุมอย่างน้อย 597 คน, ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 หมิ่นเบื้องสูง อย่างน้อย 82 คน, ถูกตั้งข้อหามาตรา 116 ยุยงปลุกปั่น อย่างน้อย 64 คน และมีกิจกรรมเกี่ยวกับเสรีภาพถูกปิดกั้น-แทรกแซง อย่างน้อย 152 ครั้ง ซึ่งสถิตินี้เป็นการรวบรวมถึงวันที่ 30 กันยายน 2560

โดยในวันที่ 9 มิถุนายน 2560 ศาลทหาร กรุงเทพฯ ตัดสินจำคุกนายวิชัย (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากความผิดในการปลอมเฟซบุ๊คและโพสต์ข้อความหมิ่นเบื้องสูง โดยตัดสินลงโทษจำคุก 70 ปี ก่อนลดโทษเหลือ 30 ปี 60 เดือน เพราะนายวิชัยให้การรับสารภาพ ซึ่งการตัดสินโทษครั้งนี้ ถือเป็นคดีที่พิจารณาโทษที่หนักที่สุดของกฎหมาย ม.112

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง