โรคหัดระบาดชายแดนใต้ เด็กเสียชีวิตเพิ่มเป็น 12 ราย
2018.10.30
ปัตตานี
ในวันอังคารนี้ เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ กล่าวว่า มีเด็กอายุไม่เกิน 12 ขวบ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เสียชีวิตด้วยโรคหัดเพิ่มขึ้นเป็น 12 รายแล้ว หลังจากเกิดการระบาดเป็นระยะเวลาสัปดาห์ที่ห้า โดยเจ้าหน้าที่คาดว่าจะสามารถควบคุมโรคได้ภายในสองถึงสี่สัปดาห์หน้า เพราะได้ทำการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง
นายแพทย์ชัยวัฒน์ พัฒนาพิศาลศักดิ์ นายแพทย์เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกัน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลา กล่าวว่า จนถึงขณะนี้ มีผู้ป่วยโรคหัดเป็นเด็กอายุไม่เกิน 12 ปี ในจังหวัดยะลา เสียชีวิตแล้ว 10 ราย และมีผู้ติดเชื้อ 859 คน ส่วน น.พ.ชัยรัตน์ ลำโป นายแพทย์ สาธารณสุขจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า มีเด็กเสียชีวิต 2 ราย โดยมีผู้ป่วยติดเชื้อหัดอีก 314 ราย
นายแพทย์ชัยวัฒน์ พัฒนาพิศาลศักดิ์ กล่าวว่า ผู้เสียชีวิตในยะลาเป็นเด็กที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนมาก่อน
"จากการตรวจสอบผู้ที่เสียชีวิตจากโรคหัดทั้ง 10 รายนั้น พบประวัติด้านสาธารณสุข ว่าผู้เสียชีวิตทั้งหมดไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนโรคหัด และบางรายก็ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน บางรายอายุยังไม่ถึงเกณฑ์ก็เป็นโรคหัด จนต้องเสียชีวิตในที่สุด" นายแพทย์ชัยวัฒน์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
หนึ่งในปัญหาของการควบคุมโรคหัด คือ การที่ชาวมุสลิมปฏิเสธการรับวัคซีน ซึ่งเมื่อก่อนกลางเดือนตุลาคมนี้ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ หัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ประสานกับจุฬาราชมนตรี เพื่อขอให้สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการป้องกันโรคหัดให้กับประชาชนมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจากมีการระบาดมาสองสัปดาห์
“บางพื้นที่มีปัญหาการต่อต้านการฉีดวัคซีนในเด็กมุสลิม ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข และสำนักจุฬาราชมนตรี เคยทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่แล้วว่า การรับวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ ในเด็กมุสลิมสามารถดำเนินการได้” พล.อ.สุรเชษฐ์กล่าว เมื่อกว่าสองสัปดาห์ก่อนหน้านี้
ด้าน น.พ.ชัยรัตน์ ลำโป กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปัตตานี ได้มีมาตรการเชิงรุกในการลดการป่วยโรคหัด โดยให้ทุกเครือข่ายท้องที่ท้องถิ่นร่วมมือกันเคาะประตูบ้าน ให้เด็กอายุไม่เกิน 5 ปี รับการฉีดวัคซีน
“ได้ใช้วิธีควบคุมการระบาดด้วยมาตรการ 323 คือ 1. เมื่อผู้รักษาพบผู้ป่วย ให้รายงานทีมควบคุมโรคภายในสามชั่วโมง 2. เจ้าหน้าที่ควบคุมโรค ลงไปสอบสวนโรคเพื่อหาผู้สัมผัสโรค ภายในสองวัน และ 3. เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ติดตามฉีดวัคซีนแก่ผู้สัมผัสโรคภายในสามวัน” น.พ.ชัยรัตน์ กล่าว
นอกจากนั้น มีมาตรการลดความรุนแรงและป้องกันการเสียชีวิต โดย 1. ให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทบทวนการดำเนินงาน ให้ได้มาตรฐาน 2. เปิดช่องทางให้คำปรึกษาสำหรับแพทย์ผู้รักษาในโรงพยาบาลชุมชน ได้ปรึกษากุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการดูแลผู้ป่วยเด็กได้ตลอดเวลา และ 3. ลดเงื่อนไขในการส่งต่อผู้ป่วยโรคหัดจากโรงพยาบาลชุมชนสู่โรงพยาบาลปัตตานี เพื่อลดอัตราเสี่ยง
คาดว่าจะควบคุมโรคได้ในเวลาสองถึงสี่สัปดาห์
นายแพทย์สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดหนักที่สุด ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ทางการขอเวลาอีกสองสัปดาห์ในการเร่งฉีดวัคซีนให้กับเด็กและผู้ที่ต้องเฝ้าระวังอีก 8,000 ราย ซึ่งวัคซีนจะมีผลในการสร้างภูมิต้านทานในอีกสองสัปดาห์ถัดไป
“เราขอเวลา 2 อาทิตย์ เพื่อปูพรมฉีดวัคซีนให้กับเด็กและผู้ที่ต้องเฝ้าระวัง จำนวน 8,000 คน ขณะนี้ ผู้ป่วยในจังหวัดยะลา ถือว่าอยู่ในระหว่างทรงตัว ไม่มีการระบาดมาก แต่ต้องเข้าใจว่าการฉีดวัคซีนหรือเมื่อได้รับวัคซีน 2 อาทิตย์กว่าจะได้ผล ในระหว่างนี้ ผู้ป่วยอาจจะยังมีโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ จึงยังทำให้ดูเหมือนจำนวนของผู้ป่วยมีมากขึ้น แต่จริงๆ แล้ว หากเทียบก่อนหน้านี้ถือว่าลดลง" นายแพทย์สงกรานต์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
นายแพทย์สงกรานต์ กล่าวอีกว่า โรคหัดจะมีการติดต่อก่อนที่เป็นโรค 5 วัน และหลังที่เป็นแล้ว 5 วัน ซึ่งตรงนี้ ทางเจ้าหน้าที่จะสังเกตยากมาก
“ทางโรงพยาบาลก็เลยต้องจัดการมาตรการตั้งแต่ในส่วนของผู้ป่วยนอก ใครที่เข้าข่ายสงสัยเราก็จะแยกจุดตรวจให้ชัดเจน แล้วก็จะไม่ให้ปะปนกับคนอื่น เมื่อต้องไปอยู่ห้องคัดกรองก็จะแยกไปกับรถยนต์ไปส่งหน้าห้อง เพื่อไม่ให้เผยแพร่ไปยังผู้อื่น” นายแพทย์สงกรานต์กล่าว
ทั้งนี้ นายแพทย์สงกรานต์ ชี้แจงว่า ผู้ป่วยโรคหัด 1 คน สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ถึง 18 คน ประกอบกับช่วงนี้ มีสภาพอากาศที่เหมาะกับการเจริญของเชื้อ คือ อากาศไม่ร้อน เชื้อจึงสามารถอยู่ในอากาศได้ ในขณะที่การฉีดวัคซีนของจังหวัดยะลา อยู่ที่เฉลี่ยประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ คือ 100 คน มีการฉีดแค่ 60 คน ซึ่งในบางหมู่บ้านก็อาจจะทำได้ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์
ด้าน น.ส.อารีนี นิงามีน พยาบาลป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชยะหา กล่าวว่า ในขณะนี้โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชยะหา มีผู้ปวยนอนที่โรงพยาบาลทั้งหมด 21 คน รวมทั้ง ผู้ป่วยที่ต้องเฝ้าระวังด้วย ซึ่งทางโรงพยาบาล จะมีระบบ One Stop Service ก็คือการดูแลผู้ป่วยตั้งแต่ผู้ป่วยนอกที่มารับบริการ ก็จะคัดแยกโดยการแบ่งประเภทคนไข้ที่เข้าข่ายต้องสงสัยว่าเป็นโรคหัด
“อัตรากำลังเจ้าหน้าที่พยาบาลที่ดูแลผู้ป่วย มีพยาบาล 1 คน ต่อผู้ป่วย 6 คน ซึ่งถ้าหากว่ามีผู้ป่วยวิกฤต ก็สามารถตามพยาบาลเสริมเข้ามาช่วยได้อีก มีการเตรียมอัตรากำลังเหมาะสมกับสภาพของผู้ป่วยแต่ละวัน” น.ส.อารีนี กล่าว