ชาวแม่น้ำโขงฟ้องศาลปกครองค้านสร้างเขื่อนปากแบง
2017.06.08
กรุงเทพฯ

ในวันพฤหัสบดี (8 มิถุนายน 2560) นี้ ตัวแทนเครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดแม่น้ำโขง พร้อมทนายความเดินทางเข้ายื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ให้เอาผิดกับหน่วยงานราชการของไทยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างเขื่อนปางแบง ซึ่งจะสร้างบนแม่น้ำโขง ในพื้นที่แขวงอุดมไซ ประเทศลาว เนื่องจากเชื่อว่าเขื่อนดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนไทยที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขง
นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือครูตี๋ ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ ตัวแทนชาวจังหวัดเชียงราย ที่เข้ายื่นฟ้องครั้งนี้ เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า การก่อสร้างเขื่อน 3 แห่งบนแม่น้ำโขงตอนบนในประเทศจีน สร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนไทยที่อาศัยอยู่ริมน้ำ การที่ในประเทศลาวจะสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงเพิ่มอีก จึงสร้างความกังวลให้กับประชาชนจนต้องมายื่นฟ้อง เพื่อให้เกิดการชะลอการก่อสร้างโครงการนี้
“เขื่อนปากแบงเป็นเขื่อนที่อยู่ทางตอนใต้ของ จ.เชียงราย ปัจจุบัน เราก็มีปัญหาจากเขื่อนในจีนมากมายอยู่แล้ว จะมีเขื่อนทางตอนใต้ลงไปอีกยิ่งมีผลกระทบ มันมีโครงการตัวอย่าง คือ เขื่อนไซยะบุลี และดอนสะโฮง ที่กระบวนการขั้นตอนกลางๆ ทำอย่างไม่ละเอียดรอบคอบ ในครั้งนี้ เราฟ้องอธิบดีกรมน้ำ กรมน้ำ และเอ็มอาร์ซีประเทศไทย ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้อง และให้ กฟผ. ชะลอการซื้อไฟไปก่อน” นายนิวัฒน์กล่าว
นายนิวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนในประเทศจีนและประเทศลาว โดยเชื่อว่า การก่อสร้างเขื่อนทำให้การขึ้นลงของระดับน้ำในแม่น้ำโขงผิดปกติ ส่งผลให้พื้นที่กสิกรรมริมแม่น้ำเสียหาย รวมทั้งส่งผลต่อการอพยพของปลาในแม่น้ำโขง กระทบต่อการประกอบอาชีพประมงน้ำจืด
โครงการเขื่อนปากแบง จะก่อสร้างกั้นแม่น้ำโขงทั้งลำน้ำ ในพื้นที่แขวงอุดมไซ ประเทศลาว ซึ่งห่างจาก อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย เพียง 92 กิโลเมตร เป็นโครงการที่จะผลิตไฟฟ้า 912 เมกกะวัตต์ ดำเนินการก่อสร้างโดยบริษัท ไชน่า ต้าถัง โอเวอร์ซี อินเวสเมนต์ จากประเทศจีน โดยมีแผนที่จะส่งไฟฟ้าที่ผลิตได้ขายให้กับบริษัทการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ปัจจุบัน โครงการเขื่อนปากแบงอยู่ในขั้นตอนการแจ้งและปรึกษาหารือล่วงหน้า (Procedures for Notification, Prior Consultation and Agreement หรือ PNPCA) ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ. 2538 โดยกระบวนการพีเอ็นพีซีเอระยะเวลา 6 เดือนจะสิ้นสุดในวันที่ 19 มิถุนายนนี้
ชาวประมงท้องถิ่น เดินเลียบโขดหินฝั่งแม่น้ำโขงเพื่อจะลงหาปลาใน เมืองปากแบง แขวงอุดมไซ ประเทศลาว วันที่ 18 มิถุนายน 2557 (เบนาร์นิวส์/นนทรัฐ ไผ่เจริญ)
นางสาว ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความของเครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดแม่น้ำโขง ระบุว่า ประชาชนริมโขงฟ้องหน่วยงานรัฐไทยซึ่งประกอบด้วย อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ และคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงไทย (Mekong River Commission หรือ MRC) เนื่องจากเห็นว่า ไม่ได้ปฎิบัติหน้าที่เพื่อปกป้องทรัพยากรน้ำของไทยตามหน้าที่ที่ควรจะปฎิบัติ
“ผู้ฟ้องคดีใช้เรื่องสิทธิชุมชนมาฟ้อง 3 หน่วยงาน เพราะเห็นว่าทั้ง 3 หน่วยงานมีหน้าที่ที่จะปกป้องและรักษาทรัพยากรในแม่น้ำโขง รวมถึงประชาชนไทยริมฝั่งแม่น้ำโขงซึ่งจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน แต่เราเห็นว่ากระบวนการปรึกษาหารือยังไม่ครบถ้วนและถูกต้อง ในส่วนของการให้ความเห็นโต้แย้งคัดค้านโครงการ ไม่มีลักษณะนี้” นางสาว ส.รัตนมณีกล่าว
นางสาว ส.รัตนมณี กล่าวเพิ่มเติมว่า การฟ้องร้องครั้งนี้ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร เชื่อว่าจะสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการทำงานของหน่วยงานรัฐไทย เหมือนกับที่เกิดขึ้นในคดีที่ประชาชนฟ้องศาลปกครองกรณีเขื่อนไซยะบุลี
“โครงการเขื่อนไซยะบุลี แม้ว่าศาลปกครองกลางจะยกฟ้องก็ตาม แต่ว่าเราพบการเปลี่ยนแปลง เช่น กฟผ. ตอบรับมาอย่างดีว่า ต่อไปถ้าจะทำสัญญาซื้อไฟฟ้าจะต้องผ่านกระบวนการพีเอ็นพีซีเอที่ชัดเจน เอ็มอาร์ซีก็พยายามจะปรับปรุงมากขึ้น จึงต้องใช้กระบวนการทางศาล เราหวังผลว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะออกมาปกป้องแม่น้ำโขง” นางสาวส.รัตนมณีระบุ
ปัจจุบัน มีเขื่อน 7 แห่งในประเทศจีนที่สร้างเสร็จและเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าแล้ว โดยเขื่อนแรก คือ เขื่อนม่านวาน สร้างเสร็จในปี 2536 และล่าสุด เขื่อนเมียววี ในปี 2559 ขณะที่ในแม่น้ำโขงตอนล่าง มีเขื่อน 2 แห่ง ที่กำลังก่อสร้าง คือ เขื่อนไซยะบุลี และเขื่อนดอนสะโฮง ซึ่งทั้ง 2 เขื่อนคาดว่าจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้จริงในปี 2562
โดยกรณีเขื่อนไซยะบุลีนั้น ประชาชนไทยเคยยื่นฟ้องเอาผิด กฟผ. ต่อศาลปกครอง ในฐานะผู้รับซื้อไฟฟ้าจากโครงการดังกล่าว และโดยต้องการให้ กฟผ. ยกเลิกสัญญาซื้อไฟฟ้า แต่ศาลปกครองตัดสินยกฟ้องในปี 2558 เนื่องจากเห็นว่าโครงการได้ดำเนินการตามขั้นตอนปรึกษาหารือล่วงหน้าแล้ว และการเซ็นสัญญาซื้อไฟฟ้าไม่ต้องมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น