ศาลพิจารณาลับ ทนายประเวศขึ้นสืบพยานครั้งแรก คดีหมิ่นเบื้องสูง

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2018.05.08
กรุงเทพฯ
180508-TH-lesemajeste-prawet-800.jpg นายประเวศ ประภานุกูล เดินลงจากรถรับส่งผู้ต้องหาเมื่อเดินทางมาถึงศาลอาญา รัชดา วันที่ 8 พ.ค. 2561
ภาพโดยเฟสบุ๊ค Banrasdr Photo

ในวันอังคารนี้ นายประเวศ ประภานุกูล อดีตทนายความที่คอยช่วยเหลือกลุ่มคนเสื้อแดง เดินทางไปยังศาลอาญา รัชดาภิเษก ตามนัดสืบพยานโจทก์ครั้งแรก ในคดีความผิดฐานหมิ่นเบื้องสูง ความผิดฐานยุยงปลุกปั่น ม.116 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ขอสู้คดีโดยไม่ใช้ทนาย ขณะที่ศาลให้พิจารณาคดีในทางลับระบุว่า เพื่อความปลอดภัยของประเทศ

นายประเวศ ประภานุกูล อายุ 58 ปี ทนายความซึ่งในอดีตคอยช่วยเหลือด้านกฎหมายให้กับสมาชิกกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือ “กลุ่มคนเสื้อแดง” ในคดีที่เป็นผลมาจากการชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จนเกิดการนองเลือด เมื่อปี 2553 ถูกเจ้าหน้าที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ควบคุมตัวจากบ้านพักในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2560 ก่อนส่งตัวให้เจ้าหน้าที่ตำรวจส่งฟ้องที่ศาลอาญา ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเชื่อว่า เกิดจากการเผยแพร่ข้อความวิจารณ์สถาบันเบื้องสูงต่อจากเฟสบุ๊คของนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“ศาลไร้ซึ่งความชอบธรรมที่จะพิจารณาคดี” นายประเวศ กล่าวต่อศาล เนื่องจากนายประเวศไม่ได้รับการประกัน และห้ามไม่ให้นายประเวศนำแถลงการณ์ซึ่งเตรียมไว้แถลงต่อศาลมาอ่านในห้องพิจารณาคดี ตามคำบอกเล่าของนายกฤษฎางค์ นุตจรัส ที่ปรึกษากฎหมายของนายประเวศ

ทั้งนี้ นายประเวศถูกปฎิเสธคำขอปล่อยตัวชั่วคราว และถูกปฎิเสธคำร้องค้านการฝากขัง ทำให้ถูกควบคุมตัวในเรือนจำพิเศษ กรุงเทพมหานคร นับตั้งแต่ถูกจับกุม จนถึงปัจจุบัน

คดีนี้ นายประเวศถูกกล่าวหาตามความผิด ม.112 รวม 10 กรรม ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความเข้าข่ายปลุกระดม ตามความผิด ม.116 อีก 3 กรรม และถูกแจ้งความเอาผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยวันนี้ ศาลได้เบิกพยานโจทก์ 2 ราย คือ พล.ต.วิจารณ์ จดแตง ผู้แจ้งความ และเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งตรวจสอบหลักฐาน 1 คน โดยในห้องพิจารณาคดี 707 มีญาติของนายประเวศ เพื่อน ประชาชนทั่วไป และผู้สังเกตการณ์จากสหประชาชาติขอเข้าร่วมฟังการพิจารณาคดี

เมื่อถึงเวลาพิจารณาคดี พนักงานอัยการซึ่งเป็นโจทก์ร้องต่อศาลให้พิจารณาคดีทางลับ เนื่องจากเชื่อว่าจะช่วยปกป้องความลับที่มีผลประทบต่อความปลอดภัยของประเทศ โดยศาลเห็นชอบด้วย จึงเชิญให้ผู้เข้าสังเกตการณ์ทุกคนออกจากห้องพิจารณาคดี รวมทั้งเจ้าหน้าที่สหประชาชาติ ซึ่งอ้างว่าได้ทำหนังสือขอสังเกตการณ์ล่วงหน้ามาแล้ว ก็ไม่ได้รับอนุญาตอยู่ในห้องพิจารณาคดี ระหว่างพิจารณาคดีจึงมีเพียงศาล โจทก์ พยาน และนายประเวศเท่านั้น

นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ที่ปรึกษากฎหมายของนายประเวศ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า นายประเวศเชื่อว่า ศาลไม่ได้ให้ความเป็นธรรม จึงประท้วงด้วยการปฎิเสธที่จะปฎิบัติตามกระบวนการของศาล แม้ศาลกล่าวต่อญาติของนายประเวศว่า ให้นายประเวศตั้งทนาย และศาลจะให้ความเป็นธรรม แต่นายประเวศยังยืนยันที่จะไม่ยอมรับกระบวนการ

“ทนายประเวศไม่ยอมรับกระบวนการพิจารณาคดีของศาล และยืนยันว่า จะไม่เซ็นชื่อรับรองอะไร ไม่ตั้งทนายความ ไม่เบิกพยานจำเลย เพราะเขาเชื่อว่าเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมจากศาล การรับสารภาพ คือ แถลงต่อศาลเท่านั้น ดังนั้น การปฎิเสธกระบวนการพิจารณาคดีทั้งหมด เท่ากับว่าทางกฎหมายให้การปฎิเสธ” นายกฤษฎางค์กล่าว

“การพิจารณาคดีเปิดเผย เป็นการยืนยันความบริสุทธิ์ของการพิจารณาคดีให้ทุกคนเห็น การพิจารณาทางลับอาจใช้ในคดีที่ไม่ได้ส่งผลต่อประโยชน์ส่วนรวม เช่น คดีข่มขืน ซึ่งหากให้คนทั่วไปรู้รายละเอียดของคดีก็สร้างแต่ความเสื่อมเสียให้กับผู้เสียหาย” นายกฤษฎางกล่าวเพิ่มเติม

นายกฤษฎางค์ระบุว่า โจทก์ขอเบิกพยาน 11 ปาก โดยจะสืบตั้งแต่วันที่ 8-10 พฤษภาคม 2561 ดังนั้นจึงเชื่อว่าจะสามารถอ่านคำพิพากษาได้ภายในวันที่ 10 พฤษภาคม 2561 นายกฤษฎางค์กล่าวเพิ่มเติม

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) สรุปสถิติทางเสรีภาพ หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2561 มีผู้ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 หมิ่นเบื้องสูง อย่างน้อย 94 คน

จากสถิติที่เก็บโดยสหประชาชาติระบุว่า ระหว่างปี 2554-2556 มีผู้ถูกสอบสวนในคดีหมิ่นเบื้องสูง กฎหมายอาญามาตรา 112 จำนวน 119 คน ในนั้นมีคดีที่ได้รับการยกฟ้องเพียง 24 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ในช่วงปี 2557-2559 มีผู้ถูกสอบสวนคดีหมิ่นฯถึง 285 คน แต่กลับถูกพิพากษายกฟ้องเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2560 นายวิชัย (สงวนนามสกุล) อายุ 34 ปี ชาวเชียงใหม่ ถูกศาลทหารกรุงเทพพิพากษาลงโทษจำคุก 70 ปี จากความผิดข้อหาหมิ่นเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หลังจากที่ในปี 2558 ถูกจับกุมตัวจากการปลอมเฟซบุ๊ค โดยใช้ชื่อบุคคลอื่น เพื่อโพสต์ข้อความที่เข้าข่ายหมิ่นฯ จำนวน 10 ครั้ง อย่างไรก็ดีศาลได้ตัดสินลงโทษจำคุก 7 ปีต่อ 1 กรรม จากการกระทำผิด 10 กรรม แต่ลดโทษกึ่งหนึ่ง เนื่องจากนายวิชัยรับสารภาพ เหลือจำคุก 3 ปี 6 เดือนต่อ 1 กรรม นายวิชัยจึงถูกตัดสินลงโทษเป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 30 ปี 60 เดือน ถือเป็นการตัดสินโทษจำคุกจากความผิด ม.112 ที่มีโทษยาวนานที่สุด

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง