คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเร่งให้แชร์ข้อมูลกันมากขึ้น ขณะระดับน้ำลุ่มโขงตอนล่างลดต่ำ

ยูจีน หว่อง
2020.08.07
200807-TH-MRC-mekong-650.jpeg เรือหาปลาจอดกระจัดกระจายอยู่ในแควที่แห้งขอด ซึ่งเชื่อมกับโตนเลสาบ ในจังหวัดกำปงเคลียง ประเทศกัมพูชา วันที่ 6 กรกฎาคม 2563
รอยเตอร์

ขณะที่ระดับน้ำในบริเวณแม่น้ำโขงตอนล่างต่ำสุดเป็นปีที่สองติดต่อกันเท่าที่เคยมีการบันทึกมา คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission หรือ MRC) ซึ่งเป็นองค์กรความร่วมมือระหว่างรัฐบาลในการประสานงานจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มแม่น้ำโขง ได้ออกรายงานฉบับหนึ่งเมื่อวันศุกร์ โดยเร่งเร้าให้จีน เมียนมา และประเทศสมาชิก แบ่งปันข้อมูลกันมากขึ้นเกี่ยวกับการใช้งานเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ เพื่อให้ทุกประเทศเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย

รายงานฉบับดังกล่าวของ MRC ซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิกคือ กัมพูชา ลาว ไทย และเวียดนาม ได้ตรวจสอบสภาพแม่น้ำบริเวณตอนล่างของแม่น้ำโขง ในช่วงระหว่างเดือนมกราคมถึงกรกฎาคม 2563 เพื่อพยายามค้นหาสาเหตุที่ทำให้น้ำที่ไหลย้อนกลับเข้าสู่โตนเลสาบ ทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีปริมาณต่ำที่สุดนับแต่ปี 2540

เขื่อน 13 แห่งที่ตั้งเรียงรายอยู่บนแนวแม่น้ำโขง โดย 11 แห่งอยู่ในจีน และสองแห่งอยู่ในลาว ตลอดจนเขื่อนอีกมากมายในลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขงในลาว ได้เปลี่ยนปริมาณการไหลตามธรรมชาติของแม่น้ำโขงไปอย่างมาก รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ต้องมีข้อมูลที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จึงจะสามารถบรรเทาผลที่เกิดจากการลดลงของปริมาณการไหลได้ รายงานฉบับนั้นกล่าว

“เราเรียกร้องให้ประเทศทั้งหกที่แม่น้ำโขงไหลผ่าน จัดหาข้อมูลและสารสนเทศมากขึ้น เกี่ยวกับการใช้งานเขื่อน และโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับน้ำอย่างโปร่งใสและรวดเร็วยิ่งขึ้น ให้แก่ MRC” ดร. อัน พิช ฮัตดา ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง กล่าวในข่าวสารนิเทศฉบับหนึ่ง

“ถึงเวลาแล้วที่ควรทำตามที่พูดไว้ เพื่อประโยชน์ร่วมกันของทุกประเทศในลุ่มน้ำโขง และของชุมชนต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบ” เขากล่าว

MRC แนะนำว่า เพื่อเพิ่มความโปร่งใส MRC ได้ขอให้จีนจัดหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้งานเขื่อนของจีนที่อยู่ในลุ่มน้ำโขงตอนบน รวมทั้งข้อมูลในฤดูแล้ง และเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกของ MRC แบ่งปันข้อมูลกันเกี่ยวกับเขื่อนต่าง ๆ ที่อยู่ในลำน้ำสาขา เมื่อประเทศสมาชิกมีข้อมูลที่ถูกต้องมากขึ้นแล้ว จะทำให้สามารถวางแผนรับมือภัยพิบัติต่าง ๆ ได้

“การร่วมมือกับประเทศทางตอนบนของแม่น้ำโขงคือ จีน และเมียนมา เป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการประเมินปริมาณฝนที่ตกลงมาในลุ่มน้ำโขงตอนบน (ลุ่มน้ำหลานชาง) อย่างละเอียด รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับการปล่อยน้ำจากเขื่อนของแต่ละประเทศด้วย” รายงานกล่าว

“การแบ่งปันสารสนเทศและข้อมูลระหว่างประเทศทั้งหกที่แม่น้ำโขงไหลผ่าน เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้ MRC สามารถระบุสาเหตุของปริมาณการไหลที่ลดลงของน้ำ และทำให้ประเทศต่าง ๆ ใช้วิธีที่ได้เสนอไปซึ่งคิดว่าใช้ได้ผล เพื่อบรรเทาผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว” รายงานฉบับนั้นกล่าว

ลาวมีเขื่อนอยู่แล้วสองแห่งบนแม่น้ำโขง และกำลังอยู่ในระหว่างการวางแผนหรือก่อสร้างเขื่อนอีกเก้าแห่ง เพื่อต้องการวางสถานะของประเทศให้เป็น “ขุมพลังแห่งเอเชียอาคเนย์” ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ทะเยอทะยานและเป็นที่ถกเถียงกัน

‘การทูตว่าด้วยเรื่องน้ำที่ได้ผล‘

รายงานฉบับดังกล่าวแนะนำให้ประเทศสมาชิกดำเนินการวางแผนการจัดการปัญหาภัยแล้งต่อไป และขอให้เขื่อนที่กักเก็บน้ำทำการปล่อยน้ำออกมาบ้าง และประเทศผู้ใช้น้ำลดการใช้น้ำลงหากระดับน้ำยังลดต่ำอย่างรุนแรงต่อไป ในช่วงที่เหลือของฤดูน้ำหลาก

MRC กล่าวว่า จะพยายามหาวิธีที่ถาวรกว่านี้ เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ร่วมมือกันในการวางแผนบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้งและอุทกภัย แต่ยังกล่าวด้วยว่า วิธีแก้ปัญหา “ต้องอาศัยการทูตว่าด้วยเรื่องน้ำที่ได้ผล”

“การแบ่งปันข้อมูลและสารสนเทศด้วยความโปร่งใสเป็นพื้นฐานสำคัญ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว การขาดข้อมูลเกี่ยวกับการใช้งานโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำในลุ่มน้ำโขง เป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการประเมินและพยากรณ์อย่างละเอียดและถูกต้อง” รายงานนั้นกล่าว

แผนที่โตนเลสาบ ในกัมพูชา ภาพ: เรดิโอ ฟรี เอเชีย
แผนที่โตนเลสาบ ในกัมพูชา ภาพ: เรดิโอ ฟรี เอเชีย

ทุกปีในช่วงต้นฤดูฝนราวเดือนมิถุนายน ขนาดพื้นที่ของโตนเลสาบ ในประเทศกัมพูชา จะขยายขึ้น เนื่องจากปริมาณฝนจำนวนมาก ทำให้น้ำในแม่น้ำโตนเลสาบที่ปกติแล้วจะระบายน้ำออกจากโตนเลสาบ ไหลย้อนกลับเข้าสู่โตนเลสาบ เมื่อสิ้นฤดูมรสุมในเดือนตุลาคม ปกติแล้ว ขนาดพื้นที่โตนเลสาบจะขยายใหญ่ขึ้นถึงสี่เท่า ก่อนที่น้ำในทะเลสาบจะระบายออกไปอีกครั้ง

โตนเลสาบ เป็นทะเลสาบน้ำจืดที่มีความหลากหลายทางชีววิทยามากแห่งหนึ่งของโลก และเป็นแหล่งปลาน้ำจืดที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทะเลสาบแห่งนี้เป็นแหล่งอาศัยของปลา แหล่งน้ำ และปุ๋ย ให้แก่ประชากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ราว 60 ล้านคน

ในปี 2562 น้ำในแม่น้ำโขงอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานานกว่าปกติ ขณะที่บริเวณลำน้ำโขงตอนล่างประสบกับภาวะแล้งจัด ซึ่งภาวะนี้มีต่อเนื่องไปจนถึงปี 2563 และนอกเหนือจากการเปลี่ยนทิศทางการไหลสองครั้งในเดือนกรกฎาคม ซึ่ง MRC เรียกว่ามีปริมาณ “น้อยมาก” โตนเลสาบเพิ่งเริ่มที่จะรับน้ำเข้ามาในปริมาณปกติในช่วงสัปดาห์นี้เอง หลังจากที่พายุโซนร้อนกระหน่ำบางส่วนของภูมิภาคนี้

ระดับน้ำที่ต่ำอย่างรุนแรงในโตนเลสาบ อาจนำมาซึ่งมหันตภัย ไม่เพียงแต่กับกัมพูชาเท่านั้น แต่ยังกับประเทศสมาชิก MRC ทุกประเทศด้วย

“ปริมาณการไหลที่น้อยอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อกัมพูชา ทั้งความสูญเสียด้านการประมงและศักยภาพการชลประทาน ผลผลิตจากการทำนาในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงของเวียดนามอาจลดลง ผลผลิตทางการเกษตรในลาวและไทยก็มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบด้วย” MRC กล่าวในรายงานฉบับนั้น

เขื่อนบนแม่น้ำโขงตอนบน

MRC กล่าวว่า เป็นที่คาดว่าในเดือนสิงหาคมและกันยายน จะมีปริมาณฝนมากกว่าปกติ และระดับน้ำในลุ่มน้ำโขงตอนล่างทั้งหมดกำลังสูงขึ้น และมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นต่อไปตลอดสัปดาห์หน้า

แม้ MRC จะไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า บรรดาเขื่อนที่อยู่บนแม่น้ำโขงส่งผลกระทบมากเพียงใดต่อระดับน้ำที่ต่ำในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง แต่ผลการศึกษาขององค์กรอิสระ ต่างชี้ให้เห็นว่า เขื่อนบนแม่น้ำโขงตอนบนเป็นสาเหตุของปัญหานั้น

เมื่อเดือนเมษายน Eyes on Earth, Inc. และ Global Environmental Satellite Applications, Inc. ได้ออกรายงานร่วมฉบับหนึ่ง โดยอาศัยข้อมูลดาวเทียมตั้งแต่ปี 2535-2562 และข้อมูลมาตรวัดความสูงของแม่น้ำในแต่ละวันจากสถานีเชียงแสน ประเทศไทย ซึ่งพบว่า ความสูงของแม่น้ำที่ 126.44 เมตร (415 ฟุต) ได้ลดลงไปจากที่วัดได้ตรงสถานีเชียงแสนในรอบ 28 ปี

รายงานนี้กล่าวว่า รัฐวิสาหกิจของจีนแห่งหนึ่งได้สร้างเขื่อนหลายแห่งบนแม่น้ำโขงสายหลักในช่วงระยะเวลานั้น

การศึกษานี้พบว่า การที่แม่น้ำโขงตอนล่างขาดน้ำอย่างรุนแรง ในช่วงฤดูฝนของปี 2562 “ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากการจำกัดปริมาณน้ำที่ไหลจากแม่น้ำโขงตอนบนในช่วงเวลานั้น”

รายงานร่วมฉบับนั้นกล่าวว่า “ความร่วมมือระหว่างจีนกับประเทศในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง เพื่อจำลองวัฏจักรให้มีการไหลตามธรรมชาติของแม่น้ำโขง อาจช่วยคลี่คลายภาวะน้ำไหลน้อย ช่วงบริเวณตอนล่างของแม่น้ำโขง ที่เกิดขึ้นระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน 2562 ได้”

รายงานโดย เรดิโอ ฟรี เอเชีย สำนักข่าวร่วมเครือเบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง