ไทยพบผู้ติดเชื้อไวรัสเมอร์สรายแรก ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์การอนามัยโลกเผย
2015.06.19
ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อไวรัสเมอร์ส รายแรก และเป็นรายแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก เป็นชายชาวโอมานวัย 75 ปี เดินทางเข้ามารักษาโรคประจำตัวที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ แต่ตรวจพบเชื้อไวรัสเมอร์ส และถูกนำตัวไปรักษาดูอาการที่สถาบันบำราศนราดูร
ส่วนญาติผู้ป่วยที่เดินทางมาพร้อมกัน ขณะนี้ได้เข้ามาตรการเฝ้าระวัง และอยู่ในห้องกักตัวของสถาบันบำราศนราดูรแล้ว
นายกรัฐมนตรีเตือน ให้ประชาชนอย่าตระหนก แต่ให้เฝ้าระวัง และติดตามคำเตือนทุกระยะ
วันนี้ที่ 19 มิ.ย 2558 ศ.นพ.ชาญวิทย์ ตันติ์พิพัฒน์ รองประธานกรรมการ บมจ.โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้ชี้แจงว่า มีระบบติดตามเฝ้าระวัง และมีมาตรการรองรับสถานการณ์โรคเมอร์สตั้งแต่เมื่อปี 2555
เปิดเผยว่า ขณะนี้ไม่มีผู้ป่วยติดเชื้อโรคไวรัสเมอร์ส และไม่มีผู้อยู่ในข่ายต้องสงสัย ติดเชื้อดังกล่าวอยู่ในโรงพยาบาล หลังจากส่งตัวผู้ป่วยจากไวรัสเมอร์สรายแรก ซึ่งเป็นชาวต่างชาติต่อไปยังสถาบันบำราศนราดูรแล้วตั้งแต่เมื่อวานนี้ และได้กักตัวญาติผู้ป่วยที่มาด้วย ไว้รอดูอาการและติดตามผลอย่างใกล้ชิด
ขณะเดียวกัน ทางโรงพยาบาลได้ตรวจอาการเจ้าหน้าที่แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหมด ที่ได้สัมผัสกับผู้ป่วยรายดังกล่าว โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่ได้ให้การดูแลผู้ป่วยรายแรก โรงพยาบาลอนุญาตให้หยุดงานชั่วคราว และเข้ามาเฝ้าระวังอาการภายในโรงพยาบาล จำนวน 58 คน
เมื่อวานวันที่ 18 มิย. 2558 นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการแถลงข่าว ถึง มาตรการเฝ้าระวังโรค และกระทรวงสาธารณสุขกำลังติดตามตัวผู้สัมผัสโรค และอยู่ในกลุ่มเสี่ยง 59 ราย ซึ่งแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ 1.ญาติผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลเอกชน 2.ผู้ที่เดินทางมาร่วมกันบนเครื่องบินสองแถวหน้า สองแถวหลัง 3.เจ้าหน้าที่ในโรงแรม และ 4.ผู้ขับรถแท็กซี่ ทั้งนี้ประชาชนไม่ต้องกังวล เพราะเมื่อมีอาการผู้ป่วยก็เดินทางไปโรงพยาบาลทันที ในกลุ่มนี้มีทั้งผู้ที่มีความเสี่ยงสูง และความเสี่ยงต่ำ โดยผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำจะให้เฝ้าระวังอยู่ที่บ้าน 14 วัน โดยให้อยู่แต่ภายในบ้าน ส่วนผู้เสี่ยงสูงจะให้เฝ้าระวังอยู่ที่โรงพยาบาล
เชื้อไวรัสเมอร์ส-โควี หรือ เชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ตะวันออก (MERS-CoV : Middle East Respiratory Syndrome – Coronavirus)
เป็นเชื้อไวรัสโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ที่มีลักษณะคล้ายกับ โรคซาร์ส ที่เราเคยรู้จัก แต่มีความรุนแรงมากกว่าปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุที่มาของโรคที่แน่ชัด
อาการค่อนข้างรุนแรง และเฉียบพลัน มีไข้ ไอ หายใจหอบ และหายใจลำบาก อาจมีภาวะปอดบวมแทรก มีอาการในระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย อาเจียน นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายอาจมีภาวะไตวายร่วมด้วย ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจเสียชีวิตจากปอดอักเสบรุนแรง หรือการทำงานของอวัยวะต่างๆล้มเหลว
วิธีป้องกันเบื้องต้น
• หลีกเลี่ยงการไปฟาร์มปศุสัตว์
• ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยไข้หวัดหรือมีอาการปอดบวม
• ล้างมือให้บ่อยขึ้น
• หลังเดินทางกลับจากต่างประเทศ หากมีอาการไข้ และไอ เกิน 2 วัน ขอให้พบแพทย์ในทันที พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง