ทหารแจงคุมตัวนักสิทธิฯและพวก เหตุเอี่ยวสังหารบุคคลอื่นในชายแดนใต้
2018.08.03
ปัตตานี

ในวันศุกร์นี้ พันเอกธนาวีร์ สุวรรณรัตน์ รองโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้ชี้แจงกรณีการเผยแพร่ข้อมูลทางโซเชียลมีเดียว่า ทหารพรานอ้างกฎหมายพิเศษบุกอุ้มนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ไปโดยไม่ทราบชะตากรรมว่า เจ้าหน้าที่ได้จับกุมและควบคุมบุคคลต้องสงสัยรวม 5 ราย เพราะมีข้อมูลในชั้นต้นว่าเกี่ยวข้องกับการยิงผู้อื่นถึงแก่ชีวิตและได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ทราบแล้ว ในขณะที่ฝ่ายนักสิทธิมนุษยชน กล่าวว่าเจ้าหน้าที่ว่าใช้อำนาจโดยอำเภอใจ
ในเรื่องนี้ พันเอกธนาวีร์ ชี้แจงว่า หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 44 ร่วมกับตำรวจ สภ.สายบุรี สนธิกำลังใช้อำนาจ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 ตรวจหาบุคคลเป้าหมายจริง เพราะมีพยานบุคคลชี้มูลว่าบุคคลทั้งห้า ซึ่งสี่รายอยู่ในอำเภอสายบุรี และอีกหนึ่งรายอยู่ในอำเภอไม้แก่น มีส่วนเกี่ยวข้องกับการยิงนายอดุลย์ ชิมา คอเตป ประจำมัสยิดโคกนิบง ต.ไทรทอง อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี เสียชีวิต เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 รวมทั้งการลอบยิงเจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวงเสียชีวิต เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2556 อีกด้วย
"เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2561 เวลา 04.45 น. หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 44 ร่วมกับตำรวจ สภ.สายบุรี สนธิกำลังบังคับใช้กฎหมายโดยอาศัยอำนาจ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 ตรวจค้นบุคคลเป้าหมาย สืบเนื่องจากการซักถามบุคคลที่ถูกควบคุมตัวก่อนหน้านี้ และจากแหล่งข่าวภาคประชาชนว่า มีบุคคลต้องสงสัยอยู่ในพื้นที่ตำบลเตราะบอน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี สามารถควบคุมตัวบุคคลตามเป้าหมายจำนวน 4 ราย" พันเอกธนาวีร์ กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว
พันเอกธนาวีร์ กล่าวว่า รายที่ห้า คือ นายฟัตฮีย์ อาลี นั้น หน่วยเฉพาะกิจทหารพรานนาวิกโยธิน กองทัพเรือ ได้สืบทราบว่ามีส่วนร่วมในการก่อเหตุเช่นกัน เจ้าหน้าที่ได้เดินทางไปพบที่บ้านพักที่บ้านชะเมาสามต้น อำเภอไม้แก่น แต่ไม่พบ จึงได้ขอความร่วมมือจากบิดาของนายฟัตฮีย์ ให้แจ้งให้เจ้าตัวมาพบเจ้าหน้าที่โดยสมัครใจโดยเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันพุธที่ผ่านมา
ผู้ต้องสงสัยสี่คนแรก ได้แก่ นายอาหามัดพิครี เจะมะ อายุ 34 ปี นายบูรฮาน บือราเฮง อายุ 33 ปี นายนูรอัฮมัดฟารีส สาและ อายุ 28 ปี และนายรอมฎอน มะรือสะเต อายุ 32 ปี ถูกควบคุมตัวที่ศูนย์ซักถาม ในค่ายอิงยุทธบริหาร ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ส่วนนายฟัตฮีย์ ได้เชิญตัวไปให้ข้อมูลที่หน่วยซักถาม ในค่ายจุฬาภรณ์ จ.นราธิวาส เพื่อดำเนินการซักถามตามกระบวนการซักถาม เพื่อการทำสำนวน
ก่อนหน้าการชี้แจงของเจ้าหน้าที่ทหารในวันนี้ พันเอกธนาวีร์ กล่าวว่า ได้มีการเผยแพร่ข้อความ“ทหารพรานบุกอุ้มนักสิทธิ อ้างกฎหมายพิเศษ” โดยระบุว่า เมื่อ 1 สิงหาคม 2561 ได้มีทหารพรานไม่ทราบสังกัด เข้าทำการปิดล้อมที่พักและจับกุมตัวประชาชนในพื้นที่จังหวัดปัตตานี 5 ราย อยู่ในอำเภอสายบุรี 4 ราย และอำเภอไม้แก่น 1 ราย เจ้าหน้าที่อ้างว่าใช้กฎหมายพิเศษในการควบคุมตัว โดยไม่มีการแจ้งเหตุผลและข้อกล่าวหาให้ทราบ ในจำนวนผู้ที่ถูกควบคุมตัว 2 ราย อ้างว่าทำงานอยู่ที่องค์กรเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ (Jaringan Mansa Dari Undang-Undang Arurat – JASAD)
ด้านเฟสบุ๊กของเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ ได้แสดงข้อความว่า นายบูรฮาน บือราเฮง หนึ่งในสมาชิกเครือข่าย ถูกควบคุมตัวไปเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม โดยไม่ทราบชะตากรรม
พันเอกธนาวีร์ กล่าวว่า การเข้าควบคุมตัวเป้าหมายทั้งหมด 5 ราย เป็นไปตามขั้นตอนการปฏิบัติตามกรอบของ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 และได้ชี้แจงข้อกล่าวหา ขั้นตอน ระยะเวลาควบคุมตัวให้บุคคลเป้าหมาย ตลอดจนญาติพี่น้องได้รับทราบและเข้าใจแล้ว ในขั้นต้นทั้ง 5 ราย ให้การปฏิเสธ โดยขั้นตอนที่อยู่ ณ หน่วยซักถาม จะมีการตรวจร่างกาย และญาติพี่น้องสามารถเข้าเยี่ยมได้ตามเวลาที่กำหนด ได้รับการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด
“ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม โดยอัยการ และศาลเป็นผู้พิจารณา” พันเอกธนาวีร์กล่าว
ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย กล่าวว่า เจ้าหน้าที่สามารถใช้อำนาจกฎอัยการศึกจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยได้ทันทีและควบคุมตัวเพื่อการสอบสวนได้ 7 วัน หากต้องการควบคุมตัวต่อไปต้องขออำนาจศาล
ด้าน น.ส.อัญชนา หีมมิหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ ซึ่งเป็นเพื่อนกับนายบูรฮาน กล่าวว่า คำชี้แจงของทางทหารไม่ได้ตอบข้อสงสัยในการจับกุมและควบคุมตัว และเป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจ
"ไม่ได้ตอบข้อสงสัย และเป็นการใช้กฏอัยการศึกแบบตามอำเภอใจ โดยไม่คำนึงผลกระทบต่อผู้อื่น ญาติได้เยี่ยมเพียง 5 นาที" น.ส.อัญชนา หีมมิหน๊ะ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
“และหลังจากที่มีข่าว ทำให้เขาถูกกดดันจากทหารในการสอบสวน สิ่งที่เราต้องการทราบคือ ข้อกล่าวหา เพื่อเราจะได้หาหลักฐานในการพิสูจน์ความบริสุทธ์ให้กับเขา เพราะเขากำลังเรียนช่วงเสาร์อาทิตย์และทำงานจันทร์ถึงศุกร์” น.ส.อัญชนา กล่าวเพิ่มเติม
น.ส.อัญชนา กล่าวว่า ตนรู้จักบูรฮาน เมื่อปี 2556 ซึ่งนายบูรฮาน เคยถูกควบคุมตัวและมีการซ้อมทรมาน เมื่อ ปี 2559 บูรฮาน ได้เข้าร่วมกระบวนการเยียวยาทางด้านจิตใจของเราผ่านโปรแกรม Movement Therapy บูรฮานร่าเริงแจ่มใสมากขึ้น จนในปี 2560 จึงได้เข้าร่วมโปรแกรมอย่างต่อเนื่องกับเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ และให้คำปรึกษาแก่ผู้อื่นเป็นรายบุคคล