กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ มีความระแวงต่อความพยายามของรัฐบาล ในการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาชายแดนใต้

ทีมข่าว เบนาร์นิวส์
2015.04.24
TH-maytalk-620 อัซซัน ตอยิบ ประธานกลุ่มบีอาร์เอ็น (Barisan Revolusi Nasional) หลังจากพิธีลงนามในการเปิดกระบวนการเจรจาเพื่อสันติภาพ จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ที่ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจ ในกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556
[เอเอฟพี]

ภายหลังจากที่ พลเอกอุดมเดช สีตบุตร ผู้บัญชาการทหารบก ได้ตอบคำถามของผู้สื่อข่าวในหลังเสร็จสิ้นงานแถลงผลงานรัฐบาลครบหกเดือน ในส่วนของกระทรวงกลาโหม เมื่อวันพุธ (22 เม.ย. 2558) ว่า การเจรจาครั้งใหม่กับฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ อาจจะเริ่มขึ้นได้ในเดือนพฤษภาคมนั้น

ในวันที่  23 เมษายน แหล่งข่าวในประเทศมาเลเซีย รายงานว่า คณะพูดคุยสันติสุขจากประเทศไทย นำโดย พลเอกอักษรา เกิดผล ได้ร่วมพูดคุยเพื่อทำความรู้จักกับแกนนำบางคนของฝ่ายบีอาร์เอ็น พูโล บีไอพีพี เพื่อปูทางสู่การเจรจาต่อไป

แหล่งข่าวผู้ไม่ประสงค์ออกนามดังกล่าว ซึ่งมีความใกล้ชิดกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐกล่าว “ทางทหารไทยพยายามที่จะคุยกับแกนนำต่างๆ ในประเทศมาเลเซีย แต่ไม่มีใครมั่นใจที่จะกล้าออกมา  เพราะกลัวว่าทหารไม่จริงใจ”

ปีที่ผ่านมา ยุครัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่นายอัซซัน ตอยิบ ออกมาเจรจา ก็เพราะถูกฝ่ายมาเลเซียบีบบังคับ ไม่ได้ออกมาอย่างเต็มใจที่จะร่วมพูดคุย และผลที่ออกมา รัฐก็ไม่สามารถทำอะไรให้กับชาวปาตานีได้เลย โดยเฉพาะ 5 ข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็นที่เสนอออกมา”

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์วันที่ 17 กันยายน 2556 ได้รายงานถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มบีอาร์เอ็น 5 ข้อ ที่มีนายฮัซซัน ตอยิบ เป็นผู้นำในการเจรจา โดยอ้างอิงถึงเอกสารของบีอาร์เอ็นที่ได้มาจากฝ่ายความมั่นคงดังต่อไปนี้ว่า

ล่าสุดในเอกสารคำอธิบาย 38 หน้า มีการขยายความประมาณว่า "ให้รัฐบาลรับรองปาตานีเป็นชาติบ้านเกิด และเป็นอธิปไตยของชาวมลายูปาตานี เพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เนื่องจากรัฐสยามเข้ามาครอบครองปาตานี และละเมิดสิทธิมนุษยชน พร้อมกันนี้ต้องให้โอกาสแก่ชุมชนมลายูได้บริหารพื้นที่ โดยการตั้งเป็นเขตปกครองพิเศษอยู่ในอำนาจอธิปไตยของไทย ดังเช่น กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา โดยให้รัฐสภาพิจารณา"

ด้านอดีตแกนนำบีอาร์เอ็นผู้หนึ่ง ที่เคยเคลื่อนไหวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กล่าวว่า ทุกวันนี้ ทหารพยายามติดต่อกับผู้เห็นต่างจากรัฐฝ่ายต่างๆ ทั้งในทางลับและโดยเปิดเผย เพื่อที่จะให้มีการพูดคุย แต่สมาชิกกลุ่มบีอาร์เอ็น ยังไม่ยอมออกมา เพราะยังหวาดระแวงอยู่

“ที่สำคัญ ต้องมาคุยในพื้นที่ เพราะผู้ที่มีความสามารถในการสั่งการต่อผู้ปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่ ยังสามารถสั่งการได้ปกติ ยังไม่ถูกหมายอะไรด้วยซ้ำ ทหารคิดว่าจะคุยกับแกนนำที่อยู่มาเลเซีย คนพวกนั้น เป็นแกนนำที่มีอิทธิพลรองลงไป” แหล่งข่าวคนเดียวกันกล่าว

ทางด้านเยาวชนที่เป็นฝ่ายสนับสนุนขบวนการสร้างความไม่สงบหรือเปอร์มูดอ ในพื้นที่ กล่าวว่า  กลุ่มเยาวชนอยากร่วมพูดคุยด้วย เพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อครอบครัว และการแอบแฝงอยู่ในที่ลับอย่างที่เป็นอยู่ จะได้ปลอดภัย และไม่ทำให้ตนเองเดือดร้อน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง