ศอ.บต.ช่วยเหลือคนไทย 5000 คน ในซาอุฯให้เดินทางกลับบ้านเกิด

มารียัม อัฮหมัด
2018.07.20
ปัตตานี
180720-TH-workers-saudi-1000.jpg คนงานชาวเอเซียโหนห้อยตัวบนเชือก เพื่อทำความสะอาดกระจกผนังนอกอาคารสูง เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2557 ที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดิอาระเบีย
เอเอฟพี

นายธีรุตม์ ศุภวิบูลย์ผล ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานยุติธรรม และรักษาการ ผู้อำนวยการกองกิจการต่างประเทศ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า เมื่อเดือนมีนาคมนี้ คนไทยที่ทำงานอยู่ในประเทศซาอุดิอาระเบีย ประมาณ 5,000 คน ได้แสดงความจำนงค์ขอเดินทางกลับบ้าน เนื่องจากซาอุดิอาระเบียได้ขึ้นค่าธรรมเนียมการอาศัยที่นั่นทุกปี โดยมีผู้ที่ยื่นเรื่องแล้ว 629 คน ซึ่งทางการไทยกำลังประสานการอำนวยความสะดวก

นายธีรุตม์ กล่าวว่า ทาง ศอ.บต. ได้ประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศในการอนุญาตให้เครื่องบินเช่าเหมาลำของการบินไทย ที่บินไปส่งผู้ไปทำพิธีฮัจย์แบบเช่าเหมาลำ สามารถรับคนไทยที่ต้องการเดินทางกลับประเทศ เหล่านั้นได้

“กลุ่มนี้ที่เขาต้องการจะกลับบ้าน เพราะตอนนี้ทางซาอุฯ ได้ขึ้นธรรมเนียมทุกปี อย่างตอนนี้ ต้องจ่ายเดือนละ 1,800 บาท ถือว่าหนักสำหรับพวกเขา” นายธีรุตม์กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“ที่ยื่นเรื่องแล้ว 629 คน ซึ่งศอ.บต.อยู่ระหว่างดำเนินการ ทั้งในเรื่องที่จะใช้เครื่องบินที่ไปส่งผู้แสวงบุญที่ซาอุฯ แล้วขากลับจะกลับเครื่องเปล่าเราคิดว่าน่าจะนำคนไทยที่อยู่ที่นั่น และต้องการกลับบ้านมากับเครื่องบินสายดังกล่าวด้วย” นายธีรุตม์กล่าว

“การที่จะมีคนกลับมาด้วยมันต้องมีค่าใช้จ่าย เราจึงต้องคุยกับการบินไทย และการที่เครื่องบินนำผู้โดยสารลงที่สนามบินในซาอุนั้น ทางซาอุฯ ให้เฉพาะคนที่บินเข้า เราจะคุยกับซาอุฯ ให้เขายอมที่จะให้คนที่จะกลับไปขึ้นเครื่องช่องทางนี้ และยังต้องคุยกับซาอุฯ ด้วยว่า ผู้ที่จะกลับมาไทย จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมทั้งหมด และค่าเดินทาง” นายธีรุตม์กล่าว

"เราแค่อำนวยความสะดวกให้กับชาวบ้านกลุ่มนี้ในการพูดคุยในประเด็นต่างๆ ส่วนค่าใช้จ่ายเขาจะต้องจ่าย ซึ่งเขาก็ดีใจมาก"

ทั้งนี้ คนไทยที่ส่วนใหญ่ทำงานตัดเย็บเสื้อผ้า ได้แจ้งความประสงค์ต่อทางสถานกงสุลไทยในซาอุดิอาระเบีย เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งบางคนมีลูกหลานที่ต้องมีการพิสูจน์สัญชาติด้วยก่อน

ประเทศไทยและซาอุดิอาระเบียเริ่มความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ ในปี พ.ศ. 2500 ซาอุดิอาระเบียเคยเป็นตลาดแรงงานที่สำคัญของแรงงานไทยในอดีต ตราบจนเกิดเหตุ นายเกรียงไกร เตชะโม่ง แรงงานไทยที่ทำงานในกรุงริยาด ซาอุดิอาระเบียในขณะนั้น ได้ขโมยเพชรบลูไดมอนด์ (เพชรสีน้ำเงิน) และอัญมณีมีค่าจากพระราชวังของเจ้าชายไฟซาลในปี 2532 หากไม่มีการประกาศเป็นทางการชัดเจนว่า เรื่องนี้เป็นสาเหตุทำให้ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างทั้งสองประเทศแย่ลงเป็นลำดับ ในปัจจุบัน คงความสัมพันธ์ไว้ที่ระดับอุปทูต

แอลเอไทม์ หนังสือพิมพ์มีชื่อของสหรัฐฯ ได้ตีพิมพ์เมื่อปี 2553 โดยอ้างว่า เชื่อกันว่าคดีโจรกรรม เครื่องประดับและอัญมณีที่มีมูลค่าหลายพันล้านเหรียญสหรัฐนี้ ส่งผลให้แรงงานไทยมากมายสูญเสียโอกาสในการขายแรงงานในซาอุดิอาระเบีย ซึ่งก่อนหน้าการเกิดเรื่องเพชรสีน้ำเงิน มีแรงงานไทยประมาณ 300,000 คน ทำงานในซาอุดิอาระเบีย ปัจจุบันมีแรงงานไทยเพียง 15,000 คน ทำงานที่นั่นเท่านั้น

นางรอกายะ สาเมาะ อายุ 56 ปี ชาวจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ตนเองเคยอยู่ที่นั่น มา 40 กว่าปี โดยได้แต่งนานกับสามีชาวซาอุฯ แต่เพิ่งกลับมาปัตตานีได้ 2 ปี เพราะจ่ายค่าธรรมเนียมไม่ไหว

“เขาขึ้นทุกปี ตอนนี้เห็นว่าเกือบ 2 พันบาทแล้ว จากสมัยก่อนไม่กี่ร้อยบาทเอง เขาทำแบบนั้น เพราะไม่อยากให้คนยาวี (คนไทย) เราอยู่ที่นั้น แต่คนไทยเราอยากอยู่ เพราะที่นั้นเป็นเมืองฮาลาล ถ้าหากพอจะทำงานได้บ้าง คนที่อยู่ที่นั้น เขาก็เลือกที่จะอยู่" นางรอกายะ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“ครอบครัวพี่ๆ ไปตั้งแต่เล็ก แต่งงานกับคนที่นั่น ได้ลูก 5 คน พอเราจะกลับก็พาลูกมาไม่ได้ เพราะเขาไม่มีเอกสารอะไรเลยที่จะเข้ามาเมืองไทย” นางรอกายะ กล่าว

"คนยาวีเราอยู่กันแน่น เป็นจุดๆ เวลาคนบ้านเราไป เขาก็จะรู้เลยว่าย่านไหนมีคนบ้านเราอยู่ อาหารการกินความเป็นอยู่ก็จะเหมือนบ้านเราหมด ช่วงเดือนปกติทำงานเย็บผ้าหรืองานในบ้านเท่านั้น เขาจะอยู่กันหลบๆ จะมีอิสระช่วงเดือนฮัจย์"

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง