ผู้เชี่ยวชาญศาสนา : การห้ามพระ-เณรชุมนุมจะทำลายความชอบธรรมของเถรสมาคม

คุณวุฒิ บุญฤกษ์
2020.11.12
กรุงเทพฯ
201112-TH-monks-protests-1000.jpg พระสงฆ์จำนวนหนึ่ง ขณะร่วมในระหว่างการชุมนุม เพื่อเรียกร้องขับไล่นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ในกรุงเทพฯ วันที่ 8 พฤศจิกายน 2563
รอยเตอร์

หลังจากที่ มหาเถรสมาคม (มส.) มีมติเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ห้ามพระภิกษุ สามเณร ยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมือง โดยหากฝ่าฝืน มส. อาจลงโทษทางวินัยนั้น ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์-วิจารณ์บนอินเทอร์เน็ต โดยผู้เชี่ยวชาญทางศาสนาชี้ มติดังกล่าวอาจทำลายความชอบธรรมของมหาเถรสมาคมเอง ด้านพระภิกษุชี้ ไม่มีพระธรรมวินัยห้ามพระสงฆ์ออกมาชุมนุม หรือดูความทุกข์ของประชาชน

ในวันพุธที่ 11 พฤศจิกายน 2563 นายณรงค์ ทรงอารมณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวว่า มหาเถรสมาคม (มส.) มีมติเร่งด่วนให้ทำหนังสือแจ้งไปยังวัดทั่วประเทศ ห้ามพระภิกษุ สามเณร ยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมือง หากฝ่าฝืนคำสั่งหรือมติ มส.ให้เจ้าคณะปกครองดำเนินการทันที ต่อคำสั่งดังกล่าว ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์-วิจารณ์ ในหลากหลายทิศทางบนโลกอินเทอร์เน็ต โดย มส.มีมติ 4 ข้อดังนี้

1. ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แจ้งเจ้าคณะผู้ปกครองดำเนินการกับพระภิกษุและสามเณรที่เข้าข่ายฝ่าฝืนคำสั่ง เรื่อง ห้ามพระภิกษุสามเณรเกี่ยวข้องกับการเมือง พ.ศ. 2538 2. มีมติมอบถวายสมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร ซึ่งเป็นประธานกรรมการฝ่ายการปกครองสงฆ์ ให้วางแนวทางการป้องกันการชุมนุมของพระภิกษุและสามเณร เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาในระยะยาว

3. มีมติให้นำรายชื่อผู้ฝ่าฝืนของพระภิกษุและสามเณรส่งให้เจ้าคณะผู้ปกครอง เพื่อพิจารณาทางพระธรรมวินัยต่อไป และ 4. ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แจ้งประสานหน่วยงานที่มีหน้าที่ทางกฎหมายตรวจสอบสถานะพระที่เข้าร่วมชุมนุมทุกรูป เพื่อป้องกันพระปลอมเข้าร่วมชุมนุม เพราะจะทำให้ศาสนาเกิดความเสียหาย

ต่อมติ มส. ดังกล่าว นายเจษฎา บัวบาล นักศึกษาปริญญาเอก สถาบันศาสนศึกษาอินโดนีเซีย (Indonesian Consortium for Religious Studies) มหาวิทยาลัยกัดจาห์ มาดา ประเทศอินโดนีเซีย กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า มติ มส. เป็นการสื่อสารโดยตรงไปยังพระภิกษุ-สามเณรที่ออกมาร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐบาลในปัจจุบัน แต่เป็นเพียงการขู่เท่านั้น และเชื่อว่าจะไม่ส่งผลในทางปฏิบัติแต่อย่างใด

“วิธีการของมหาเถรในครั้งนี้ แทบจะไม่ต่างกับทุก ๆ ครั้งที่เมื่อเวลาเกิดเหตุการณ์สำคัญ ๆ ทางศาสนา ทางมหาเถรก็จะประชุมกัน เพื่อหามติและใช้อำนาจสั่งการมายังพระภิกษุในศาสนา หากมองในแง่นี้จึงแทบไม่ต่างกับการเคลื่อนไหวของสำนักจุฬาราชมนตรี ทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อการรักษาอำนาจ ในฐานะที่เป็นองค์กรทางศาสนาที่อิงกับรัฐไทย” นายเจษฎา กล่าวผ่านโทรศัพท์

นายเจษฎา ระบุว่า หากเกิดการลงโทษทางธรรมวินัยต่อพระเณรที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมืองในปัจจุบัน จะยิ่งเป็นการทำลายความชอบธรรมของมหาเถรสมาคมเอง เพราะพระเณรเหล่านั้นอยู่ในกระแสสังคม และมีผู้ติดตามจำนวนมากพอสมควร หากใช้มาตรฐานการลงโทษในลักษณะนี้ จะเกิดคำถามตามมาอีกมากมายต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองของพระและเณร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สิ่งที่คิดว่ามหาเถรทำได้มากที่สุดนั่นคือ เพียงแค่เข้าไปตรวจสอบในการชุมนุมว่า มีพระภิกษุ และสามเณร ปลอมแฝงตัวมาหรือไม่

มติของ มส. ล่าสุดนั้น สืบเนื่องจาก มีการชุมนุมของประชาชนและเยาวชนที่เห็นต่างจากรัฐบาลในนามคณะ “ราษฎร” เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือนกลางกรกฎาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน โดยการชุมนุมหลายครั้งพบเห็น พระภิกษุ-สามเณร ร่วมชุมนุม รวมถึงมีข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการปฏิรูปศาสนา เช่น เรียกร้องให้ พระภิกษุ-สามเณร สามารถบวชได้โดยไม่ต้องโกนคิ้ว โดยการร่วมเคลื่อนไหวของพระภิกษุและสามเณร ทำให้เกิดการวิพากษ์-วิจารณ์ ทั้งในการสนับสนุน และที่ไม่เห็นด้วย

ต่อการชุมนุมของพระภิกษุ-สามเณร นายณรงค์ ระบุว่า พศ. และ มส. ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น โดยหลังจากพบภาพพระภิกษุ-สามเณรเข้าร่วมการชุมนุม มส. ได้ส่งหนังสือไปยังเจ้าคณะผู้ปกครองแล้วประมาณ 2-3 ครั้ง เพื่อให้วัดดูแลปกครองไม่ให้พระภิกษุ-สามเณรเข้าร่วมชุมนุม แต่ยังมีพระภิกษุ-สามเณร เข้าร่วมการชุมนุมอยู่ จึงต้องมีการออกมติ มส. เพื่อความชัดเจน

ด้าน พระวีระพจน์ ชาครธมฺโม พระภิกษุจากวัดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เปิดเผยกับเบนานิวส์ว่า ไม่เห็นด้วยกับมติ มส. ดังกล่าว โดยถือว่า มติ มส. เป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ แต่เข้าใจได้ว่าเพราะ มส. เป็นองค์กรที่อยู่ภายใต้อำนาจรัฐ จึงจำเป็นต้องแสดงท่าทีดังกล่าวที่จะสามารถเอื้อประโยชน์กับรัฐให้ได้มากที่สุด

“มหาเถรสมาคมคุ้นชินกับการใช้อำนาจมาโดยตลอด แต่กลับไม่เข้าใจเลยว่า พระหรือเณรเองก็มีสิทธิ์ที่จะแสดงความคิดเห็น การเคลื่อนไหวของพระและเณรไม่ผิดธรรมวินัย ไม่เคยมีข้อห้ามไหนที่ห้ามพระสงฆ์ออกมาดูความทุกข์ยากของประชาชน” พระวีระพจน์ กล่าวผ่านโทรศัพท์

“ที่ผ่านมาพระและเณรมากมายไม่มีพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นเลยแม้แต่น้อย เนื่องจากพระราชบัญญัติคณะสงฆ์แทบจะทุกฉบับที่เคยมีมา ไม่ได้เปิดพื้นที่ให้พระแสดงความเห็นเลย ด้วยเหตุนี้พอมีม็อบ มีการชุมนุมในปัจจุบัน คิดว่าพระจำนวนไม่น้อยที่สบโอกาสออกมาเรียกร้อง และพูดในสิ่งที่ตนเองต้องการบอกกับสังคม” พระวีระพจน์ กล่าวเพิ่มเติม

ก่อนหน้านี้ ชาวไทยมุสลิมเคยแสดงความไม่เห็นด้วยกับกรณีที่สำนักจุฬาราชมนตรีจัดงาน “รวมพลังมุสลิม ปกป้องสถาบัน ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ในวันอังคารที่ 10 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา โดยชี้ว่า สำนักจุฬาราชมนตรีควรวางตัวเป็นกลาง และไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง