ผวจ.ขอนแก่น: การจดทะเบียนมัสยิดในพื้นที่ ไม่ผ่านประชามติชุมชน

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และมารียัม อัฮหมัด
2019.11.26
กรุงเทพฯ และปัตตานี
191126-TH-mosque-resist-650.jpg ชาวมุสลิมขณะละหมาด ในมัสยิดอีบาดุรเราะห์มาน ในบ้านเลิงเปือย ตำบลพระลับ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น วันที่ 20 ก.ย. 2562
ภาพจากเพจมัสยิด อิบาดิรเราะห์มาน ขอนแก่น

ในวันนี้ นายสมศักดิ์ จังตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า จะยังไม่มีการขออนุญาตจดทะเบียนจัดตั้งมัสยิดในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เนื่องจากไม่ผ่านประชามติของคนพื้นที่ ท่ามกลางการประท้วงของกลุ่มบุคคลในนาม องค์กรปกป้องพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพ ที่เกรงว่า มัสยิดจะถูกใช้เป็นที่แพร่เชื้อร้ายของมุสลิมหัวรุนแรงจากตะวันออกกลาง และมุสลิมมลายูจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ทั้งนี้ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมานี้ ชาวบ้านในตำบลพระลับ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ส่วนใหญ่ได้ลงมติไม่เห็นด้วยต่อการจดทะเบียนมัสยิด มัสยิดอีบาดุรเราะห์มาน ในบ้านเลิงเปือย ตำบลพระลับ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

“เมื่อวันอาทิตย์มีการลงคะแนนกันเรื่องการก่อสร้าง (จดทะเบียนจัดตั้ง) มัสยิดในเขตอำเภอเมืองขอนแก่น มีผู้ที่ไม่เห็นด้วยให้สร้าง 528 ราย ที่เห็นด้วยว่าจะให้มีการสร้าง 6 ราย ก็คงเป็นไปตามนี้ การสร้าง (จดทะเบียนจัดตั้ง) มัสยิดก็คงยังไม่เกิดขึ้น เพราะต้องเคารพความเห็นที่ได้ลงคะแนนกัน” นายสมศักดิ์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“ปัจจุบัน ยังไม่พบข้อขัดแย้ง ตอนสอบถามก็ไม่มีอะไร ที่ทางจังหวัดห่วงคือ เรื่องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ให้เป็นไปด้วยความสงบ และให้ทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นให้สังคมอยู่ด้วยกันได้ด้วยดี ได้แสดงออกและเป็นไปด้วยความเข้าใจกัน ก็ไม่มีอะไรกัน” นายสมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติม

ด้าน พ.ต.ท.สมหวัง เนตรทิพยานนท์ ประธานอิสลามจังหวัดขอนแก่น กล่าวชี้แจงว่า ตามข้อเท็จจริงแล้ว มัสยิดแห่งนี้ เป็นที่ที่ชาวมุสลิมคนหนี่งให้ใช้ประกอบพิธีทางศาสนา มาตั้งแต่ปี 2517 ซึ่งตนต้องการจดทะเบียนให้ถูกกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. อิสลาม 2540 เพื่อปรับบ้านเก่าให้เป็นมัสยิดเต็มรูปแบบ

“ชาวบ้านแถวนั้น เขาก็ไม่มีปัญหาอะไร ก็อยู่ด้วยกันมาตลอด ทีนี้จะดำเนินการเป็นตาม พ.ร.บ. อิสลาม 40 เพื่อจดทะเบียนให้ถูกกฎหมาย ปรับบ้านเก่าให้เป็นมัสยิด แต่สุดท้ายมีหนังสือร้องเรียนไม่ให้จดทะเบียน จนกระทั่งมีประชาคม ถ้ามีประชาคมมันก็สร้างไม่ได้” พ.ต.ท.สมหวัง กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“เรื่องความกลัวความไม่สงบ จะเปรียบเทียบภาคใต้กับขอนแก่นได้ยังไง เราก็ยอมรับว่า ความจริงมันเกิดขึ้นทางโน้น แต่จะมาเทียบความจริงกับอีสานมันไม่ได้ ถ้าจะเกิดจริง กอ.รมน. เขาก็ล็อคหมดแล้ว เขาก็มาหาข่าวอยู่” พ.ต.ท.สมหวังกล่าว และระบุว่า "มีมัสยิดที่จดทะเบียนในจังหวัดอยู่ก่อนแล้ว 6 แห่ง"

ทั้งนี้ กรมการปกครองชี้แจงทางเวบไซต์ว่า มัสยิดเป็นศาสนสถานในศาสนาอิสลาม เช่นเดียวกับวัดในพระพุทธศาสนา หรือโบสถ์ในศาสนาคริสต์ ซึ่งสร้างขึ้นตามศรัทธาของศาสนิกชนที่นับถือศาสนานั้นๆ โดยกฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องจดทะเบียนกับทางราชการทุกแห่ง แต่หากประสงค์จะจดทะเบียนให้เป็นนิติบุคคลเพื่อจะถือครองกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน ก็ต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยมัสยิด ก็ต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540

เวบไซต์กรมการปกครองระบุว่า ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีมัสยิดที่จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 จำนวน 3,965 แห่ง ซึ่งจากการจัดเก็บสถิติย้อนหลัง 6 ปี (พ.ศ. 2555-2560) พบว่า มีมัสยิดขอจดทะเบียนเพิ่มขึ้นประมาณปีละ 32 แห่ง ซึ่งสร้างขึ้นตามศรัทธาของชาวไทยมุสลิม มิใช่การสนับสนุนของรัฐบาลชุดปัจจุบันแต่อย่างใด

องค์กรเคลื่อนไหวชาวพุทธประท้วงการขยายมัสยิดทั่วไทย

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา องค์กรปกป้องพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพ รวมทั้งตัวแทนจากสามจังหวัดชายแดนใต้ ประมาณยี่สิบคน ได้เดินทางไปติดตามการลงประชามติในขอนแก่น และได้เผยแพร่คลิปทางยูทูบเพื่อต่อต้านการสร้างมัสยิดทั่วประเทศ

“ขอเถอะครับ ถ้าสถานการณ์ในภาคใต้ไม่สงบ ของดสร้างมัสยิดทั่วประเทศเลยครับ” นายพงศ์พันธุ์ จันทร์เล็ก ประธานสมาพันธ์ไทยพุทธจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวในคลิปที่มีความยาวกว่าสามนาทีครึ่ง และมีผู้เข้าชมกว่า 30,000 คน ขณะรายงาน

ด้านนายอัยย์ เพชรทอง เลขาธิการ อปพส. กล่าวว่า ทางกลุ่มออกมาเคลื่อนไหวเพราะต้องการต่อต้านลัทธิอิสลามจากตะวันออกกลาง และอิสลามสายมลายูที่ไม่ได้มองไทยเป็นประเทศแม่ แต่ตนเองยอมรับมุสลิมที่รักสันติโดยแท้จริง

“ทาง อปพส. ต่อต้านลัทธิอิสลามจากตะวันออกกลาง เพราะพวกนี้มองคนไทยว่าเป็นคนอื่น แล้วก็รวมทั้งอิสลามสายมลายูที่ไม่ได้มองไทยเป็นประเทศแม่ แต่มองไทยเป็นผุ้รุกรานรัฐปัตตานี แล้วปลูกฝังเยาวชนผ่านปอเนาะ อยากเปลี่ยนไทยให้เป็นรัฐอิสลาม อยากจะแยกประเทศ อีกทางหนึ่งก็ให้การสนับสนุนทางสามจังหวัด ให้เดินทางนำต่างด้าวเข้ามาขยายมัสยิดทั่วภาคเหนือและภาคอีสาน” นายอัยย์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“ทางใต้ ก็มีวางระเบิด มีการใช้ทุกวิถีทางเพื่อให้คนเปลี่ยนศาสนา มัสยิดจะกลายเป็นแหล่งเผยแพร่เชื้อร้าย เราไม่มีทางอื่น เราเลยต้องหยุดการสร้างมัสยิด” นายอัยย์ กล่าวเพิ่มเติม และระบุว่า ตนเองยอมรับมุสลิมที่เผยแผ่ศาสนาแบบธรรมชาติ เหมือนคนคริสต์

ข่าวกระพือความขัดแย้ง

หลังมีการปล่อยคลิปดังกล่าว เมื่อวานนี้ พระสิริจริยาลังการ เจ้าคณะจังหวัดปัตตานี เจ้าอาวาสวัดตานีนรสโมสร พระอารามหลวง ได้ออกแถลงการณ์ให้พระภิกษุสามเณร ระมัดระวังในการรับข่าวสาร งดแชร์ หรือแสดงความคิดเห็น ต่อข่าวสารที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ โดยระบุว่า สถานการณ์ความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเวลา 15 ปีที่ผ่านมา สร้างความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินอย่างมากมาย ทั้งสร้างความหวาดระแวง ความไม่ไว้วางใจกันในกลุ่มประชาชนในพื้นที่อย่างมากแล้ว

นอกจากเรื่องความขัดแย้งในการขยายมัสยิดแล้ว ในช่วงสัปดาห์นี้ ยังมีการกระพือข่าวโคมลอยทางโซเชียลมีเดีย ว่า มีความพยายามของชาวเชื้อสายมุสลิมในการเพิ่มจำนวนผู้นับถือศาสนาอิสลาม เช่น การออกข่าวโคมลอยระบุว่า หากนักศึกษาคนใดที่กู้เงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยผ่านทางธนาคารอิสลามแล้ว ขอเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม ก็จะได้รับการยกหนี้ให้

ในวันนี้ นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ได้ชี้แจงผ่านสื่อมวลชนว่า ข่าวลือดังกล่าวไม่เป็นความจริง

“สำหรับกรณีที่มีการกล่าวว่า หากมีการเปลี่ยนศาสนาจะได้รับการยกหนี้นั้น กองทุนขอยืนยันว่า ไม่มีข้อกำหนดในเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และอาจจะทำให้ประชาชนทั่วไปเกิดความสับสน ทางกองทุนจึงเรียนมาเพื่อให้ประชาชนทราบโดยทั่วกัน” นายชัยณรงค์ กล่าวในเอกสารชี้แจง

ทั้งนี้ ธนาคารกรุงไทย เป็นผู้บริหารกองทุน กยศ. มาตั้งแต่ปี 2539 และธนาคารอิสลามเข้าร่วมด้วยในปี 2553 ปัจจุบัน มีจำนวนผู้กู้ 5.7 ล้านคน โดยปล่อยกู้ผ่านทางธนาคารกรุงไทย 97 เปอร์เซ็นต์ และผ่านทางธนาคารอิสลาม 3 เปอร์เซ็นต์ นายชัยณรงค์ กล่าว

ด้าน นายซากีย์ พิทักษ์คุมพล ซึ่งมีตำแหน่งสามตำแหน่งคือ สมาชิกวุฒิสภา เลขานุการจุฬาราชมนตรี และกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคหวาดกลัวอิสลาม ที่เคยเกิดขึ้นในอเมริกาและยุโรป ไม่ได้มีข้อยกเว้นในสังคมไทย

“ประเทศไทยเป็นประเทศที่ให้สิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนาตลอดมา แล้วก็มุสลิมทุกคนเองก็มีความรู้สึกว่าเป็นพลเมืองไทย เราไม่ได้เป็นคนที่ไปทำให้สังคมไทยมีความแตกแยก จริงแล้วองค์กรหลาย ๆ องค์กรของศาสนาอิสลาม ไม่ว่าจะเป็นสำนักจุฬาราชมนตรีเอง คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ก็พยายามอย่างยิ่งที่จะปกปักรักษาความเป็นพหุวัฒนธรรมของสังคมไทยให้เกิดขึ้น แล้วก็พยายามไม่ให้มีความคิดสุดโต่งในฝั่งมุสลิม มันกลายเป็นปัญหา มันกลายเป็นประเด็นที่จะทำให้เกิดความแตกแยกในทางสังคม” นายซากีย์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ในวันนี้

“ผมคิดว่าคนที่ให้ข่าว เป็นกลุ่มที่ไม่น่าจะมีความปรารถนาดีต่อสังคมไทย เพราะว่าจริงแล้วสังคมไทยมันไม่ได้มีอะไรในลักษณะทำนองนี้แล้ว ผลที่ตามมาของมันทำให้เกิดความรู้สึกที่แปลกแยกมากขึ้น จริงๆ อยากให้รัฐบาลได้เข้ามาเอาใจใส่เรื่องนี้มากยิ่งขึ้น เพราะว่ามันส่งผลเสียต่อรัฐบาลด้วย” นายซากีย์ กล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง